ความเข้าใจสิ่งที่กำลังมี มีในระดับไหน


        บง ถ้าพูดเรื่องเกี่ยวกับอดีต ก็เป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว อนาคตก็ยังไม่ถึง แต่ถ้าเผื่อเป็นปัจจุบัน เหมือนกับเป็นปัจจุบันส่วนกว้าง ก็คือขณะนั้นลักษณะของสติปัฏฐานปรากฏเกิดขึ้น ถ้าเราไม่เคยได้ฟังเรื่องสติปัฏฐานเลย การอ่านพระสูตร เหมือนกับไร้ค่าเลย

        สุ. ไม่ใช่เราเจาะจงไปอ่านสติปัฏฐาน หรืออยากให้มีสติปัฏฐานเกิด แต่ต้องรู้ว่า ความเข้าใจสิ่งที่กำลังมี มีในระดับไหน ยังไม่ต้องไปคิดถึงสติปัฏฐาน ถ้ายังไม่มีความเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตรงตามความเป็นจริง เมื่อมีความเข้าใจถูกต้องตรง ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องสติปัฏฐานเลย เพราะว่าความเข้าใจจากการฟัง เราไม่ได้ฟังแค่พื้นฐานว่า เป็นธรรม ขณะนี้กำลังเกิดดับ แต่จะต้องต่อไปถึงหนทางที่มีความเห็นถูกยิ่งขึ้น และขณะไหนเห็นถูก ขณะไหนเห็นผิดด้วย ถ้าไม่มีความเห็นผิด ต้องละความเห็นผิดไหมคะ

        บง ก็คงไม่ต้องละ ไม่มีอะไรจะละ

        สุ. และความเห็นผิด เกิดขึ้นเมื่อไร ขณะไหน ไม่ใช่เป็นเรื่องฟัง จำ แต่เป็นเรื่องที่จะรู้จริงๆ ว่า ขณะไหนเป็นความเห็นผิด ขณะไหนไม่มีความเห็นผิด

        บง เวลาที่เราได้ฟังธรรมแล้ว วันหนึ่งๆ ก็มีจิตที่เป็นกุศลที่ทำให้ระลึกถึงธรรมได้ อย่างนี้ก็จะยังไม่ใช่ลักษณะที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ใช่ไหมคะ

        สุ. คุณบงอยากจะเรียก หรือรู้ว่าขณะนั้นไม่ได้เข้าใจลักษณะที่กำลังปรากฏแต่ละทางถูกต้องตามความเป็นจริง เช่น ขณะนี้ทุกคนเห็น แล้วมีตา รู้ความจริงของเห็น รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏหรือเปล่า ก่อนที่จะไปคิดว่า แล้วจะเรียกว่า สติปัฏฐานหรือเปล่า ไม่ใช่เป็นเรื่องเรียก แต่เป็นเรื่องที่ตรงว่า ความรู้ของเราระดับไหน ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แต่ถ้าไม่ได้ฟังธรรมโดยละเอียด ต้องเป็นเราแน่นอน เพราะว่าเคยเห็นคน เคยเห็นต้นไม้ เคยเห็นสิ่งของต่างๆ แต่ถ้าฟังแล้ว และมีความเข้าใจจริงๆ ว่า สิ่งที่สามารถจะปรากฏจริงๆ ให้เห็นได้ เป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะที่กำลังปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท จิตเห็นเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้จึงปรากฏลักษณะของสิ่งนี้ได้ ถ้าคนที่ไม่เคยฟัง ไม่เคยคิด ก็คิดว่าจะมาพูดเรื่องเห็นทำไม ธรรมดาที่สุด ตั้งแต่เกิดมาก็มีเห็น แล้วก็จะเห็นไปเรื่อยๆ แต่เคยรู้ความจริงไหมว่า ที่จริงเห็นนี่น่าอัศจรรย์ เพราะว่าคนตาบอดนึกเท่าไร พยายามเท่าไรที่จะเข้าใจว่า มีธรรมอย่างหนึ่งที่สามารถจะปรากฏเป็นสีสันวัณณะต่างๆ มีรูปร่างสัณฐานต่างๆ สมมติเรียกว่า ต้นไม้ ดอกไม้ เรียกคน เรียกสัตว์ต่างๆ เขาไม่มีโอกาสที่สามารถจะเห็นสิ่งนี้ได้เลย น่าอัศจรรย์ไหมว่า ทั้งๆ ที่สิ่งนี้มี แต่ปรากฏได้เฉพาะเมื่อจิตเห็นเกิดขึ้นเท่านั้น

        เพราะฉะนั้นขณะนั้นจะเป็นใคร ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยก็คือว่า เกิดไม่ได้ แล้วจะเป็นเราได้อย่างไร เพียงมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป ถ้าไม่ประจักษ์อย่างนี้ อริยสัจจะก็ไม่มีความหมาย ก็มีความหมายเพียงแต่ชื่อ เพราะเหตุว่าเมื่อธรรมทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะมีปัจจัย ปรากฏ แล้วก็หมดไป การฟังธรรม คือ ขณะนี้เป็นอย่างนี้ แต่ปัญญายังไม่ถึงระดับนั้น ก็ไม่ต้องไปเรียกชื่ออะไรหมด แต่เป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ขณะนี้ฟัง แล้วก็กำลังเข้าใจเรื่องราวของสิ่งที่มีจริงๆ แต่ตัวจริงของสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก ทั้งจิต และเจตสิกมากมายนับไม่ถ้วน

        บง ท่านอาจารย์ยกตัวอย่างคนตาบอดก็จะเห็นไม่ได้ ก็เปรียบเหมือนว่า ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด อธิบายอย่างไรก็คงเข้าใจไม่ได้

        สุ. แต่ก่อนที่จะถึงสติปัฏฐาน ต้องฟังธรรมให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้เพิ่มขึ้นว่า ไม่ใช่เรา

        ก็มีท่านที่บอกว่า ฟังมาเท่าไรก็ยังคงเป็นเราอยู่ ผู้ที่รู้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ท่านฟังมานานเท่าไร แต่ละท่าน ไม่ใช่ชาติเดียว

        เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่แม้มีจริง และความจริงนี้ก็จะไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น แต่ต้องอาศัยความอดทน และกาลเวลาที่จะรู้ตัวเองว่า ค่อยๆ เข้าใจขึ้นในสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ หรือยัง ยังเลย พูดไปเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา พูดไปเรื่องคนตาบอดไม่มีโอกาสจะเห็น พูดไปว่าต้องมีเหตุปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้นปรากฏ แล้วก็หมดไป แต่ก็ยังไม่ได้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า ขณะนี้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างหนึ่ง และคิดนึกเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุว่าขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตาแน่นอน เพราะมีจิตเห็น ไม่ใช่เพราะเราเห็น เพราะมีจิตเห็น คิดถึงเรื่องอื่นหรือเปล่าคะ คิดถึงเรื่องอื่น คิดไม่ใช่เห็นแน่ๆ เพราะขณะนั้นกำลังเป็นเรื่องอื่น ไม่ได้รู้เลยว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้เป็นอะไร

        เพราะฉะนั้นก็สามารถจะแยกได้ว่า คิดเป็นอย่างหนึ่ง และเห็นเป็นอย่างหนึ่ง และคิดตามสิ่งที่ปรากฏเพราะความจำทางตาก็อีกอย่างหนึ่ง ทำให้เหมือนกับว่า มีคนอยู่ตลอดเวลา

        พูดบ่อยๆ ไปอีกนานเท่าไร ก็เพื่อจะเกื้อกูลให้ค่อยๆ น้อมไป ไม่มีใครสามารถจะไปกลับความเห็นผิดให้เป็นความเห็นถูกได้ทันที และถ้าจะพูดถึงเรื่องอกุศลที่ทุกคนเห็นโทษ และคิดว่าไม่น่าจะมีเลย ใครยังคิดว่ายังมีอกุศลเยอะๆ ดี ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แต่ผู้ที่เริ่มเห็นโทษของอกุศล ก็จะรู้ได้ว่า การจะละอกุศล ทั้งๆ ที่ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มี เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย จะให้ละความพอใจ ความติดข้อง โดยไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงสิ่งที่ติดข้องก็เพราะปรากฏทางตาเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ แล้วก็จำไว้ มีความพอใจในสิ่งนั้น เมื่อเห็นอีก ก็เกิดความพอใจอีก แต่ว่าสิ่งนั้นก็ดับไปแล้ว ไม่เหลือเลย

        เพราะฉะนั้นการดับกิเลสเป็นเรื่องต้องอบรมเจริญปัญญานาน ต้องเป็นความรู้จริง และถ้าไม่รู้ความจริงอย่างนี้ ก็ไม่สามารถดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีความเห็นถูกซึ่งเป็นปัญญา ตรงกันข้ามกับอวิชชา เมื่อมีความเห็นถูก ก็คือว่า เป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน จึงสามารถดับอกุศลอื่นๆ โดยที่รู้ความจริงก่อนว่า เป็นธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน คือ สามารถเห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมนั่นเอง

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 310


    หมายเลข 12293
    24 ม.ค. 2567