การศึกษาต้องมั่นคงตั้งแต่ต้นอย่างไร


        ผู้ฟัง ความเข้าใจที่เราพูดออกมาถูกหรือผิด อย่างเมื่อวานนี้เล่าออกมา คุณธิดารัตน์ก็บอกว่า อันนี้ไม่ใช่ ไม่ถูก การเข้าใจพระธรรม บางทีก็คลาดเคลื่อน เพราะว่าพระธรรมเข้าใจยากมากจริงๆ ค่ะ

        สุ. เวลาที่คนอื่นเขาบอกว่า ถูก เรารู้เลยว่าถูก หรือเราพิจารณาว่า สิ่งที่เขาพูดชี้แจงนั้นถูกต้อง

        ผู้ฟัง หนูก็ถามอาจารย์อีกทีหนึ่งว่า ความเข้าใจที่หนูฟังจะเข้าใจถูกหรือผิด

        สุ. เพราะฉะนั้นใครจะพูดว่าอย่างไรก็ตาม คำตอบจะว่าอะไรก็ตาม เราเชื่อเมื่อมีคนบอกว่าถูก เราเชื่อว่าผิดเมื่อมีคนบอกว่าผิด หรือว่าฟังคำพูดแล้วก็ไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจความจริงว่า ที่ถูกต้องนั้นคืออย่างไร

        เพราะฉะนั้นการสนทนาธรรมมีประโยชน์นะคะ สนทนาธรรมไม่ใช่ถามตอบว่าถูกผิด แต่สนทนาธรรม คือ ฟังความเห็น ฟังความคิด ฟังความเข้าใจของแต่ละบุคคลว่า สามารถจะเข้าใจแง่มุมต่างๆ ของธรรมได้ถูกต้อง กว้างขวางลึกซึ้งแค่ไหน เพื่อเราจะได้ไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความเข้าใจของเราเอง

        อ.ธิดารัตน์ คุณนภาจะอธิบายว่า เวลาที่มองจุดหนึ่ง แล้วส่วนอื่นที่ไม่ได้สนใจมองนั้น เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หนูก็เลยอธิบายว่า ถ้าหากว่ายังมีการสนใจว่า เป็นจุดหนึ่งจุดใดอยู่ หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ ขณะนั้นคือสนใจทั้งนิมิต และอนุพยัญชนะ ยังไม่ใช่เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นการสนทนากันอย่างนี้ค่ะ ท่านอาจารย์

        สุ. ถ้าเป็นเรื่องของความเห็นถูก อย่าลืมนะคะ การฟังธรรมตั้งแต่ขั้นต้น เห็นถูก เข้าใจถูก เราจะต้องมานั่งเรียกชื่อสภาพธรรมที่เกิดในขณะนั้นหรือเปล่า แต่เริ่มว่า ไม่ใช่ตัวตน ที่สำคัญที่สุดจากการฟัง ฟังเพื่อให้มีความเข้าใจที่มั่นคงว่า เป็นธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ขณะนี้ก็เป็นธรรมหมดเลย วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก ปีติเจตสิก อะไรก็ตามแต่ เกิดแล้วทำงานแล้ว ดับไปแล้วทั้งนั้น ก่อนที่จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร

        เพราะฉะนั้นการศึกษาต้องมั่นคงตั้งแต่ต้น คือไม่ลืมว่าเป็นธรรม และถ้าธรรมใดยังไม่ได้ปรากฏ เราจะไปเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ไหม ในเมื่อไม่ได้ปรากฏ แต่ขณะใดก็ตามที่มีธรรมใดปรากฏ จากเดิมที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจ ก็คือเริ่มที่จะรู้ลักษณะ มีลักษณะจริงๆ อย่างแข็งปรากฏ ก็เคยปรากฏมาแล้วทั้งนั้น แต่ไม่เคยใส่ใจที่จะเข้าใจว่า แข็งเป็นแต่เพียงสภาพธรรมจริงๆ ไม่ใช่โต๊ะ ไม่ใช่เก้าอี้ ไม่ใช่อะไรเลย ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน ที่ไหน แข็งก็เป็นแข็ง ถ้าขณะนั้นกำลังรู้แข็ง เราก็จะไม่คิดเรื่องโต๊ะ เรื่องเก้าอี้ เรื่องอะไร และถ้ามีความเข้าใจถูกต้องในความเป็นธรรม ขณะนั้นก็คือว่า สติเกิดหรือเปล่า ถึงได้รู้ลักษณะนั้น ปัญญามีความเข้าใจถูกหรือเปล่า ถึงได้รู้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ขณะนั้นจะเข้าใจความหมายของคำว่า “ตามรู้” เพราะกำลังมีแข็งปรากฏ และสติที่รู้ลักษณะของแข็ง และปัญญาที่เริ่มจะรู้ว่า เป็นลักษณะของธรรม ซึ่งลักษณะของธรรมนี่ตลอดวัน ทางตาก็อย่างหนึ่ง ทางหูก็อย่างหนึ่ง ทางจมูกก็อย่างหนึ่ง ทางลิ้นอย่างหนึ่ง ทางกายอย่างหนึ่ง ทางใจอย่างหนึ่ง ไม่เคยรู้เลย นึกคิดเป็นเรื่องเป็นราวทั้งหมดเลย และก็มีความทรงจำด้วยความไม่รู้มาตลอดว่า มีคน มีสัตว์ มีวัตถุสิ่งต่างๆ จริงๆ คนนั่นแหละเกิดแล้วก็ตายไป แต่ไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงถ้าไม่มี ปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูป จะมีคนเกิด คนตายไหม

        เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว เริ่มฟังให้รู้ว่า ธรรมเป็นธรรม ค่อยๆ เข้าใจขึ้น และไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องคนนั้นคิดอย่างไร คนนี้คิดอย่างไร แต่เมื่อฟังแล้ว รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ได้ยินคำว่า “ธรรม” เข้าใจธรรมแค่ไหน แค่ชื่อ รู้ว่าขณะนี้มี แต่ว่าลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างก็ไม่ได้ปรากฏว่า เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ซึ่งความจริงก็คือว่า เมื่อปรากฏต้องเกิด เกิดแล้วก็ต้องดับ

        เพราะฉะนั้นจากการเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง วันหนึ่งก็คลายการยึดมั่นว่า มีคนจริงๆ เพราะรู้ว่า เป็นลักษณะของสภาพธรรมเท่านั้นจริงๆ จนกว่าจะมีการคลายมากขึ้น สามารถแทงตลอดลักษณะซึ่งเป็นธาตุแต่ละอย่าง ซึ่งไม่ปะปนกัน จนกระทั่งปัญญาอบรมเจริญขึ้น ก็สามารถประจักษ์ความจริง คือ การเกิดขึ้นแล้วดับไปของสภาพธรรมได้

        เพราะฉะนั้นปัญญาที่เริ่มเกิด ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามลำดับ แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรงที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม แล้วก็หลงลืมสติ หรือว่าสติกำลังรู้ลักษณะหนึ่ง เพียงสั้นๆ เพราะว่าจิตเกิดดับเร็วมาก สติเกิดดับพร้อมจิต เพราะฉะนั้นชั่วขณะที่มีลักษณะกำลังปรากฏให้รู้ ก็ต่างกับกำลังฟังเรื่องแข็ง โดยที่ลักษณะแข็งไม่ได้ปรากฏกับสติ เพราะว่าแข็งปกติก็จะปรากฏกับจิตที่รู้แข็ง ทางกาย กระทบตรงไหน จิตก็รู้แข็งตรงนั้น แต่ลักษณะของสติสัมปชัญญะ คือ มีความเข้าใจตรงแข็ง สภาพนั้นเป็นธรรมอย่างหนึ่ง จนกว่าทั้งหมดในชีวิตประจำวันก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 314


    หมายเลข 12315
    24 ม.ค. 2567