ปฏิสนธิจิตเป็นอุเบกขาสันติรณอกุศลวิบากเหมือนกันแต่ทำไมต่างกัน


        อ.กุลวิไล ก่อนที่เราจะทบทวนในส่วนของวิถีจิต ดิฉันอยากให้คุณวิชัยให้ความเข้าใจจิตที่ทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ เพราะเมื่อกี้เราได้สนทนากันมาบ้างแล้ว และอาจจะมีผู้สนใจว่า มีจิตใดบ้างที่ทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติ

        อ.วิชัย ปฏิสนธิก็คือการสืบต่อจากจุติจิตชาติที่แล้ว ปฏิสนธิมี ๒๐ ปฏิสนธิ ถ้าปฏิสนธิจิตจะมี ๑๙ และมีรูปปฏิสนธิอีกสำหรับผู้ที่ปฏิสนธิในอสัญญสัตตาภูมิ

        ปฏิสนธิจิตเป็นชาติวิบาก เป็นผลของกุศล และอกุศล ถ้าปฏิสนธิจิตที่เป็นผลของอกุศล มีจิตประเภทเดียวที่ทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ ก็คือ สันตีรณอกุศลวิบาก เป็นอเหตุกจิต ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรมที่กระทำไว้แล้ว

        สำหรับผลของกุศลที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ก็มีหลากหลายแตกต่างกันออกไปตามกุศลกรรมที่กระทำไว้แล้ว ถ้าเป็นกุศลขั้นกามาวจระ ที่เป็นในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอยู่ ก็ยังปฏิสนธิในกามภูมิ เช่น มหากุศลจิต ๘ ประเภท ที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็มี ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็มี มีเวทนาเป็นโสมนัสก็มี เป็นอุเบกขาก็มี เป็นอสังขาริกก็มี ที่เป็นสสังขาริกก็มี จิตที่เป็นกุศลจิตที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป เมื่อให้ผลนำปฏิสนธิ ปฏิสนธินั้นก็ต่างตามกุศลที่กระทำไว้แล้ว ก็มีหลากหลาย สำหรับมหาวิบากสำหรับบุคคลที่ไม่บ้าใบ้บอดหนวกแต่กำเนิด ก็ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากที่เป็นปฏิสนธิในกามภูมิ ก็คือในมนุษย์หรือในสวรรค์

        สำหรับบุคคลที่ปฏิสนธิด้วยกุศลกรรมอย่างอ่อน และมีอกุศลมาเบียดเบียนด้วย ก็ยังให้เป็นอเหตุกปฏิสนธิ คือ ปฏิสนธิด้วยสันตีรณกุศลวิบาก ซึ่งปฏิสนธิในมนุษย์หรือในสวรรค์ชั้นต้น ทำให้พิการแต่กำเนิด

        อันนี้สำหรับบุคคลที่ปฏิสนธิในกามภูมิ เพราะเจริญกุศลขั้นกามาวจรกุศล แต่สำหรับบุคคลที่บรรลุฌาน ก็ปฏิสนธิตามฌานที่ได้นั้นๆ ถ้าฌานนั้นยังไม่เสื่อมก่อนจุติ ก็ยังไม่กล่าวถึง เพราะเป็นขั้นที่สูงขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นรูปาวจรกุศล หรืออรูปาวจรกุศล ถ้าฌานนั้นไม่เสื่อมก่อนจุติก็ยังปฏิสนธิในภูมินั้นๆ ตามลำดับขั้นของฌานนั้นๆ

        ผู้ฟัง อกุศลวิบากที่ทำกิจปฏิสนธิ แล้วทำไมทำให้แต่ละชีวิตมีความต่างกัน ในเมื่อเป็นจิตที่ทำกิจปฏิสนธิดวงเดียวกัน

        สุ. ทุกคนขณะนี้ ต่างกันหรือเหมือนกัน

        ผู้ฟัง ต่างกัน แต่ในความเป็นมนุษย์ก็ยังมีจิตที่ทำกิจปฏิสนธิหลายดวง แต่จริงๆ อกุศลทำกิจปฏิสนธิ ๑ ดวงเท่านั้น แต่เห็นชัดถึงความต่างกันค่ะ

        สุ. จริงๆ แล้วเวลาที่เราจะพูดถึงปฏิสนธิ เราอยากจะรู้ชื่อ ว่าจิตไหน และเราก็ไปจำแค่ชื่อ แต่ถ้าเราจะรู้ด้วยความเข้าใจว่า กุศลกรรมที่ทำแล้ว ก็จะเป็นผลที่ทำให้มีผลเป็นปัจจัยทำให้กุศลวิบากเกิด และอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว แม้จะนานสักเท่าไรก็ตาม ก็ยังสามารถเป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากเกิด ความสามารถ ความเข้าใจของเราที่จะเข้าใจตรงนี้ โดยไม่ต้องไปจำชื่อจิตที่ทำให้ปฏิสนธิได้ไหม มีความมั่นคงไหมว่า อกุศลกรรมเป็นปัจจัยทำให้อกุศลวิบากเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจะทำกิจอะไร แต่เมื่อเป็นอกุศลวิบาก ก็คือต้องเป็นผลของอกุศลกรรม ค่อยๆ เข้าใจตามลำดับก่อน

        เวลานี้ถ้าเราเข้าใจว่า ปฏิสนธิจิตของช้างเป็นผลของกรรมอะไร

        ผู้ฟัง เป็นผลของอกุศล

        สุ. เป็นผลของอกุศลกรรม มดเกิด

        ผู้ฟัง อกุศลค่ะ

        สุ. คนที่เกิดในนรก

        ผู้ฟัง อกุศลเหมือนกัน

        สุ. คนที่เกิดเป็นเปรต

        ผู้ฟัง อกุศลค่ะ

        สุ. อสุรกาย

        ผู้ฟัง อกุศลค่ะ

        สุ. เป็นปลา

        ผู้ฟัง อกุศลค่ะ

        สุ. เพราะฉะนั้นอกุศลกรรมเป็นผลให้เกิดอกุศลวิบาก แค่นี้ได้ไหม ตามกำลังที่เราจะมีความเข้าใจอย่างมั่นคง แล้วภายหลังเราก็จะรู้ว่า อกุศลวิบากทั้งหมดมีเท่าไร และในบรรดาอกุศลวิบาก ๗ ประเภทนั้น จิตไหนสามารถทำกิจไหน เพราะว่าอกุศลวิบากมีเพียง ๗ ไม่เกินกว่านั้นเลย ถ้าเราถามอย่างนี้ หมายความว่าเราอยากให้มีเกิน ๗ ไปทำหน้าที่ปฏิสนธิ

        ผู้ฟัง อย่างนั้นหมายความว่า ผลของอกุศลจะต้องวิจิตร และแตกต่างกัน แม้จะทำกิจปฏิสนธิ

        สุ. จิตที่ทำกิจปฏิสนธิ ต้องเป็นอกุศลวิบาก อกุศลวิบากทั้งหมดมี ๗ แน่นอนค่ะ เกิดเมื่อไรก็ต้องเป็น ๑ ใน ๗ เสมอ จักขุวิญญาณที่เห็นขณะนี้ ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ประณีต ไม่น่าพอใจ เป็นผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นทางตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ เป็น ๕ แล้ว เหลืออีก ๒ เท่านั้นที่เป็นผลของอกุศลกรรม ซึ่งอกุศลกรรมสามารถเป็นปัจจัยให้เกิด เพื่อทำกิจสัมปฏิจฉันนะ เกิดสืบต่อจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เมื่อเป็นจิตที่เกิดสืบต่อรู้อารมณ์เดียวกัน ก็มีชื่อสำหรับให้เข้าใจว่า หมายความถึงจิตนี้ คือ เป็นจิตที่ทำกิจรับรู้อารมณ์ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า “สัมปฏิจฉันนะ” รับรู้อารมณ์ต่อจากเห็น ได้ยิน เป็นต้น ๑ ขณะแล้วก็ดับไป จักขุวิญญาณเกิดที่จักขุปสาทรูป เห็นไหมคะว่า เราไม่เคยรู้เลยถึงความละเอียด โสตวิญญาณก็เกิดขึ้นที่โสตปสาทรูป กายวิญญาณก็เกิดขึ้นที่กายปสาทรูป ทั้ง ๕ นี้เกิดที่ปสาทรูปนั้นๆ แต่สัมปฏิจฉันนะเกิดที่หทยวัตถุ จะศึกษาหรือไม่ศึกษา จะเข้าใจอย่างอื่น หรือจะเข้าใจอย่างนี้ ก็คือจิตต้องเป็นอย่างนี้ตามความเป็นจริง เรียนให้เข้าใจวิสัย หรือความเป็นไป นิยามของจิตว่า เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องเป็นอย่างนี้แหละ จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ หลังจากที่จักขุวิญญาณเกิดแล้ว จะให้จิตอะไรอื่นเกิดตามใจชอบไม่ได้เลย ต้องเป็นจิตที่เป็นวิบาก กรรมทำให้วิบากเกิดขึ้นรับรู้ต่อ และจิตที่รับรู้ต่อก็คือ สัมปฏิจฉันนะ แล้วดับ ก็ยังไม่ถึงกาลที่กุศลจิต และอกุศลจิตจะเกิด ยังไม่สามารถเป็นกุศล และอกุศลได้ กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมก็ทำให้วิบากจิตเกิดรู้อารมณ์ต่อจากสัมปฏิจฉันนะ ถ้าเป็นทางปัญจทวาร

        เพราะฉะนั้นจิตขณะที่เกิดสืบต่อจากสัมปฏิจฉันนะกับสัมปฏิจฉันนะ ซึ่งเกิดต่อจากเห็น ได้ยิน ไม่ใช่จิตประเภทเดียวกัน เป็นวิบากด้วยกัน แต่ต่างขณะแล้วก็ทำ และทำกิจต่างกันด้วย ๗ ใช่ไหมคะ แค่นี้เองค่ะ แล้วจะให้จิตไหนทำปฏิสนธิกิจ เลือกซิ อยากเลือกเอง หรือว่าเข้าใจในเหตุผล

        สัมปฏิจฉันนะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่ากับสันตีรณะ แต่ไม่ได้ทำกิจสันตีรณะ ทำกิจสัมปฏิจฉันนะ และเวลาที่สันตีรณะเกิดขึ้น ดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเป็นกิริยาจิต โวฏฐัพพนะ อันนี้ยังไม่ถึง ก็ค่อยๆ เข้าใจไป แต่ให้ทราบว่า อกุศลจิตที่เป็นอกุศลกรรม จะมากมายอย่างไรก็ตาม ทำกรรมใดๆ ไว้ก็ตาม เป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากจิตเกิดเพียง ๗ ประเภท หลังจากจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ พวกนี้ก็เป็นสัมปฏิจฉันนะกับสันตีรณะ

        สัมปฏิจฉันนะไม่ได้เกิดที่ปสาท จักขุปสาท โสตปสาท แต่เกิดที่หทยรูป ให้เห็นความวิจิตร เกิดที่นั่น แต่มีทาง ถ้าเป็นทางตา ก็รู้อารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณแล้วก็ดับ ไม่มีกำลังพอที่จะทำกิจอื่นใด นอกจากสัมปฏิจฉันนกิจเท่านั้น เหมือนกับจักขุวิญญาณ ทำกิจอื่นไม่ได้เลย ขณะนี้ที่เห็นเป็นจิตที่ไม่มีเหตุใดๆ เกิดร่วมด้วย เป็นผลของกรรมที่ทำให้ต้องเห็น เมื่อถึงกาลที่กุศลกรรมจะให้ผล สิ่งที่กระทบตาก็มีปัจจัยเกิดขึ้น เป็นอนิฏฐารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ แต่พอถึงกาลที่จะให้จิตเห็นเกิดขึ้น เมื่อกระทบแล้ว ภวังค์ไหว ภวังคุปัจเฉทะเกิดต่อ ดับไป ปัญจทวาราวัชชนะรำพึงถึงแล้วก็ดับไป แล้วจักขุวิญญาณอกุศลวิบากเกิดขึ้นเห็นที่จักขุปสาท นี่คือชีวิตแต่ละบุคคลตามความเป็นจริง เมื่อดับไปแล้ว กรรมก็ทำให้สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ รู้อารมณ์เดียวกัน อาศัยทวารเดียวกัน แต่เกิดที่หทยวัตถุ ไม่ได้เกิดที่จักขุปสาท และสัมปฏิจฉันนะทำกิจอื่นไม่ได้เลยทั้งสิ้น ทำได้กิจเดียว คือ สัมปฏิจฉันนกิจ ดับแล้ว เป็นปัจจัยให้วิบากซึ่งเป็นผลของกรรมเดียวกันเกิดต่อ ถ้าเป็นอกุศลกรรม จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ พวกนี้เป็นอกุศลวิบาก สัมปฏิจฉันนะเป็นวิบาก แล้วจิตที่เกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนะก็เป็นวิบากประเภทเดียวกัน คือ เมื่อเป็นอกุศลวิบาก ก็อกุศลวิบากโดยตลอด จนกระทั่งถึงจิตที่ทำกิจนี้ คือ พิจารณาต่อจากสัมปฏิจฉันนะเกิดขึ้น มีเจตสิกเกิดดับเท่ากัน เกิดที่หทยวัตถุเหมือนกัน แต่ความต่าง สัมปฏิจฉันนะ แม้เกิดที่หทยวัตถุ ก็เป็นขณะแรกที่เกิดยังไม่มั่นคง เหมือนสันตีรณะ ซึ่งก็เกิดที่เดียวกับสัมปฏิจฉันนะ แต่เป็นขณะที่ ๒ ไม่ใช่ขณะแรก เพราะฉะนั้นวิบากที่เป็นอกุศลวิบากจิตไหนสามารถจะทำปฏิสนธิกิจ ก็คือสันตีรณะเท่านั้น จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ เพียงทำกิจของตน เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเท่านั้นเอง ทำกิจอื่นไม่ได้เลย สัมปฏิจฉันนะที่เกิดต่อก็ทำกิจไม่ได้ แต่สันติรณจิตอกุศลวิบาก ทำได้ ๕ กิจ เพราะว่ากรรมทำให้อกุศลวิบากเกิดขึ้นเพียง ๗ ประเภท ไม่มากกว่านั้นเลย

        นี่คือความต่างกันของกรรม อกุศลกรรมทั้งหลายจะมากน้อย หนักหนาสาหัสสักเท่าไร ก็ทำให้อกุศลวิบากเกิดขึ้น ๗ แต่พอถึงกุศลวิบาก มากกว่านั้น จะยิ่งวิจิตรขึ้นได้ ตามการสะสม แต่คำถามที่ว่า เมื่อเป็นอกุศลวิบากที่ทำกิจปฏิสนธิ ทำไมถึงต่างกัน ขณะที่ทุกคนกำลังฟังธรรมเดี๋ยวนี้ เป็นจิตประเภทเดียวกันไหมคะ กุศล โสมนัส หรืออุเบกขา ก็ต่างกันแล้ว แล้วยังประมวลมาซึ่งกรรมที่ได้เคยฟัง เข้าใจมากน้อยแค่ไหน ที่สามารถทำให้ขณะนี้สามารถเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังด้วยกันหมด ในครั้งพุทธกาล ผู้ที่ฟังแล้วรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นพระโสดาบันก็มี ผู้ที่ฟังแล้วถึงความเป็นพระอรหันต์ก็มี ผู้ที่ฟังแล้วไม่เข้าใจถึงขั้นวิปัสสนาญาณก็มี กำลังฟังด้วยกัน

        เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริงๆ ที่สะสมมาในจิตแต่ละ ๑ ขณะ ก็มีความวิจิตรต่างกัน เพราะฉะนั้นเวลาที่กุศลกรรมให้ผล หรืออกุศลกรรมให้ผล ไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะประเภทเมื่อเป็นอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากด้วยกัน เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ทำไมต่างกันไป ก็ตามการสะสมที่มีอยู่ในจิตแต่ละขณะที่วิจิตร ไม่เหมือนกันเลย แต่ละคน คือ ๑ เท่านั้น จะเหมือนกันไม่ได้เลย รวมทั้งแสนโกฏิกัป และแม้ในขณะนั้นด้วย จึงทำให้แม้ปฏิสนธิเป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่ความวิจิตรที่ประมวลมา ก็ทำให้ไม่รู้เลยว่า ชาติต่อไปจะจุติแม้เป็นสัตว์เดรัจฉาน จะมีรูปร่างต่างกันอย่างไร เป็นผีเสื้อ ปีกผีเสื้อเหมือนกันไหม

        นี่ก็แสดงให้เห็นความวิจิตรอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นธรรมก็คือว่า เป็นธรรม ซึ่งเป็นอนัตตา แล้วแต่จิตประเภทไหนเกิดขึ้นทำกิจอะไรก็ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ ถ้าเข้าใจความละเอียดอย่างนี้ ไม่สงสัยเลยใช่ไหมคะ เกิดมาเป็นมนุษย์ก็ไม่เหมือนกัน เกิดเป็นเทพธิดาก็ยังต่างกันไปได้

        ผู้ฟัง ฟังแล้วเหมือนกับพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ ปัญญาของท่านไม่ทราบว่าจะพูดว่าอย่างไร

        สุ. มิฉะนั้นจะไม่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

        ผู้ฟัง เพราะถ้าท่านไม่ตรัสรู้ เราก็จะไม่มีวันรู้เลยว่า นามธรรมที่ไม่มีรูปร่างหน้าจะละเอียดมากอย่างนี้ โชคดีที่ได้มาเรียน และพอรู้บ้าง ขอบพระคุณค่ะ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 347


    หมายเลข 12473
    23 ม.ค. 2567