เพียงแค่คิดว่า เป็นธรรมแต่ไม่ใช่รู้จักธรรมที่กำลังเป็นธรรมทุกขณะ


        ผู้ฟัง ถ้าเดินข้ามถนนแล้วรถไม่ชน หรือว่าจับแก้วน้ำแล้วไม่หก สภาพธรรมอะไรที่ทำให้ต่างกันตรงนี้ค่ะ

        อ.วิชัย ช่นแก้วน้ำเต็ม แล้วถือไม่หก เป็นกุศลหรือเปล่าคะ ขณะนั้น

        ผู้ฟัง คือเข้าใจว่า ไม่ใช่สติ แต่อยากทราบว่า มีสมาธิหรืออะไรที่ทำให้โดนชนกับไม่โดนชน

        อ.วิชัย คือต้องเข้าใจเรื่องของจิต และเรื่องของรูป การเดินไปต่างๆ มีจิตเป็นปัจจัย การเคลื่อนไหว การทำกิริยาอาการต่างๆ มีจิตเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้นการกระทำสิ่งต่างๆ ขณะนั้นเป็นจิตอะไร เพราะเหตุว่าการโดนรถชนมีหลายปัจจัย อาจจะมีอดีตกรรมให้เป็นอย่างนั้น หรือว่าขณะนั้นเป็นผู้ประมาท คือ อาจจะมีจิตเป็นไปในเรื่องอื่น เป็นเหตุปัจจัยให้อดีตกรรมให้ผล ได้รับทุกขเวทนาทางกายอย่างนั้นๆ และต้องเข้าใจว่า ในส่วนของจิตก็ส่วนหนึ่งที่จิตเป็นปัจจัยให้มีกิริยาอาการต่างๆ โลภะก็ได้ ความพอใจที่ต้องการเดินให้ดี ให้สวย ให้งาม หรือด้วยโทสะ เดินอย่างเร็วๆ ขณะนั้นก็มีจิตที่เป็นปัจจัยให้เป็นไปอย่างนั้นๆ แต่การที่จะได้รับสิ่งต่างๆ ทุกข์ทางกาย ก็เป็นเรื่องของกรรมในอดีตที่จะให้ผลอย่างนั้นๆ แม้จะพยายามป้องกันอย่างดี แต่อาจจะได้รับผลถูกรถชนก็เป็นไปได้ เพราะเหตุว่าเป็นผลของกรรมที่ต้องได้รับวิบากอย่างนั้น

        สุ. ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ต้องพิจารณาด้วยเหตุผล และพิจารณาจนกระทั่งเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องของตนเอง

        คนที่จะมีสติหรือไม่มีสติ รถชนได้ไหม หรือต้องชนเฉพาะคนที่ไม่มีสติ

        ผู้ฟัง มีสติหรือไม่มีสติ ก็ถูกรถชนได้ทั้งนั้น

        สุ. ค่ะ ก็ต้องแยกกัน เรื่องของการที่จะรู้สิ่งที่กระทบกาย ขณะนั้นต้องเป็นเรื่องของกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว แม้ขณะนี้ ยังไม่ถูกรถชนเลย แต่ทางกายที่กำลังกระทบสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ทราบว่า เป็นจิตที่เป็นผลของกรรม ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ถึงกาลที่กรรมจะให้ผล ก็ทำให้รูปที่เกิดนั้นกระทบกับกายปสาท และจิตก็เกิดขึ้นรู้สิ่งนั้น จะสมมติเรียกว่า รถชน หรือจะโคขวิด อย่างในพระไตรปิฎก หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นเรื่องของขณะจิตที่เป็นผลของกรรม ที่จะต้องรู้สิ่งที่กระทบกาย ถ้าเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดทุกขเวทนา ความเจ็บปวด ขณะนั้นก็เป็นผลของอกุศลกรรม

        เพราะฉะนั้นไม่ใช่การที่เราจะตัดสินว่า ขณะที่กำลังถูกรถชน คนนั้นขาดสติ คนนั้นไม่มีสติ เดินไม่ระวัง ก็เกิดรถชน แต่ตามความเป็นจริงก็คือว่า จะมีสติ หรือไม่มีสติก็ตาม นั่นไม่ใช่ขณะที่เป็นผลของกรรม แต่ขณะที่มีสิ่งที่กระทบกาย ไม่จำเป็นต้องเป็นรถ เป็นโคขวิด หรือเป็นอะไรเลย แม้ในขณะนี้ ทุกขณะที่มีการกระทบ และสิ่งที่ปรากฏทางกาย เป็นผลของกรรมทั้งหมด

        ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็คงจะตัดปัญหาได้

        ผู้ฟัง คือสรุปแล้ว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็เป็นผลของกรรม

        สุ. แต่ละขณะจิตอย่างละเอียดมาก ปนกันไม่ได้เลย ถ้าปนกัน เราสับสน แล้วเราก็เข้าใจผิดว่า เพราะไม่มีสติ จึงถูกรถชน ใช่ไหมคะ แต่รถจะชนคนที่กำลังมีสติได้ไหม หรือว่าไม่ได้ ก็เป็นแต่ละเหตุการณ์ แต่ละเรื่อง

        ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นเราต้องมั่นคงในเรื่องกรรม และผลของกรรม

        สุ. เป็นการที่จะรู้ว่า ไม่มีเรา แต่มีธรรม การฟังธรรมทุกวันๆ เพื่อให้เข้าใจถูกว่า ขณะนี้มีธรรมกำลังปรากฏ แต่ไม่เคยรู้ว่า เป็นธรรม แล้วไม่เคยรู้ความจริงของธรรมด้วย แม้จะได้ยินคำว่า “ทุกอย่างเป็นธรรม“ แต่ขณะที่กำลังฟัง ก็ยังไม่รู้ความจริงของธรรม อย่างเวลาที่ขุ่นเคืองใจเกิดขึ้น ไม่ชอบ เป็นธรรมหรือเปล่า ยังไม่ต้องไปคิด ไม่อยากจะมีโทสะ แต่ขณะที่โทสะกำลังเกิด ขณะนั้นรู้หรือเปล่าว่า โทสะก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

        ผู้ฟัง ส่วนใหญ่ก็จะคิดว่า เรามีโทสะ

        สุ. แล้วก็ข้ามไป อยากจะไม่มีโทสะ ก็ไม่มีการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเลย แต่การฟัง ก็คือฟังเพื่อให้ถึงความเข้าใจที่สมบูรณ์จริงๆ ที่มีความเข้าใจแต่ละคำโดยไม่ลืม เช่น คำว่า “ธรรม” ฟังแล้วเหมือนเข้าใจ ทุกอย่างเป็นธรรม คือ สิ่งที่มีจริง แต่ขณะนี้อะไรมีจริง เห็นจริง ได้ยินจริง คิดนึกจริง ไม่รู้ว่าเป็นธรรม

        เพราะฉะนั้นเป็นความเข้าใจขั้นฟัง ซึ่งจะต้องมีปัญญาต่อไปอีกถึงกาลที่สามารถกล่าวได้จริงๆ เพราะประจักษ์แจ้งจริงๆ ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา แล้วมีการเกิดขึ้น และดับไปด้วย ทุกอย่างต้องตรง และจริง ถ้าจะกล่าวว่าเป็นธรรม ก็หยุดเพียงเท่านั้นไม่ได้ พอใจเพียงเท่านั้นไม่ได้ เพราะเพียงแค่คิดว่า เป็นธรรม แต่ไม่ใช่รู้จักธรรมที่กำลังเป็นธรรมทุกขณะ

        ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นถ้าเรามั่นคงแม้ขั้นการฟังว่า ทุกอย่างเป็นธรรม และเกิดดับตามเหตุปัจจัย เป็นอนัตตา และมีเรื่องของกรรม ผลของกรรม ก็จะไม่เอาเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์มาถามให้ตัดสินว่า เป็นอย่างไร ถ้าเรามั่นคงอย่างนี้ ก็จะเข้าใจไปเองว่า ทุกอย่างเป็นธรรม และเกิดตามเหตุปัจจัยในอดีตที่สะสมมามากมาย

        สุ. ค่ะ ฟังว่าเป็นธรรม แล้วก็ลืม นี่คือปกติ เพราะว่าเราจะไปจำเรื่องอื่น คิดเรื่องอื่น เพราะว่าเคยจำเรื่องอื่นมานาน ตั้งแต่เกิดมาก็จำเรื่องบุคคลใกล้ชิด เรื่องเหตุการณ์ต่างๆ แต่ว่าฟังว่า ขณะนี้เป็นธรรม แม้ว่าจะมีความเข้าใจในขั้นฟัง แต่ก็ตื้น และเล็กน้อยมาก คือ พอฟังแล้วก็ลืม ฟังแล้วก็ลืม แต่วิธีที่จะมั่นคง ไม่ลืม ก็คือ ฟังอีกเรื่อยๆ แล้วก็มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เข้าใจธรรมจริงๆ หรือเปล่า อย่างทางตา เห็น เห็นมามาก แล้วก็จะเห็นต่อไปอีก และได้ฟังว่า เห็นก็เป็นธรรม

        ทีนี้เห็นเป็นธรรมอย่างไร ในเมื่อเคยเห็นเป็นคน เป็นวัตถุ เป็นสิ่งต่างๆ แต่ตามความเป็นจริงทุกอย่างเกิดแล้วดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นในขณะนี้เอง ความไม่รู้ คือ เพียงแค่ฟังว่า เห็นเป็นธรรม เกิดได้เมื่อมีรูปที่กระทบจักขุปสาท แล้วจิตเห็นจึงเกิดขึ้น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้จึงปรากฏ ฟังอย่างนี้แล้วก็ลืม ฟังแล้วก็ลืม แต่ก็เป็นปกติธรรมดา เพราะมีสิ่งที่กำลังปรากฏให้ค่อยๆ เริ่มเข้าใจ อย่าไปคิดว่า เราจะเข้าใจได้ทันที หมดการที่จะรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร เพราะว่าจริงๆ แล้ว เห็นแล้วต้องคิด ยับยั้งไม่ได้เลย เมื่อคิดก็รู้ว่า สิ่งที่เห็นนั้นเป็นอะไร

        ด้วยเหตุนี้จึงเป็นชีวิตประจำวันซึ่งไม่ใช่ให้ใครไปเปลี่ยน แต่ให้เพิ่มความเข้าใจถูก ความเห็นถูก เพื่อที่จะคลายความติดข้อง และความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ เพราะเหตุว่าตราบใดที่ยังมีความไม่รู้ และความติดข้อง ไม่สามารถประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมได้ ซึ่งสภาพธรรมแต่ละอย่างมีปัจจัยเกิดแล้วดับเร็วมาก เช่นขณะนี้เห็น ถ้าไม่ดับ เสียงปรากฏไม่ได้เลย คิดนึกก็มีไม่ได้เลย

        เพราะฉะนั้นนี่ก็แสดงว่า ความห่างของสติสัมปชัญญะที่เริ่มจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ มากไหม เพราะเหตุว่าระหว่างเห็นกับได้ยิน ยังมีความติดข้องหรือความพอใจในสิ่งที่เห็นอย่างรวดเร็ว ก่อนที่รูปที่มีอายุสั้นมากจะดับไป

        เพราะฉะนั้นความไม่รู้มาก ไม่ต้องไปคิดว่า เมื่อไรเราจะรู้ เสียเวลาค่ะ เพราะเหตุว่าเป็นตัวเรา เป็นตัวตนที่อยาก และยังคงยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา แต่ขณะใดก็ตามที่ฟังธรรม กำลังมีธรรมปรากฏ แล้วก็ฟังว่า สิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง ตรงกับความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏไหม เมื่อเป็นความจริง รู้ความจริงระดับไหน ระดับกำลังเข้าใจถูกทีละเล็กทีละน้อยว่า เห็นจริง และไม่ใช่ตัวตน เพราะว่ามีเหตุปัจจัยจึงเกิดได้ ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย ใครจะไปทำให้เกิดเห็นขึ้นมา เป็นไปไม่ได้เลย และเห็นก็ไม่ยั่งยืนเลย เมื่อวานนี้เห็นอะไรตั้งเยอะแยะ ไม่เหลือเลย เมื่อกี้นี้ก็เห็น แล้วขณะนี้ก็เห็น ต่อไปก็เห็น แต่ว่าเราไม่มี มีแต่สภาพธรรมซึ่งเกิดแล้วดับไป โดยไม่เหลือ และไม่กลับมาอีก

        เพราะฉะนั้นการฟังธรรม เพื่อที่จะเป็นสังขารขันธ์ที่จะน้อมไปสู่ความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ถ้ามีความเห็นผิด ไม่ได้เข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรมที่ปัญญาเริ่มจะเข้าใจ และก็คิดว่า จะต้องไปทำอย่างอื่น จะไปรู้อย่างอื่น ไม่มีทางที่จะรู้ความจริงว่า สภาพธรรมเกิดแล้วดับตามเหตุตามปัจจัย เพราะว่าขณะนี้ไม่ใช่มีใครไปรู้ว่า เห็นขณะนี้เกิดเพราะรูปกระทบกับจักขุปสาท และจิตเห็นกำลังเห็นสิ่งนี้ นั่นคือเรื่องราว แต่ว่าสภาพเห็นมีจริงๆ สั้นมาก เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่า ขณะที่กำลังฟังเรื่องเห็น ก็เพราะเหตุว่ายังไม่มีปัญญาที่สามารถจะรู้ลักษณะที่เห็นพร้อมสติสัมปชัญญะ เพราะว่าพื้นฐานความเข้าใจเรื่องเห็นยังไม่พอ หลงลืมเสมอ กำลังเห็น ทั้งๆ ที่ฟัง ก็ไม่ได้รู้ความจริงของเห็น แต่ถ้าไม่ฟังเลย ก็ไม่มีโอกาสที่ปัญญาจะเจริญขึ้น แต่การฟัง และเริ่มเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ก็จะตรงกับความเป็นจริงที่ว่า เราสะสมความไม่รู้มาแต่ละขณะจิต ทีละเล็กทีละน้อยในสังสารวัฏฏ์ นานแสนนาน ถ้าจะเทียบกับกำลังเริ่มมีสิ่งที่ปรากฏ และขณะนั้นไม่ได้คิดอย่างอื่นเลย ขณะนั้นกำลังค่อยๆ เข้าใจ ดูเหมือนว่าน้อยมาก หรืออาจจะไม่มีเลย ทั้งๆ ที่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็ปรากฏ แต่ก็จะเห็นได้ว่า ต่างกับขณะที่ไม่เคยได้ฟัง

        เพราะฉะนั้นเวลาที่มีสิ่งที่กำลังปรากฏ และกำลังฟัง นี่ต่างกันแล้วใช่ไหมคะ ไม่ได้ฟังเรื่องอื่น กำลังฟังเรื่องสภาพธรรมที่ปรากฏ และจิตที่กำลังเห็น

        เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ถ้าฟังมากกว่านี้ จะค่อยๆ เข้าใจมากกว่านี้ และจะรู้ว่า ขณะนี้ที่กำลังมีสิ่งที่ปรากฏ แม้ความเข้าใจชัดเจนไม่เกิด แต่เริ่มรู้ว่า ขณะนั้นไม่ได้ไปอื่นเลย ยังคงมีลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นชั่วขณะที่สั้นมาก ที่กำลังมีลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ และกำลังเริ่มเข้าใจ ก็จะรู้ลักษณะที่ใช้คำว่า “สติสัมปชัญญะ” หรือ “สติปัฏฐาน” เพราะว่าขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก ประมาณไม่ได้ ใช้คำว่า “ประมาณไม่ได้” เหมือนเห็นกับได้ยิน เหมือนพร้อมกัน ฉันใด ขณะที่สภาพธรรมก็ปรากฏตามปกติ และมีการฟังเรื่องสภาพธรรม และความเข้าใจลักษณะนั้นเริ่มเกิดขึ้น นี่คือขณะที่เหมือนไม่ปรากฏว่า เป็นความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ เหมือนกับการจับด้ามมีด กำลังจับ จะไม่เห็นว่า ด้ามมีดสึก ฉันใด ขณะที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา และฟังเรื่องนี้ และกำลังเริ่มเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย นั่นคือการที่ปัญญาสามารถถึงการคลาย การที่ไม่เคยฟังเลย และไม่เคยรู้เลยว่า ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา จริงๆ เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย แต่ว่าเป็นธาตุ หรือธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งกำลังปรากฏ แสดงความเป็นอนัตตา แสดงความเป็นธรรม แต่ว่าปัญญาไม่ถึงระดับที่จะเห็นถูกว่า เป็นธรรม และเป็นอนัตตา แต่ว่าความจริงเป็นอย่างนั้น

        เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็น รู้จักตัวเองเพิ่มขึ้นว่า กาลที่ปัญญาจะเจริญขึ้น จนกว่าจะรู้ความจริง ไม่ต้องถามใคร นานเท่าไร คนอื่นบอกได้ไหม แต่ขณะที่เริ่มมีความเห็นถูกว่า ปัญญาจริงๆ ที่จะรู้ธรรมจริงๆ ก็คือในขณะที่ธรรมนั้นปรากฏ ไม่ใช่ในขณะที่ไปคิดเตรียม คิดทำ คิดอะไรต่างๆ แต่ข้ามการรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

        นี่คือหนทางเดียว และเป็นหนทางที่ลึกซึ้ง เพราะเหตุว่าอริยสัจทั้ง ๔ ลึกซึ้ง

        ผู้ฟัง ถึงแม้จริงๆ ยังไม่ประจักษ์สภาพธรรม แต่ขั้นฟังให้เข้าใจ ซึ่งแต่ก่อนก็ไม่เคยรู้เลยว่า เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นธรรมอย่างไร แต่เมื่อมาฟัง ถึงแม้ยังไม่ประจักษ์ ก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็จะมีความเข้าใจต่างจากแต่ก่อนที่ไม่รู้เลยมาก ในขั้นฟัง

        สุ. และข้อสำคัญที่สุด สิ่งที่ไม่รู้ มีอยู่ ให้รู้ตัวว่า ไม่รู้อยู่ตลอด ใช่ไหมคะ ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนเลย เพราะฉะนั้นต้องมีความเข้าใจที่มั่นคงว่า ปัญญารู้อะไร ที่จะเป็นปัญญาจริงๆ ที่จะอบรมจนกว่าจะประจักษ์สัจธรรม ก็คือสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏในขณะนี้ ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ คลายความไม่รู้ว่า เห็น มีแน่นอน หลังจากนั้นคือคิด ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ

        เพราะฉะนั้นกำลังมีสิ่งที่ปรากฏให้เข้าใจ ซึ่งแต่ก่อนนี้ปรากฏแล้วก็ไม่เข้าใจ ไม่เคยรู้ เป็นอวิชชาตลอดมานานแสนนาน แต่พอฟังแล้วก็รู้ว่า สิ่งนี้แหละ ไม่ได้หนีไปไหนเลย ระลึกได้เมื่อไร ก็กำลังเข้าใจว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เป็นธรรมอย่างหนึ่ง เหมือนธรรมอื่นๆ เหมือนเสียง เหมือนกลิ่น มีความเสมอกัน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เกิดปรากฏให้รู้ความจริง จนกว่าปัญญาจะสามารถรู้ได้ แต่ถ้ายังไม่รู้ ก็ฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น นี่เป็นหนทางเดียว

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 340


    หมายเลข 12436
    23 ม.ค. 2567