คิดถึงคนอื่น ขณะนั้นจริงๆ แล้วมีคนอื่นหรือเปล่า


        สุ. ซาบซึ้งถึงบุคคลที่ได้เฝ้าพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมในขณะนั้น ได้เห็นศรัทธาของสุเมธดาบส ได้ฟังคำพยากรณ์แล้วปีติที่ว่า ถึงแม้จะไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมในสมัยของพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ร่าเริงเบิกบานที่มีโอกาสที่จะสามารถเข้าใจถูก เห็นถูกในสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต่อๆ ไป บุคคลในครั้งนั้นกำลังเฝ้า กำลังฟัง ได้รับฟังคำพยากรณ์ รู้สึกปีติยินดี ที่มีโอกาสจะได้ฟัง และรู้แจ้งสภาพธรรม และบุคคลในครั้งนี้ได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง หรือว่าเคยฟังมาแล้ว แต่ว่าความเข้าใจเพิ่มขึ้นจนกว่าจะรู้แจ้ง ปีติไหมคะ มีโอกาสที่ได้ยินได้ฟัง เพียงแค่ได้ฟังก็ปีติได้ เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่สามารถรู้ความจริง ไม่ใช่ความเท็จ ไม่ใช่สิ่งที่หลอกลวง ไม่ใช่ความไม่รู้ แต่เป็นการประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรม

        ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังว่า ธรรมคืออะไร อนัตตาคืออะไร เราก็จะมั่นคงในแนวทางที่พร้อมจะพิสูจน์ได้ว่า เป็นอย่างนั้นจริงๆ

        สุ. กว่าจะขยับพ้นจากอำนาจของโลภะที่ครองมาแสนนาน จากความเห็นผิด ความไม่รู้ไปสู่ความเห็นถูกแม้ขั้นฟัง ฟังเข้าใจจริงๆ เรื่องของการรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่ตัวตนที่จะไปบังคับ หรือไปพยายาม ไปพากเพียร ต้องเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เป็นหนทางที่เป็นสายกลาง คือ รู้ว่าอะไรเป็นเหตุที่จะให้ปัญญาเจริญขึ้น แต่ในขณะที่รู้ก็ไม่ใช่มีความเป็นตัวตนไปทำ ไปสร้าง เพื่อหวังจะได้ผลอย่างนั้น

        นี่ก็เป็นความละเอียดที่จะต้องเข้าใจจริงๆ ในความหมายของคำว่า “อนัตตา”

        ผู้ฟัง ถ้าเราเข้าใจจริงๆ ว่า อนัตตาคือสิ่งที่บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดดับตามเหตุปัจจัย เราก็จะสามารถรู้ได้ว่า ถ้ามีให้ทำอะไรที่นอกเหนือจากการเกิดดับตามเหตุปัจจัย และเกิดขึ้นเองบังคับบัญชาไม่ได้

        สุ. ถ้าไม่มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูก จะมีประโยชน์ไหมคะ มีสภาพธรรมปรากฏ เคยไม่รู้อย่างไร ก็ไม่รู้อย่างนั้น เคยไม่เข้าใจอย่างไร ก็ไม่เข้าใจอย่างนั้น เคยเข้าใจผิดอย่างไร ก็เข้าใจผิดต่อไปอย่างนั้น จะมีประโยชน์ไหมกับการฟัง

        เพราะฉะนั้นสำคัญที่สุด ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก

        ผู้ฟัง บางครั้งเราไม่แน่ใจว่า ที่เขามีการอบรมศีล สมาธิ ปัญญา

        สุ. เขานั่นคงไม่สำคัญเท่าความเห็น ความถูกต้องของแต่ละบุคคล จัดการทำอะไรไม่ได้เลย แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เปลี่ยนแปลงของพวกเดียรถีย์ ความเห็นอื่นไม่ได้ จะไปกังวลทำไมคะ

        ผู้ฟัง ไม่ใช่ค่ะ บางครั้งบางทีเราก็เหมือนกับว่า แนวทางนี่ยากมาก และก็เข้าใจยากจริงๆ ก็เลยไม่แน่ใจว่า มีแนวทางอื่นที่ทำให้เราสามารถเข้าใจธรรมได้อีกหรือเปล่า

        สุ. และแนวทางอื่น เราจะไปหาที่ไหน

        ผู้ฟัง ถึงได้เรียนถามอาจารย์ว่า ถ้าเรามั่นใจว่า อนัตตา คือ บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดดับตามเหตุปัจจัย เราก็มีหลักตรงนี้

        สุ. ยังไม่ต้องพูดถึงสำนักใดๆ นะคะ แล้วแนวทางอื่น แค่ความคิดว่า แล้วแนวทางอื่น เราจะไปหาที่ไหน ในเมื่อสภาพธรรมขณะนี้กำลังมี แล้วแนวทางอื่นที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม คืออะไร ที่ไหน จะมีได้อย่างไร เป็นปัญญาของเราเอง ที่จะไตร่ตรองว่า จะมีได้หรือไม่ได้ ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่า ขณะนี้เป็นธรรมจริงๆ มีจริงๆ กำลังปรากฏ เกิดแล้วด้วย แล้วไม่รู้ค่ะ เพราะฉะนั้นจะรู้ จะเข้าใจ หรือจะไม่รู้ ไม่เข้าใจ และการที่จะรู้ได้เข้าใจได้ เข้าใจได้ คืออย่างไร ลองหาทางอื่น ที่ไม่ใช่การฟัง การไตร่ตรองในเหตุผล ในความเป็นจริง ในสภาวะของสิ่งที่ปรากฏอย่างนี้

        ผู้ฟัง จริงๆ บางครั้งถ้าไม่เริ่มต้นที่ธรรมคืออะไร และเป็นอนัตตาอย่างไร พอคนแปลมรรค ๘ ก็ต้องบอกสรุปรวมว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ไปถือศีล ไปทำสมาธิ แล้วปัญญาก็จะเกิด ซึ่งตรงนี้เขาก็ถือว่า เขาแปลมรรคมีองค์ ๘ มาเหมือนกัน ไม่ได้คิดขึ้นเอง

        สุ. มิจฉาญาณหรือเปล่า

        ผู้ฟัง อย่างนี้ก็วกมาสู่ว่า ถ้าเราเข้าใจผิดตรงนั้น ก็จะทำให้เห็นผิด ทำให้ผิดไปหมดเลย

        สุ. ส่วนใหญ่บางคนก็อดไม่ได้ที่จะคิดถึงคนอื่น แต่จะเปลี่ยนแปลงหรือเข้าใจถูกได้ไหมว่า ขณะนั้นจริงๆ แล้วมีคนอื่นหรือเปล่า นี่ต้องเริ่มแก้ไขความเห็นของเราแล้ว ใช่ไหมคะ ขณะที่กำลังคิดถึงคนอื่น มีคนอื่นจริงๆ หรือเปล่า

        ผู้ฟัง จริงๆ ไม่มีค่ะ มีแต่สภาพธรรม

        สุ. นี่ก็แสดงให้เห็นว่า จะต้องเข้าใจอีกมากมายให้ตรงตามความเป็นจริง ไม่หลงตามไปกับเรื่องราว ความคิดเดิมๆ จิตขณะที่คิดเป็นอย่างไรคะ เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เขาเห็นผิด เขาเข้าใจผิด ถ้าคิดอย่างนี้ ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล

        ผู้ฟัง อกุศลจิตของเราที่ไปคิดอย่างนั้น

        สุ. ค่ะ เราอาจจะไตร่ตรองกล่าวชื่อ แต่จริงๆ เรารู้หรือเปล่า สภาพธรรมนั้นดับแล้ว

        ผู้ฟัง ณ ตอนนี้ยังค่ะ ได้แต่รู้เรื่อง

        สุ. ค่ะ เพราะยังไม่รู้ลักษณะของจิต ยังไม่รู้อะไรๆ ทั้งนั้นเลย แม้เกิดขึ้นปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็ได้ยินแต่ชื่อกับเรื่องราวของสภาพธรรมนั้นๆ

        ผู้ฟัง อย่างนี้ก็ต้องฟังให้เข้าใจขั้นฟังเรื่องราวมากพอ

        สุ. แน่นอนที่สุดค่ะ สุตตมยปัญญา สัจญาณ ปัญญาที่มีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกในอริยสัจธรรม รู้ว่าอะไรเป็นสัจจะ เป็นธรรม เป็นอริยะได้อย่างไร

        ผู้ฟัง ก็คงต้องฟังบ่อยๆ เนืองๆ

        สุ. ไม่รอบคอบไม่ได้ ไม่ละเอียดไม่ได้ ประมาทไม่ได้ คิดว่าเข้าใจแล้วก็ไม่ได้

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 314


    หมายเลข 12314
    24 ม.ค. 2567