สนทนาธรรมอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์


        อ.อรรณพ เมื่อสักครู่ ท่านอาจารย์กล่าวว่าให้เป็นประโยชน์ของการรักษาประเพณีที่เป็นประโยชน์ในทางธรรม ก็คือการสนทนาธรรม อยากกราบเรียนถามว่า สนทนาอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์

        สุ. อย่างนี้ค่ะ

        อ.อรรณพ เพราะว่าในการสนทนา ก็มีความสงสัย ความสนใจของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกัน

        สุ. ก็มีอย่างคุณสุกัญญาเมื่อกี้นี้ แล้วเราก็สนทนากันเรื่องสติ สติปัฏฐาน เรื่องความคิดซึ่งเป็นอนัตตา เรื่องโลภะซึ่งเกิดต่อ ก็เป็นธรรมทั้งหมดค่ะ ไม่อย่างนั้นจะเสียเวลาไหมคะ เราอุตส่าห์ศึกษา ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่มีอะไรเลย โลภะก็เป็นเจตสิก มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร ก็เปล่าประโยชน์ ถ้าไม่เข้าใจว่า แท้ที่จริงก็คือสภาพธรรมใน ชีวิตประจำวัน ซึ่งจะรู้ได้ต่อเมื่อสติปัฏฐานเกิด

        เพราะฉะนั้นไม่ใช่เพียงสติขั้นฟัง เราก็จะรู้ว่า มีความต่างของปัญญาระดับฟังกับระดับที่ได้อบรมรู้จักลักษณะของสภาพธรรมทีละเล็กทีละน้อย

        อ.อรรณพ ในการฟัง การศึกษาก็มีการเข้าใจขั้นเรื่องราว และธรรมที่พระองค์ทรงแสดงก็หลากหลายพยัญชนะ มีข้อความ มีหัวข้อธรรมมาก สำหรับการศึกษาของผู้เริ่มศึกษา ก็มีความสนใจเรื่องราวในเรื่องหัวข้อ หรือจำนวน หรือตัวเลข

        สุ. ขอประทานโทษค่ะ รู้ไหมว่า ศึกษาธรรมนี่ศึกษาอะไร

        อ.อรรณพ ศึกษาสภาพธรรมครับ

        สุ. ศึกษาให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏให้ถูกต้อง เพราะสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้เป็นธรรม เพราะฉะนั้นยุ่งเกี่ยวอะไรกับตัวเลขมากๆ อย่างโลภะมีจริง เราจะเริ่มจากการที่ว่า เรามีความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ต้องการสิ่งที่สวยๆ งามๆ ทางหู เสียงเพราะๆ ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ เราก็จะรู้ว่า ขณะนั้นโลภะเป็นไปทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง จะนับไหม และอีกอย่างหนึ่งเวลาที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ความเห็นผิดต้องเกิดเพราะติดข้องพอใจในความเห็นนั้น

        เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็เป็นโลภะซึ่งต่างกับเวลาที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ก็เป็นโลภะประเภทที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย จะนับไหมว่า ความเห็นผิดมีมากมายก่ายกองแค่ไหน และเวลาที่เกิดโลภะ บางครั้งเราก็เฉยๆ ใช่ไหมคะ เอื้อมมือไป ไม่ใช่ไม่ต้องการ ไปหยิบน้ำจะดื่ม นี่ก็คือโลภะที่เกิดร่วมกับความรู้สึกอทุกขมสุข เฉยๆ ให้เข้าใจในขณะนั้น สภาพธรรมนั้น

        เพราะฉะนั้นก็รู้ว่า โลภะเกิดร่วมกับความรู้สึกเฉยๆ ก็ได้ หรือบางครั้งเราก็ปลาบปลื้มปีติเป็นสุข ขณะนั้นก็เป็นโลภะที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ต้องนับไหม ถ้านั่งนับ ขณะนั้นไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเป็นอย่างนั้น แต่ทั้งหมดที่ได้ฟังมา โลภะจะเป็นกี่ประเภท เกิดร่วมกับสภาพธรรมอะไรบ้าง จะแจ่มแจ้งเมื่อสภาพธรรมปรากฏกับสติ จะรู้เลยว่า ลักษณะนั้นโลภะที่เกิดร่วมกับโสมนัส หรือลักษณะของโสมนัสที่เกิดร่วมกับกุศลจิตก็มี ที่เกิดกับอกุศลจิตก็มี

        นี่คือการศึกษาธรรม เพราะฉะนั้นตัวเลขครบ ไม่ใช่ไม่ครับ แต่ว่าความรู้ของเราครบหรือเปล่า เริ่มรู้ลักษณะของแม้โลภะหรือยัง ทั้งๆ ที่พูดถึงโลภะอยู่ตลอดเวลา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตั้งแต่เช้าไม่ขาดเลย ก็จะต้องไปนั่งนับทำไม แต่การที่จะรู้กว้างขวาง ก็คือเป็นโอกาสที่จะเห็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าบุคคลนั้นไม่รู้จริง จะกล่าวถึงความจริงอย่างละเอียดอย่างนี้ได้ไหม เพราะฉะนั้นจำนวนทั้งหลาย ใครรู้ แล้วเรารู้จริงๆ แค่ไหน

        เพราะฉะนั้นธรรมจะทำให้รู้จักตัวเอง ไม่หลอกตัวเอง และรู้ประโยชน์ของการที่จะเข้าใจถูกต้องว่า ศึกษาธรรม คือ ศึกษาให้เกิดความเข้าใจ เห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นธรรม มิฉะนั้นเราจะไปมีตัวเลขมากมาย พอถึงชาติหน้าก็ลืมอีก คนละภาษาไปอีก โดยที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของการศึกษาธรรมค่ะ เพราะฉะนั้นก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า ธรรมคืออะไร และการฟัง คือการเข้าใจอะไร เข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ

        อ.อรรณพ ขณะนี้เราสนทนาธรรมเพื่อเข้าใจพื้นฐานพระอภิธรรม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เรากำหนด การสนทนาพระอภิธรรมในรูปของการสนทนา ซึ่งอภิธรรม มีจิต เจตสิก รูป นิพพาน การที่เราเข้าใจขั้นเรื่องราว ก็ดูว่ามากกว่าปัญญาในขั้นระลึกรู้ที่จะรู้ได้ อย่างเช่นเมื่อสักครู่อาจารย์กล่าวว่า แม้เพียงสภาพที่ติดข้องรู้หรือยัง เพราะฉะนั้นที่จะรู้ความละเอียดของโลภะว่า มี ๘ มีอะไรเกิดร่วมด้วยบ้าง ในขั้นรู้ตรงสภาพหรือประจักษ์ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปได้ละเอียดครอบคลุมได้อย่างนั้น เพราะฉะนั้นการสนทนาเพื่อเข้าใจพื้นฐานพระอภิธรรม ควรจะเข้าใจในขอบเขตขนาดไหน

        สุ. ขอบเขตคือฟังได้เข้าใจแค่ไหน พูดถึงนิพพานตอนนี้ดีไหมคะ ทุกคนส่ายหน้า เพราะอะไรคะ ไม่ใช่ขอบเขตที่จะเข้าใจได้ แต่เราก็จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า การศึกษาแค่ไหน ก็คือในขอบเขตที่เราจะค่อยๆ เข้าใจไปเรื่อยๆ แต่ต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ ไม่มีกฎเกณฑ์ และการศึกษาของคนในครั้งพุทธกาลกับปัจจุบัน ที่ต่างกันก็คือว่า ในยุคนั้นไม่มีหนังสือเลยที่จะมาอ่านกันเป็นเล่มๆ แต่มีการฟัง ฟังเรื่องอะไรคะ เดี๋ยวนี้เราก็กำลังฟัง ฟังเรื่องสิ่งที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ บุคคลในครั้งนั้นก็สามารถที่จะกล่าวถึงความเข้าใจของตนเองได้ตามการสะสม อย่างขณะนี้ทุกอย่างเป็นธรรม ทุกคนก็เข้าใจ เห็นขณะนี้มี เป็นธรรมหรือเปล่า เป็น แต่ไม่ประจักษ์ว่าเกิดดับ ต่างกับบุคคลที่กราบทูลตอบว่า จักขุไม่เที่ยง จักขุวิญญาณไม่เที่ยง สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่เที่ยง แต่ก็เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏนี่แหละ

        เพราะฉะนั้นก็คงจะต้องรู้จักตัวเองว่า ปัญญาของเรายังไม่ถึงการที่จะประจักษ์การเกิดดับ แต่ฟังให้เป็นผู้ที่มีความเห็นถูกว่า สภาพธรรมไม่เที่ยง เพราะว่าเราไม่เคยคิดถึงความไม่เที่ยงของสภาพธรรม เราคิดถึงความไม่เที่ยงของสิ่งซึ่งเราจำได้ คนนั้นตาย คนนั้นเป็นอะไรก็แล้วแต่ ไม่เที่ยง เจ็บไข้ได้ป่วย เคยมามูลนิธิ ตอนนี้ก็ต้องเข้าโรงพยาบาล เราก็อาจจะคิดเพียงแค่นั้น แต่ไม่ได้คิดถึงสภาพธรรมเลย ยังมีความเป็นคน

        เพราะฉะนั้นการฟังธรรมก็คือเพื่อให้เข้าใจธรรม และรู้ว่า การที่เราได้สนทนาพระสูตรบ้าง พระวินัยบ้าง พระอภิธรรมบ้าง ก็ประกอบกันที่จะให้เห็นธรรมตามความเป็นจริงในอดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน และรวมไปถึงอนาคตก็ต้องเป็นอย่างนี้แหละ เปลี่ยนแปลงสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ได้ แต่ทั้งหมดก็คือเพื่อให้เข้าใจถูกว่า ทุกอย่างเป็นธรรมซึ่งเกิดดับ เมื่อเกิดแล้วก็ต้องดับไปทุกขณะ เพราะฉะนั้นขณะนี้มีอะไรเหลือบ้าง มีนิมิต คือ สิ่งที่ปรากฏจากการเกิดดับสืบต่อกัน

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 307


    หมายเลข 12274
    24 ม.ค. 2567