ทำไมสันตีรณะทำกิจได้หลายกิจ


        ผู้ฟัง ถ้าเราจะศึกษาเรื่องจิต ชื่อ “สันตีรณะ” ทำกิจหลายกิจ และยังเป็นชื่อของจิตด้วย และยังเป็นชาติวิบากใช่ไหม

        สุ. คุณประภาสมีหน้าที่เดียว หรือมีหลายหน้าที่

        ผู้ฟัง วันๆ เยอะมากเลยครับ

        สุ. เปลี่ยนชื่อไปเรื่อยๆ หรือชื่อคุณประภาสนี่แหละ แต่ทำกิจนั้นบ้าง ทำกิจนี้บ้าง ก็แล้วแต่ว่าจิตไหนที่สมควรจะเป็น ณ ที่ทำ ที่สามารถใช้ชื่อนั้นได้ อย่างสันตีรณจิตทำสันตีรณกิจได้ ตัวจริงคืออย่างนั้น เรียกอะไรก็ได้

        ผู้ฟัง ถ้าทำกิจปฏิสนธิเมื่อไร ภวังค์เมื่อไร จุติเมื่อไร ก็ยังเป็นจิตนั้น ก็กระจ่างขึ้น ซึ่งเมื่อเจอคนใบ้ บ้า บอด หนวกแต่กำเนิด ชอบบอกว่านี่เป็นผลของอกุศล

        สุ. ถูกต้องหรือเปล่า

        ผู้ฟัง ทีนี้พอมาศึกษาเรื่องปฏิสนธิ ก็เลยเป็นกรรมที่ให้ผลต้องเป็นฝ่ายกุศล กุศลเมื่อให้ผลเป็นวิบาก ผมก็เลยจำวิบากอีกประเภทหนึ่งว่า ถ้าเป็นมนุษย์ ต้องเป็นผลของกุศลกรรมเท่านั้น ใช่ไหมครับ

        สุ. อันนี้คือเราพยามยามเอาตำรามาคิดนะคะ แต่ถ้าเราพิจารณาตามความเป็นจริง เราจะเข้าใจมากกว่า เช่น เห็นสุนัขน่ารัก ปฏิสนธิจิตเป็นอะไร เป็นผลของกรรมอะไร

        ผู้ฟัง ต้องเป็นอกุศลอย่างเดียว

        สุ. เป็นผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตเป็นอกุศลวิบาก จะเป็นกุศลวิบากไม่ได้เลย เวลาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผลของกรรมอะไร

        ผู้ฟัง ถ้าเป็นมนุษย์ ต้องเป็นผลของกรรมดี

        สุ. ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตามแต่ แต่ผลก็มีมากน้อยต่างกัน บางคนก็เกิดมามั่งมีเพียบพร้อมทุกอย่าง บางคนก็เกิดมาลำบาก จนกระทั่งถึงตาบอดก็ได้ พิการก็ได้ แต่ต้องตั้งแต่กำเนิดจึงจะแสดงว่าถูกเบียดเบียนด้วยอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตต้องต่างกับกรรมที่ไม่ได้ถูกเบียดเบียนด้วยอกุศลกรรม

        ผู้ฟัง จักขุปสาทเป็นผลของกรรม ก็อาจจะโดนอกุศลเบียดเบียน

        สุ. ไม่ใช่หลังปฏิสนธิ แต่ว่าปฏิสนธิจิตนั้นเป็นกุศลอย่างอ่อน เพราะฉะนั้นอกุศลกรรมจึงเบียดเบียน ทำให้ไม่มีตาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งไม่มีใครบอกได้ ตั้งแต่กำเนิด หมายความว่ากรรมกำหนดให้ปฏิสนธิจิตเป็นอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก แต่ละกรรมก็ละเอียดมาก เศรษฐีก็พิการตั้งแต่กำเนิดได้ ใช่ไหมคะ

        อ.ธิดารัตน์ คำถามนี้ก็มีคนสงสัยมากว่า ทำไมสันตีรณะทำกิจได้มากกว่า สัมปฏิจฉันนะ เพราะสัมปฏิจฉันนะเกิดต่อทวิปัญจวิญญาณ แล้วทำกิจเพียงรับอย่างเดียว แต่พอถึงสันตีรณะที่มีเจตสิกเท่าๆ กัน แต่ทำไมถึงได้ทำกิจได้ถึง ๕ กิจ

        สุ. ค่ะ เอาชื่อออกหมดเลย ธรรมเป็นอย่างนี้ คือ สัมปฏิจฉันนะ ทำไมชื่อนี้ ยังไม่ต้องตั้งชื่ออะไรเลยก็ได้ แต่เป็นจิตที่เกิดต่อจากทวิปัญจวิญญาณ และมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร เมื่อทำกิจต่อจากจักขุวิญญาณ จะเรียกอะไรให้เข้าใจว่า จิตนี้ที่ทำกิจต่อจากทวิปัญจวิญญาณทั้ง ๑๐ ไม่มีชื่อก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร เรียกอย่างไรให้เข้าใจได้ จึงต้องมีชื่อ เมื่อทำกิจรับรู้อารมณ์ต่อจากทวิปัญจวิญญาณ ก็เรียกตามภาษาบาลี สัมปฏิจฉันนจิต เพราะทำสัมปฏิจฉันนกิจ มีหน้าที่นี้ เหมือนกับจักขุวิญญาณ ไปทำหน้าที่อื่นได้ไหม นอกจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จักขุวิญญาณเห็น ได้ยินได้ไหม เมื่อไม่ได้จึงชื่อว่า จักขุวิญญาณ เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเห็น ทำกิจอื่นไม่ได้เลย แสดงความต่างของจิตแต่ละประเภท แม้ว่าสัมปฏิจฉันนะก็รู้อารมณ์เดียวกันกับจักขุวิญญาณ แต่ไม่ได้ทำทัสนกิจ

        นี่ก็คือเราจะรู้ความละเอียดในเรื่องของจิตซึ่งเป็นชาติต่างๆ จิตที่เป็นกุศลอกุศล ไม่ใช่วิบาก และเมื่อเป็นวิบากแล้ว ซึ่งเป็นผลของกุศลอกุศล กุศล และอกุศลแต่ละประเภทจะทำให้วิบากจิตเกิดได้เท่าไร ตามเหตุตามผล ตามปัจจัย และเมื่อเกิดแล้วทำกิจอะไร ก็ก้าวก่ายสับสนกันไม่ได้

        เพราะฉะนั้นแม้แต่จะใช้คำว่า “สัมปฏิจฉันนะ” ก็หมายความถึงจิตที่เกิดต่อจากทวิปัญจวิญญาณซึ่งดับไปแล้วทางหนึ่งทางใดก็แล้วแต่ จิตที่เกิดต่อนั้นก็เรียกว่า สัมปฏิจฉันนะ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่านี้

        เพราะฉะนั้นจิตที่เกิดต่อไม่ได้ทำสัมปฏิจฉันนกิจ แต่ละจิตก็มีกิจเฉพาะของตนๆ สัมปฏิจฉันนะไม่ได้ทำหน้าที่สันตีรณะ สันตีรณะก็ไม่ได้ทำหน้าที่สัมปฏิจฉันนะ จิตที่ทำหน้าที่รับอารมณ์สืบต่อจากทวิปัญจวิญญาณ ชื่อนี้เพราะอย่างนี้ เพราะรับต่อทันที แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นสันตีรณะเป็นวิบาก เป็นผลของกรรมเดียวกันเลยที่ทำให้ไม่มีแต่เฉพาะจักขุวิญญาณ และสัมปฏิจฉันนะเกิด มีจิตที่เป็นวิบากอีก ๑ ขณะ ซึ่งเกิดรับต่อจากสัมปฏิจฉันนะ แต่ไม่ได้ทำสัมปฏิจฉันนกิจ ทำสันตีรณกิจ นี่กิจหนึ่งแล้ว ของจิตประเภทนี้ มีเจตสิกเกิดเท่านี้ และเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนะ แต่ความต่างของสัมปฏิจฉันนะ และสันตีรณะ ซึ่งเป็นวิบากด้วยกัน มีเจตสิกเกิดด้วยกัน แต่อันหนึ่งทำได้เฉพาะ สัมปฏิจฉันนกิจ อีกอันหนึ่งนอกจากทำสันตีรณกิจ ยังทำกิจอื่นได้ คือ ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ และตทาลัมพนะ

        นี่คือลักษณะความเป็นไปของธาตุ หรือของธรรมนั้นๆ หายสงสัยหรือยังคะ

        อ.นิภัทร เรียนธรรมอย่าคิดมากครับ ถ้าคิดมากแล้วฟุ้งซ่าน คิดอยู่ในกรอบแห่งพระธรรมที่ท่านว่าไว้ เพราะฉะนั้นเราศึกษาก็ต้องศึกษาตามพระธรรมวินัยที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ของแน่นอนมันมีครับ พีชนิยาม ความแน่นอนของพืช อย่างต้นทานตะวัน ทำไมดอกถึงหันหน้าไปทางตะวัน มะม่วง ทำไมถึงไม่เป็นมะนาว ความแน่นอนของพืช เขาเป็นพืชชนิดไหน ก็เป็นอย่างนั้น เราจะไปจัดแจงให้เป็นไปตามที่เราคิด มันก็ฟุ้งซ่านครับ นิยามมี พีชนิยาม จิตนิยาม ความแน่นอนของจิต จิตอย่างนี้ทำหน้าที่อย่างนี้ๆ แน่นอนตายตัวอยู่แล้ว เราอย่าไปคิดให้มันผิดแผกไป อุตุนิยาม ความแน่นอนของฤดู ทำไมหนาว ทำไมร้อน ไม่น่าจะหนาว ไม่น่าจะร้อนเลย กรรมนิยาม ความแน่นอนของกรรม กรรมดีก็ได้ดี กรรมชั่วก็ได้ชั่ว และธรรมนิยาม ความแน่นอนของธรรม ธรรมทั้งหลายมีความเกิดขึ้นมาแล้วก็แตกสลายไปเป็นธรรมดา เป็นเรื่องของธรรมดา ที่จะต้องเป็นไปอย่างนั้นตามลักษณะของเขา ถ้าเราชื่อมาวิจารณ์กัน จะทำให้เราสับสน การเรียนธรรมของเราก็จะวุ่นวาย เมื่อวุ่นวายก็ฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านหนักๆ เข้า จิตก็จะวิปริตนะครับ บางคนบอกว่าเรียนอภิธรรม ทำให้จิตวิปลาส คิดมากกว่าตำรา

        อ.กุลวิไล และดิฉันจำว่า ท่านอาจารย์เคยบอกว่า ให้เราฟัง และเข้าใจในสิ่งที่ฟัง เพราะถ้าหากเราไปคิดเอง ก็จะไม่เข้าใจในขณะที่กำลังฟังอยู่ เพราะว่าท่านอาจารย์ทรงแสดงในส่วนของพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ เพราะฉะนั้นก็ทำความเข้าใจในพระธรรมที่ทรงแสดงไว้

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 348


    หมายเลข 12476
    16 ม.ค. 2567