นามธรรมหรือรูปธรรม


        วิจิตร ถ้าเผื่อเราเล่นกีฬาแล้วเหนื่อย เหนื่อยก็เป็นลักษณะของนามใช่ไหมครับ ถ้าเล่นกีฬาแล้วเหนื่อย วิ่งเอาหัวไปชนเสาโกล์ หัวแตก หรือโดนเตะ ขาหัก อันนี้เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมครับ ที่ว่าเหนื่อย จะเป็นรูปหรือนาม

        สุ. ถูกต้องหรือเปล่า เป็นความรู้สึกหรือเปล่าคะ เหนื่อยเป็นความรู้สึกหรือเปล่า แล้วไม่ใช่ความรู้สึกแล้ว จะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม เป็นผู้ตรงที่จะตอบว่า ความรู้สึกเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม

        วิจิตร เป็นนามครับ

        สุ. ไม่เปลี่ยนนะคะ

        วิจิตร ไม่เปลี่ยนครับ

        สุ. นามธรรมเป็นนามธรรม รูปธรรมเป็นรูปธรรม ถ้าอยากจะรู้ว่า อะไรเป็นนามเป็นรูป ไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมด แต่ต้องถามว่า อะไร สิ่งนี้เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ลักษณะไหนเป็นนามธรรม ลักษณะไหนเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ทั้งเรื่อง เรื่องเป็นความคิดของคุณวิจิตร เพราะฉะนั้นถามว่า อะไรคะที่ต้องการจะรู้ว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม สงสัยว่าอะไร

        วิจิตร ผู้เล่นบาดเจ็บ

        สุ. เจ็บเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม

        วิจิตร เป็นนาม

        สุ. เป็นนามธรรม

        วิจิตร อาการแขนหัก

        สุ. แขนเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

        วิจิตร เป็นรูป

        สุ. เพราะอะไรคะ

        วิจิตร ก็เพราะว่ามันเป็นรูปอยู่

        สุ. ไม่ใช่สภาพที่รู้ค่ะ

        วิจิตร เพราะฉะนั้นอาการแขนหักก็

        สุ. ไม่ใช่อาการแขนหัก แขนเป็นรูป ความรู้สึกเจ็บเป็นนาม คุณวิจิตรเป็นอะไรคะ

        วิจิตร เป็นรูปครับ

        สุ. กับนาม เห็นที่เข้าใจว่าเป็นคุณวิจิตร ก็เป็นนามธรรม ที่กำลังนั่ง ที่เข้าใจว่าเป็นคุณวิจิตร ก็คือรูป ไม่มีคุณวิจิตร แต่มีแต่นามธรรม และรูปธรรม ใครจะเล่นฟุตบอล แขนหัก เจ็บ ก็คือนามธรรมกับรูปธรรม

        อ.นิภัทร คำจำกัดความของคำว่า “รูปธรรม” รูป คือ สิ่งที่ไม่รู้อะไรเลย ภาษาพระท่านบอกว่า อนารัมมณะ คือ รู้อารมณ์ไม่ได้ รูปไม่มีอารมณ์ คิดนึกไม่ได้ รู้อารมณ์อะไรไม่ได้ นี่ต้องเข้าใจให้แน่น ไม่อย่างนั้นจะซัดส่าย พอมีปัญหา เราไม่รู้คำจำกัดความที่ตายตัว เราก็จะเขว ไม่รู้ว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม รูป คือ สิ่งที่ไม่รู้อะไรเลย นาม คือ สิ่งที่รู้ มันแยกกันไม่ออก เพราะว่าเรามีทั้งรูปทั้งนามอยู่ในภูมิของมนุษย์ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จะต้องมีทั้งรูป และนาม แต่ให้รู้ว่า อะไรคือรูป อะไรคือนาม

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 308


    หมายเลข 12277
    24 ม.ค. 2567