จำ


        สุกัญญา ลักษณะของสัญญาเจตสิก คือ มีความสงสัยว่า สัญญาน่าจะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งถือเป็น ๑ ในขันธ์ ๕

        สุ. ขณะนี้มีสัญญาหรือเปล่า

        สุกัญญา มีค่ะ เพราะว่าสัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง

        สุ. สำหรับคนที่เพิ่งจะเริ่มฟังธรรม พอได้ยินคำว่า “สัญญา” ก็ไม่ทราบว่าหมายความว่าอะไร แต่คนที่ฟังแล้วก็จะรู้ว่า ๒ ภาษา มีความหมายต่างกัน คือ ภาษาบาลีจะมีความหมายอย่างหนึ่ง และภาษาไทย และภาษาอื่นๆ ก็ต่างมีความหมายในภาษานั้นๆ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ภาษาก็เป็นคำที่สามารถทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ มิฉะนั้นการศึกษาธรรม ก็จะไม่มีความเข้าใจเลยว่า ศึกษาอะไร ธรรมอยู่ที่ไหน ธรรมคืออะไร แต่เมื่อรู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ความจริงของสิ่งนั้น และทรงแสดงพระธรรม คือ ทรงแสดงความจริงแท้ของสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ด้วย

        เพราะฉะนั้นธรรมมีอยู่ตลอดเวลา แต่ตราบใดที่ไม่มีการฟังพระธรรม ไม่สามารถจะเข้าใจได้ แม้ขณะนี้กำลังนั่งอยู่ที่นี่ แล้วก็เห็น แล้วก็คิด แล้วก็ได้ยิน แล้วก็จำด้วย ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม

        เพราะฉะนั้นเวลาที่เราศึกษาธรรม ไม่ใช่เราไปเอาชื่อมาแล้วสงสัย แต่ความจริงในขณะนี้มีอะไรบ้าง คุณสุกัญญากำลังเห็นอะไรคะ

        สุกัญญา ก็เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

        สุ. เพราะอะไร

        สุกัญญา เพราะว่าเป็นสิ่งที่มีจริง

        สุ. แน่ใจว่าเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตานะคะ เพียงเท่านั้น หรือว่ามีการคิดนึกด้วย

        สุกัญญา มีการคิดนึกด้วย

        สุ. คิดว่าอย่างไรคะ

        สุกัญญา คิดว่าเป็นสัตว์ บุคคล สิ่งของ

        สุ. ขณะนั้นเป็นคุณสุกัญญาที่คิดหรือเปล่า หรือว่าเป็นธรรม

        สุกัญญา เป็นลักษณะของธรรมที่คิด

        สุ. เป็นธรรมหมดทุกอย่าง แต่ว่าเรายังไม่มีความเข้าใจละเอียดว่า ขณะนั้นมีอะไรบ้าง ขณะที่กำลังคิด กำลังจำคำที่คิด หรือสิ่งที่ปรากฏให้คิดหรือเปล่า

        สุกัญญา จำค่ะ

        สุ. เพราะฉะนั้นเวลาที่ได้ยินคำว่า สัญญาขันธ์ เป็นสภาพของเจตสิกที่จำ เราก็ละเลย ไม่ได้สนใจเลยว่า แท้ที่จริงแล้วสัญญาเจตสิกเกิดตลอดเวลาทุกขณะที่จิตเกิด จะไม่มีสัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้เลย แม้แต่ที่คิดแต่ละคำ ถ้าไม่จำคำที่คิด จะมีการคิดถึงคำนั้นได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่มีการเห็นแล้ว รู้เลยว่า มีการจำสิ่งที่เห็น มิฉะนั้นจะไม่รู้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร แต่เมื่อมีเห็นแล้ว ไม่ใช่มีแต่สภาพของจิตซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งความหลากหลายของแต่ละขณะที่เห็น ซึ่งเป็นการเห็นสิ่งที่ปรากฏต่างๆ กัน แต่ว่าแม้จะมีการปรากฏอย่างไรก็ตาม แล้วจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้ง คือ เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่เปลี่ยนลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่ปรากฏมีลักษณะอย่างไร จิตกำลังเห็น คือ รู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นก็จะค่อยๆ เข้าใจว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมที่เห็น ขณะนี้เป็นธรรมที่เห็น แต่ธรรมที่เห็นนั้นเพียงเห็น แต่ขณะที่เห็นเกิดขึ้น จะมีสภาพธรรมอื่นที่เกิดร่วมกับจิต ซึ่งเป็นเจตสิก มีลักษณะเฉพาะแต่ละประเภทซึ่งต่างกับจิต ซึ่งไม่ได้จำ ไม่ได้โกรธ ไม่ได้เสียใจ ไม่ได้ดีใจ แต่เป็นธาตุที่รู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยต่างก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ

        นี่คือการศึกษาธรรมให้เข้าใจสิ่งที่มีในขณะนี้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แม้แต่สภาพที่จำ ก็มี เราใช้คำว่า “จำ” เราเข้าใจได้ แต่ถ้าบอกว่า “สัญญาเจตสิก” บางคนก็อาจจะงง เพราะว่าไม่คุ้นเคยกับความหมายของ “สัญญา” ในธรรม ซึ่งหมายถึงสภาพเจตสิกซึ่งจำ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 308


    หมายเลข 12280
    24 ม.ค. 2567