เริ่มมีศรัทธาที่จะเข้าใกล้ลักษณะของธรรมบ้างหรือเปล่า


        อ.วิชัย เมื่อศึกษาธรรมมากขึ้น ก็ค่อยๆ มีความเข้าใจว่า โดยความไม่รู้ เป็นปัจจัยให้เกิดความยึดถือ ด้วยตัณหาบ้าง มานะบ้าง ทิฏฐิบ้าง จากความเข้าใจก็รู้ว่า ชีวิตประจำวันก็เต็มไปด้วยความไม่รู้ และการสั่งสมความเข้าใจให้ปัญญาค่อยๆ เริ่มเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น บางครั้งรู้สึกว่ายากในการเจริญปัญญาที่จะหลีกจากการยึดถือความเป็นตัวเรา

        ท่านอาจารย์ ก็ต้องเป็นผู้ที่จริงใจ ธรรมยากแล้วเราจะไปเปลี่ยนให้ง่าย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อเกิดมาแล้วมีโอกาสได้ฟัง และค่อยๆ ได้สะสมความเห็นถูก ก็ทำให้การสะสมสืบต่อไปจนกระทั่งมีโอกาสได้ฟังอีก มีโอกาสเข้าใจถูก เห็นถูกอีก แค่นี้จะพอไหมคะ นี่เรายังไม่รู้จักโลภะมากพอที่จะรู้ว่า แทรกเข้ามาได้ทุกโอกาส ทุกขณะเลย ขณะใดที่รู้สึกว่าช้า ขณะใดที่รู้สึกว่าเมื่อไรจะรู้สักที แล้วก็แสนยาก ขณะที่รู้ว่า ยาก และเกิดปีติว่าได้มีโอกาสได้ฟังสิ่งที่แสนยาก และจะดีกว่าไม่ได้ฟังเลยไหมคะ เพียงแค่ได้ฟังสิ่งที่แสนยาก ก็น่าจะปีติแล้ว เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่มีการได้ฟังอย่างนี้เลย และสิ่งที่ยากเป็นสิ่งที่สามารถจะอบรมจนกระทั่งเข้าใจขึ้น จนกระทั่งละคลายความเป็นตัวตน และความไม่รู้ได้ด้วย แต่ก่อนอื่นต้องเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ไม่รู้คือไม่รู้ และรู้ก็คือรู้ และรู้ระดับไหน ก็คือระดับนั้น ไม่มีความอยากเพิ่มขึ้นโดยไร้เหตุที่ว่า ไม่มีทางเลยที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่เป็นอริยสัจจะ ถ้าไม่มีความเข้าใจถูกจนมั่นคงจริงๆ ว่า ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาแค่นี้เอง และคิดดูว่า เราฟังนานเท่าไรกว่าสังขารขันธ์จะปรุงแต่งให้รู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ และรู้ขณะนี้เพราะคิด หรือเพราะสติสัมปชัญญะ ซึ่งสติสัมปชัญญะเกิดแล้วดับ เร็วมาก แต่แม้กระนั้นก็มีความต่างกัน และจะรู้ได้ด้วยว่า ถึงแม้เป็นสิ่งที่ได้สะสมมา แต่การที่จะปรุงแต่งจนกระทั่งเป็นแม้ความคิดถูก หรือแม้เป็นสัมมาสติที่เป็นสัมปชัญญะที่กำลังรู้ลักษณะ แล้วก็หมดไป ก็จะต้องมีความอดทนต่อไปอีกว่า ได้รู้ความจริง ได้รู้ของจริง ซึ่งไม่ใช่ของปลอม และสามารถค่อยๆ เข้าใจไปเรื่อยๆ เมื่อไรก็เมื่อนั้น

        อ.วิชัย แสดงว่าแม้ความคิดตอนนั้น ถ้าไม่ใช่ปัญญา ก็เป็นตัวเราที่มีความคิดอย่างนั้น ใช่ไหมครับ

        ท่านอาจารย์ สัมมาสังกัปปะ มีหลายระดับ การตรึกที่ถูก ลองคิดดูว่า วันหนึ่งๆ เรามีความคิดถูกบ้างหรือเปล่า ถ้าในขณะที่ไม่ได้ฟังธรรม ตื่นมาคิดถูกหรือเปล่า เป็นสัมมาสังกัปปะ เป็นความตรึกหรือเป็นความคิดด้วยกุศลหรืออกุศล แค่นี้เราก็มองเห็น ใช่ไหมคะ ว่าจริงๆ แล้วแม้แต่ความเห็นถูกว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ที่มั่นคง เริ่มมีศรัทธาที่จะเข้าใกล้ลักษณะของธรรม เพื่อที่จะเห็นถูกว่า ไม่ใช่ตัวตน ศรัทธานี้เมื่อมีแล้ว ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นได้ ถ้าเห็นประโยชน์ แต่จะรู้ว่าทั้งหมด ไม่ใช่มีตัวเราที่สามารถจะไปเปลี่ยนแปลง ดลบันดาลให้ชาตินี้มีมากๆ ให้เข้าใจมากๆ แต่เป็นผู้ที่ตรงว่า ธรรมที่ทรงแสดง ทรงแสดงโดยละเอียดเพื่อละความไม่รู้ เพื่อให้เริ่มมีปัจจัยน้อมไปเข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

        เพราะฉะนั้นเป็นตัวเองตามการสะสม ถ้าคิดที่จะเปลี่ยนแปลง ผิดหรือถูก

        อ.วิชัย คลาดเคลื่อนผิดไป

        ท่านอาจารย์ โลภะก็มาอีกแล้ว เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แล้วผู้ที่ได้สะสมปัญญาที่สามารถจะไม่เป็นทาสของโลภะ ตามลำดับขั้น คือ ไม่เห็นผิดว่า การที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมโดยไม่ฟังให้เข้าใจ นี่คืออาจจะมีบางท่านที่มีความเห็นอย่างนี้ ซึ่งผิด เหมือนหลงทาง คนที่หลง รู้ไหมคะว่ากำลังหลง หรือไปทางไหน อาจจะเข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นทางถูก จึงได้ไปทางนี้บ้าง ไปทางนั้นบ้าง แต่ความจริงก็คือไม่รู้หนทางที่แท้จริง

        เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดถึงธรรม ไม่ใช่ธรรมบรรทัดหนึ่ง ข้อความหนึ่ง แล้วคิดเองหมด นั่นคือผิด คิดเองไม่ได้เลย แต่จะต้องรู้ว่า ธรรมที่มีโอกาสได้ฟังว่าเป็นความจริง ความจริงต่อจากนั้นไปมีอะไรอีก ที่จะเพิ่มเป็นความจริงที่รู้ว่า ถ้าไม่รู้ความจริงอย่างนั้นก็ไม่สามารถละความเป็นตัวตนได้ เพราะว่าความเป็นตัวตนลึกมาก และโลภะก็ตามตลอด โดยที่ไม่รู้เลย แม้แต่ความคิดที่จะเป็นความคิดถูก เพียงแค่คิดว่า ความกตัญญู รู้คุณของผู้มีคุณเป็นกุศล แค่นี้ก็คิดไม่ออกสำหรับคนที่ไม่ได้สะสมมาที่จะคิดถูก เห็นถูก ในเรื่องที่ดูเหมือนธรรมดา ก็คิดไม่ได้ ไม่สามารถแยกได้ว่า อย่างไรถูก อย่างไรผิด

        เพราะฉะนั้นธรรมที่ละเอียดกว่านั้น ที่ทำให้ยึดถือว่าเป็นตัวตน ก็ยิ่งต้องอาศัยปัญญาที่ต้องรู้จริงๆ ค่อยๆ สะสมไป

        ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์ว่า ถ้ารู้ว่ายาก ยากแล้วก็เกิดปีติ

        ท่านอาจารย์ ที่มีโอกาสได้ยินได้ฟังสิ่งที่ยากอย่างนี้ไงคะ

        ผู้ฟัง ทีนี้ถ้าปัญญาไม่เกิด พอยากก็ไม่อยากเรียนแล้ว มีทางเดียว คือ ต้องเจริญปัญญา จึงจะเข้าใจว่า เมื่อได้ยินได้ฟังสิ่งที่ยากแล้วเกิดปีติ

        ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นบารมี ๑๐ ไม่ได้ขาดสัจบารมีเลย ความเป็นผู้ตรงต่อความจริง

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 312


    หมายเลข 12303
    24 ม.ค. 2567