ละคลายความติดข้องในนิมิตอนุพยัญชนะคืออย่างไร


        สุ. ขณะที่กำลังเข้าใจเดี๋ยวนี้เป็นปกตินะคะ แต่ยังไม่ถึงระดับที่สติสัมปชัญญะเกิด และเข้าใจลักษณะของธาตุรู้ หรือสภาพเห็นที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ

        เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานก็คือ สติอีกระดับหนึ่งที่อาศัยการฟังเข้าใจปรุงแต่ง ทำให้ขณะนี้รู้ได้ว่า มีสิ่งที่ปรากฏ และยังไม่คิดอะไรเลย เพราะว่าขณะนั้นกำลังรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังเห็น

        นี่ต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ เพราะว่าเห็นโดยไม่รู้มานานแสนนาน ทุกวิชาต้องอาศัยกาลเวลาไหมคะ แม้แต่ภาษา จะเรียนภาษาอะไรก็ตาม ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ก็มีเสียงทั้งนั้นเลย แต่เสียงที่ต่างๆ กันไป ถ้าไม่มีการค่อยๆ เข้าใจลักษณะที่ต่างกันของเสียงนั้น สามารถที่จะเข้าใจความหมายของเสียงนั้นได้ไหม นี่คือเรื่องทางโลก แต่เรื่องของสภาพธรรม มีธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่ค่อยๆ ชิน ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจว่า สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น สามารถจะคลายอัตตานุทิฏฐิ คือ การเห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาได้ไหม

        นี่ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนเป็นผู้ตรง ที่จะรู้ว่า การเข้าใจธรรมคืออย่างนี้ คือ รู้ว่าอะไรเป็นธรรมที่สามารถจะปรากฏ แล้วปรากฏได้ทางไหน เพราะขณะนี้ถ้าไม่มีตา คือ จักขุปสาท เห็นไม่มี สิ่งที่ปรากฏขณะนี้ไม่มี แต่ทางใจคิดได้ แม้ไม่เห็น คนตาบอดก็คิดได้ แต่เห็นไม่ได้

        เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาจริงๆ ก็คือเป็นธาตุ หรือเป็นธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งถ้ารู้เมื่อไร ประจักษ์แจ้งเมื่อไร ก็ไม่มีเรา ไม่มีคน ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดในสิ่งที่ปรากฏทางตา และคำที่เราฟังมาจนชิน “ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา” เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนหรือเปล่า สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้เป็นอะไร เป็นคน เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ หรือเป็นสิ่งที่ปรากฏ กว่าเราจะเข้าใจจริงๆ และอบรมเจริญปัญญาที่จะไม่ลืมการศึกษา เหมือนภาษาหนึ่งภาษาใด กว่าจะชินที่จะเข้าใจในเสียงนั้นได้ถูกต้อง ก็คือมีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ยังไม่ชินเลย ยังไม่ได้ศึกษา เหมือนเสียง ใครพูดภาษาอื่นที่เราไม่เข้าใจ เราก็ไม่ได้ศึกษา เพราะฉะนั้นจะให้เราไปรู้ความหมาย เข้าใจความหมายของเสียงนั้นก็ไม่ได้ ฉันใด สิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้ายังไม่มีการศึกษา คือ การเริ่มที่จะน้อมไปเข้าใจ ไม่ใช่ตัวเราพยายามไปน้อมให้โค้งไปที่จะเข้าใจ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่การฟังเข้าใจกำลังน้อมไปสู่ความเห็นที่ถูกต้องว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ คืออย่างนี้ และเมื่อไรที่เริ่มค่อยๆ เข้าใจขึ้น ขณะนั้นก็จะรู้ว่า ขณะนั้นเราจะไม่รู้ว่า สติเกิดแล้ว เพราะเหตุว่าขณะนั้นกำลังมีความเข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏ ถ้าสติไม่เกิด ไม่มีการรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ ความเห็นถูกก็จะมีไม่ได้ เวลาที่เห็นแล้วไม่รู้ มีได้ ใช่ไหมคะ แล้วเวลาที่เห็นแล้วรู้ เวลาที่อกุศลจิตเกิด ก็จะมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยหลายประเภท ฉันใด เวลาที่กุศลจิต หรือจิตที่ดีงาม โสภณจิตเกิด ก็จะมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทำกิจการงานพร้อมกับจิตในขณะนั้น เร็วมาก เท่ากับการเกิดดับของจิต เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน

        เพราะฉะนั้นขณะที่เห็นแล้วไม่รู้ กับขณะที่เห็นแล้วรู้ เร็วหรือช้า ต่างกันหรือเปล่า รวดเร็วอย่างไรก็อย่างนั้น แต่ว่าเมื่อมีเพียงเล็กน้อย ความเข้าใจนั้นยังไม่มั่นคง ยังไม่มากพอ เพียงแต่ว่าเมื่อเริ่มมีความเข้าใจ ก็รู้ว่าขณะนั้นมีลักษณะที่ไม่เคยสนใจ ไม่เคยใส่ใจ ไม่เคยเข้าใจ แต่ก็กำลังปรากฏ และเวลาที่เริ่มจะเข้าใจลักษณะนั้น ก็จะเข้าใจความหมายของคำว่า “ไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ” เพราะเหตุว่าปกติธรรมดา พอเห็นแล้วไม่รู้ ก็ติดในนิมิต คือ สิ่งที่ปรากฏ เข้าใจว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีจริง และเที่ยง และก็ไม่ดับด้วย ยังคงเป็นคนที่นั่งอยู่ และไม่ปรากฏว่าดับไปเลย

        นี่คือการติดในนิมิตอนุพยัญชนะ แต่ขณะใดที่เริ่มเข้าใจ แม้เริ่มเข้าใจว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นไม่ได้สนใจ ชั่วขณะนั้นไม่ได้สนใจในนิมิตอนุพยัญชนะ และจะรู้ว่า การที่จะละคลายความติดข้องในนิมิตอนุพยัญชนะ เพราะมีความรู้เพิ่มขึ้นว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เคยเป็นอะไรมาก่อนก็ตามแต่ ถ้าเข้าใจถูกต้องว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ต่างกันไหมคะ ความรู้ความเข้าใจว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ละคลายความที่จะไปจำว่า เป็นคนที่เที่ยง ยั่งยืน มีสัตว์ มีบุคคล ในสิ่งที่กำลังปรากฏ

        เพราะฉะนั้นกว่าจะมีความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ก็ไม่ใช่ว่าเราไปมีความเข้าใจคำแปลของคำว่า “สติปัฏฐาน” โดยที่ไม่รู้ว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏ และความเข้าใจต้องเริ่มจากการฟังเข้าใจ

        ผู้ฟัง กราบขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ ได้ฟังอาจารย์วันนี้ก็พอเข้าใจขึ้นมาบ้างค่ะ

        สุ. ค่ะ สะสมความไม่รู้ สะสมความไม่เข้าใจในสิ่งที่ปรากฏมานาน พอเริ่มที่จะเข้าใจนิดหนึ่ง นิดเดียว แล้วก็เคยมีการสะสมความไม่เข้าใจ ความไม่เข้าใจนั้นก็ต้องมีโอกาสเกิดมากกว่า จนกว่าความเข้าใจนั้นจะมั่นคง

        ด้วยเหตุนี้ ลองพิจารณาว่า ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิตเกิดแล้ว ดับไปแล้วก็จริง แต่เป็นปัจจัยสะสมสืบต่อที่จะทำให้มีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แม้เป็นเรื่องเดิม คำเดิม เหมือนเมื่อวานนี้ทุกอย่าง แต่ความเข้าใจก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น นี่เป็นการสะสมความรู้ความเข้าใจ ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้าจะกล่าวถึงชีวิตประจำวันของคนทั่วๆ ไป บางขณะเป็นกุศล บางขณะเป็นอกุศล ก็สะสมเป็นปัจจัย ทั้งฝ่ายกุศล และอกุศล คือ สะสมทั้ง ๒ อย่าง แต่สำหรับความเข้าใจที่จะทำให้สามารถออกจากสังสารวัฏฏ์ เพราะมีความเห็นถูก เป็นโพธิปักขิยธรรม เป็นธรรมฝ่ายการตรัสรู้ คือ รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ใช้คำว่า “เจริญ” เพราะเหตุว่าแม้กุศลทั่วๆ ไป ธรรมดาก็สะสมไป แต่ยังไม่ได้อบรมเจริญความเห็นถูก สติปัฏฐานก็จะต้องมีสิ่งที่กำลังปรากฏ และสติซึ่งเป็นสติปัฏฐานก็คือ สัมมาสติที่เกิดร่วมกับสัมมาทิฏฐิในขณะที่กำลังเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ขณะนี้เป็นการเจริญโพธิปักขิยธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายที่จะดับทั้งกุศล และอกุศลที่ได้สะสมมา

        ผู้ฟัง กราบขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ

        สุ. และเจริญได้แค่ไหน ใครรู้ ตัวเองรู้ เพราะเป็นความเข้าใจถูก ไม่ใช่ความเข้าใจผิด

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 313


    หมายเลข 12309
    24 ม.ค. 2567