ไม่ใช่เราศึกษา-คิดด้วยความเป็นเราเรื่องสติปัฏฐาน


        สุ. ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรม ไม่ใช่เราศึกษา แต่ว่าเป็นปัญญาที่เริ่มเข้าใจตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นถ้าปัญญาไม่เกิด ไม่เข้าใจเพิ่มขึ้น ก็เป็นการนึกคิดด้วยความเป็นเราเรื่องสติปัฏฐาน อยากจะคิดเรื่องสติปัฏฐาน ไม่อยากจะคิดเรื่องอื่น แต่ไม่ใช่ไปให้คิดเรื่องสติปัฏฐาน ให้เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏจากการฟัง และการสนทนาเพิ่มขึ้น ไม่ต้องห่วงเรื่องสติปัฏฐาน ถ้าใครไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วคิดว่าเข้าใจสติปัฏฐาน ทำสติปัฏฐาน ก็ผิด ไม่ใช่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็หลงเข้าใจว่า เป็นธรรมที่เข้าใจแล้ว แต่ความจริงไม่ได้เข้าใจ เพราะถ้าเข้าใจจะทำหรือเปล่า ขณะนี้จะทำอะไร ทำอะไรได้ ทำสติได้ไหม ทำวิริยะได้ไหม แต่รู้ว่ามีแล้วในขณะที่เป็นกุศล

        สุกัญญา อย่างนั้นการที่เราฟังแล้วเราเข้าใจว่า สภาพธรรมต่างๆ มีจริง แต่เรายังไม่สามารถตอบได้ว่า สติปัฏฐานคืออะไร

        สุ. เดี๋ยวก่อนค่ะ จะไปตอบใคร

        สุกัญญา ตอบแม้กระทั่งตัวเอง

        สุ. ทำไมต้องมาถามตัวเอง และตอบตัวเอง ไม่เข้าใจก็คือไม่เข้าใจ ก็ฟังให้เข้าใจ มีตัวจริงๆ เลย ทั้งๆ ที่ตัวไม่มี แต่ในความรู้สึกมีตัวจริงๆ กำลังฟังธรรม ก็เป็นตัว จะคิดก็เป็นตัวที่ถาม และจะคิดก็เป็นตัวที่ตอบ ก็แสดงให้เห็นว่า ยังมีความเป็นตัวตนหนักแน่นมากมาย ไถ่ถอนยากสักแค่ไหน

        เพราะฉะนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องรีบร้อน แต่เป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ตัวมีหรือเปล่า แล้วทำไมต้องมานั่งถามตัว แล้วทำไมจะต้องตอบตัว เรื่องอะไรคะ อยู่ดีๆ ก็ถามตัว อยู่ดีๆ ก็ตอบตัว

        สุกัญญา คือจริงๆ แล้ว สภาพที่ถามตนเองหรือมีคำตอบให้ตนเอง ก็คือสภาพคิดนึก ซึ่งในขณะที่เราฟังธรรมแล้วเกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้น จะห้ามความคิดต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ยาก

        สุ. ทำไมถึงคิดจะห้ามความคิดที่ต่อเนื่อง นี่ผิดแล้ว ธรรมคือสิ่งที่มี เป็นอนัตตา ลืมคำนี้ได้อย่างไร ทั้งหมดที่ฟังแต่ละชาติ แต่ละภพ แต่ละครั้งที่ได้ยิน เพื่อให้มีความเข้าใจมั่นคงในความเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใคร แต่เป็นธรรมซึ่งเกิดเมื่อมีปัจจัย

        นี่เป็นสิ่งที่จะต้องมั่นคงไปแต่ละชาติ ถ้ายังไม่มีความมั่นคงอย่างนี้ ก็เป็นเราไปตลอดที่ศึกษาธรรม ฟังธรรม เข้าใจธรรม ก็เป็นเราหมด ไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่า เป็นธรรม คุณสุกัญญาจะห้ามคิดหรือเปล่า

        สุกัญญา ไม่ห้ามค่ะ

        สุ. เพราะฉะนั้นไม่มีคำนี้อีกนะคะ ที่จะห้ามไม่ได้

        สุกัญญา ค่ะ เมื่อเกิดความคิดนึกขึ้นมา ไม่รู้ ก็คือไม่รู้

        สุ. ถูกต้อง เปลี่ยนได้ไหมให้เป็นรู้

        สุกัญญา เปลี่ยนไม่ได้ แต่ก็ต้องมีลักษณะของความต้องการที่จะรู้

        สุ. ความต้องการเปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม

        สุกัญญา ก็ไม่ได้

        สุ. ค่ะ นี่แสดงให้เห็นว่า เราไม่รู้ธรรมตลอด ตั้งแต่คิด และก็ต้องการ ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม รู้กับไม่รู้ ลองคิดดูนะคะ ที่กล่าวว่า ไม่รู้ แล้วก็ไม่รู้ทั้งวัน กว่าจะรู้ทั่วหมด ทำไมต้องทั่ว ถ้าไม่ทั่วก็ยังเป็นเรา แล้วก็ยังสงสัย

        ทั่วนี่ ไม่ใช่ในสิ่งที่ยังไม่ปรากฏ ในสิ่งที่กำลังปรากฏนี่แหละ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 307


    หมายเลข 12273
    24 ม.ค. 2567