จิตที่ฝึกดีแล้ว


        ผู้ถาม คำว่า “จิตที่ฝึกดีแล้ว” คำว่า “ฝึก” ก็หมายความว่า เราต้องเอาตัวเราเข้าไปฝึก ใช่ไหมครับ ฝึกแล้วนำความสุขมาให้ ก็คือเราไปฝึก เพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขแก่เรา เพราะฉะนั้นคำกล่าวนี้เป็นตัวตนไหมครับ

        สุ. ในพระไตรปิฎก มีคำว่า “อัตตา” หรือเปล่า เป็นเรา เป็นตัวตน หรือมีคำว่า “อนัตตา”

        ผู้ถาม อนัตตาครับ

        สุ. เพราะฉะนั้นประโยคนั้นถูกหรือผิด ลองทบทวนอีกทีค่ะ “จิตที่ฝึกดีแล้ว”ไม่เห็นบอกว่าให้มีตัวตนไปฝึก และอะไรที่จะฝึกจิตจากไม่รู้เป็นรู้ จนรู้ว่าไม่ใช่เรา ถ้าใครยังคิดว่า ให้ทำด้วยความเป็นเรา เราจะได้เป็นสุข เพราะว่าฝึกดีแล้วก็เป็นสุข ก็คือไม่สามารถจะรู้ว่า ความจริงไม่มีเราเลย ยังคงเป็นเราอยู่นั่นแหละ

        ผู้ถาม อาจารย์กำลังหมายความว่า นามธรรมกำลังปฏิบัติกิจของนามธรรมนั่นเอง ใช่ไหมครับ

        สุ. แน่นอนค่ะ เพราะว่านามธรรมก็มีจิต และเจตสิก จิตเป็นธาตุรู้ ขณะนี้กำลังเห็น มีสิ่งที่ปรากฏ จิตเห็นทำกิจเห็น แต่จิตที่เห็นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเจตสิกแต่ละประเภทก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ เพราะฉะนั้นเจตสิกที่เป็นฝ่ายอกุศลก็มี ที่เป็นฝ่ายดี คือ โสภณก็มี และเจตสิกที่สามารถเกิดได้ทั้งขณะที่เป็นกุศล และอกุศล ที่เข้ากันได้กับอกุศลเจตสิก และเข้ากันได้กับโสภณเจตสิก แล้วแต่ว่าขณะนั้นสภาพธรรมใดเกิดขึ้น เจตสิกที่สามารถเข้ากันได้กับสภาพธรรมนั้นก็เกิดเป็นไปร่วมด้วย ถ้าเกิดกับโสภณจิต เจตสิกนั้นๆ ที่สามารถเข้าได้ ก็เป็นโสภณด้วย แต่โดยจริงๆ แล้ว ถ้าเจตสิกเป็นอกุศล เช่น อวิชชา กำลังไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จะให้อวิชชามาฝึกอะไร เป็นไปไม่ได้เลยใช่ไหมคะ

        เพราะฉะนั้นไม่มีเรา ต้องมั่นคงที่ว่า ธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา

        ฟังธรรม ผิวเผินไม่ได้ เพราะจะแปลเอง เข้าใจเองว่า ให้เราฝึก ต้องสอดคล้องกันทั้งหมด

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 339


    หมายเลข 12431
    23 ม.ค. 2567