ฟังอย่างไรๆ ก็เราจะทำ


        สุ. เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า สิ่งที่มี ยากที่จะเข้าใจได้ แต่ว่ามีความอดทน หรือเปล่า ต้องเป็นบารมีด้วย ถ้าไม่มีความอดทน จะมีความเข้าใจขึ้นได้อย่างไร เพราะว่าเป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง แม้ในขั้นการฟังก็ลึกซึ้ง เพราะฉะนั้นอดทนที่จะไม่เห็นผิด ไม่เข้าใจผิด ที่จะเป็นไปด้วยโลภะ ที่จะให้โอกาสแก่ปัญญา ที่จะไม่มีโลภะครอบงำ ในขั้นที่ให้ฟัง ให้ไตร่ตรอง ให้เห็นถูก ให้ค่อยๆ อบรมเจริญปัญญา แม้ว่าสติสัมปชัญญะไม่เกิด เพราะว่าเพียงฟัง ยังไม่มีความเข้าใจที่สมบูรณ์ ที่จะมั่นคง ที่จะเป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะเกิด เพราะเราจะทำ ถ้าเราจะทำ ก็ปิดไว้อีกแล้ว ฟังอย่างไรๆ เราจะทำ ก็คือว่า โลภะไม่ได้เปิดโอกาสให้มีสัมมาสติ หรือที่สัมมาสติจะเจริญ แม้จะเกิดขึ้นก็เป็นไปไม่ได้ เพราะมีความเข้าใจอยู่ว่า เราจะทำ

        ด้วยเหตุนี้ การฟังธรรม คือ เพื่อละความไม่รู้ เพื่อละความติดข้อง เพื่อละความเห็นผิด เพื่อละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด และเป็นตัวตน เป็นหนทางที่ละเอียด และเป็นหนทางที่ต้องอดทน แต่ว่าเป็นความรู้ของแต่ละคนจริงๆ ซึ่งถ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงหนทางนี้ หนทางผิดมีเยอะ ง่ายด้วย และไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย แต่เพราะไม่รู้ จึงได้เข้าใจผิด หรือเพราะประมาท หรือเพราะคิดว่า การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม เป็นไปได้ด้วยความเป็นเรา ไม่ใช่ด้วยปัญญา นั่นคือผิดแล้ว แต่ถ้าปัญญาเกิดขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ปัญญาไม่ได้นำโทษใดๆ มาให้เลย ทางของปัญญา เป็นทางที่ทำให้กุศลทั้งหลายเจริญ และเมื่อมีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น ก็จะมีการรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏว่า การฟังขณะนี้ ไม่ใช่ฟังเรื่องราวของสิ่งที่มีจริง แต่กำลังฟังให้เข้าใจลักษณะที่กำลังมี จนกว่าปัญญาอีกระดับหนึ่งค่อยๆ รู้ตรงลักษณะ แล้วค่อยๆ เข้าใจ จนกว่าจะทั่ว ค่อยๆ คลาย ต้องมีการคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน

        เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ จะเข้าใจคำว่า “ขันธ์” ไหม ที่ว่าไม่เข้าใจ หรือยาก เพราะไปคิดถึงชื่อ พยายามไปคิดเอง พยายามไปจำต่างๆ แต่ถ้าสภาพธรรมขณะนี้เป็นขันธ์ แล้วที่ใช้คำว่า “อุปาทานขันธ์” เป็นขันธ์ที่ยึดมั่นด้วยทิฏฐิว่า เป็นเรา ไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส นี่ความหมายหนึ่ง

        และอีกความหมายหนึ่ง ก็คือขันธ์นี้เกิดเพราะอุปาทาน ถ้าไม่มีอุปาทาน การยึดมั่น ขันธ์ทั้งหลายก็ไม่มีการเกิดขึ้น

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 292


    หมายเลข 12200
    27 ม.ค. 2567