จิตคิดคืออะไร


        ผู้ฟัง อารมณ์ที่มากระทบทางทวารทั้ง ๕ อย่างทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น หรือทางกาย แล้วทำให้เกิดความคิดนึกสืบต่อจากอารมณ์ที่มากระทบ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เป็นเหตุผล และพอทำความเข้าใจได้ แต่ความคิดนึกที่ไม่ได้เกิดจากอารมณ์ทั้ง ๕ มีปัจจัยอะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร

        สุ. คุณสุกัญญาคิดถึงเรื่องอะไรบ้างคะ

        ผู้ฟัง ก็คิดถึงที่เพื่อนๆ จะไปเจริญกุศลที่ศรีลังกา

        สุ. แล้วเห็นเพื่อนมาก่อนหรือเปล่า หรือไม่เคยเห็นเพื่อนเลยถึงจะคิดถึงเรื่องเพื่อน หรือเคยได้ยินเรื่องศรีลังกามาก่อนหรือเปล่า หรือไม่เคยเลยถึงจะมาคิดเรื่องศรีลังกา

        ผู้ฟัง เคยได้ยินค่ะ

        สุ. เพราะฉะนั้นคิดถึงสิ่งที่เคยเห็น เคยได้ยิน เคยจำได้ เคยรู้เรื่อง จะไปคิดถึงสิ่งที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยรู้เรื่องเลย เป็นไปได้ไหมคะ เพราะฉะนั้นเหตุปัจจัยที่ทำให้คิด เพราะเคยเห็น เคยได้ยิน เคยจำเป็นเรื่องราวต่างๆ

        ผู้ฟัง สิ่งที่ผ่านมาแล้ว ก็เหมือนกับไม่เกิดขึ้นในขณะปัจจุบัน

        สุ. แต่เป็นความจำ สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท ทุกขณะ แม้ขณะนี้ก็จำ ได้ยินคำว่า “ศรี” ก็จำ “ลัง” ก็จำ “กา” ก็จำ ก็จำไว้หมด เพราะฉะนั้นเวลาที่ความคิดเกิดขึ้น ก็คิดถึงสิ่งที่จำได้ ไม่ใช่สิ่งที่ยังไม่เคยเห็นเลย

        ผู้ฟัง อย่างการเห็นก็มีปัจจัย คือ มีรูปมากระทบกับปสาทรูปภายใน เหมือนกับอธิบายเหตุ และผลของการเกิดจักขุวิญญาณ ที่จะรู้อารมณ์สิ่งที่มากระทบ แต่ลักษณะของความนึกคิดกับเรื่องราวที่เคยผ่านมาในอดีต

        สุ. ก็แสดงความต่างกันของจิตประเภทต่างๆ ว่า จิตเห็นไม่ได้คิดเลย คิดไม่ได้ เพียงเห็น จิตแต่ละขณะเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของจิตนั้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นจิตเห็นจะคิดไม่ได้ จิตคิดในขณะนั้นก็ไม่ได้ทำกิจเห็น แต่คิดเรื่องที่จำไว้ได้

        ผู้ฟัง แล้วจิตคิดคืออะไร

        สุ. จิต คิด คำตอบก็มีอยู่แล้วว่า เป็นจิตที่คิด ถ้าไม่มีจิต คิดได้ไหม โต๊ะ เก้าอี้ เย็น ร้อน อ่อน แข็งคิดได้ไหม แต่สภาพที่คิดต้องเป็นจิต และเจตสิก ซึ่งเกิดคิดแล้วก็ดับไป

        ผู้ฟัง อย่างจักขุวิญญาณ คือ จิตเห็นใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นจิตคิดก็ต้องมีชนิดเดียวหรือเปล่าคะ

        สุ. รู้สิ่งที่ปรากฏให้คิดได้ทางมโนทวาร เพราะว่าทางตา จิตที่รู้อารมณ์ทางตาต้องมีรูปที่ยังไม่ดับเท่านั้นเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่คิดเรื่องนั้น แต่กำลังมีรูปที่ยังไม่ดับเป็นอารมณ์ จึงไม่ใช่คิด แต่เมื่อจิตเห็น และจิตที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาดับแล้ว ภวังคจิตแม้เกิดสืบต่อก็ไม่สามารถจะกั้นมโนทวาราวัชชนจิตไม่ให้เกิดตรึกถึง นั่นคือคิดแล้ว ถึงลักษณะของสิ่งที่ดับไป และก็รู้อารมณ์เดียวกันทางใจก่อน และต่อจากนั้นก็แล้วแต่จะคิดเป็นเรื่องเป็นราว เป็นอะไรก็แล้วแต่ แต่ทั้งหมดที่เกิดทางมโนทวาร เป็นจิตที่คิด ไม่ใช่จิตที่เห็น จิตที่ได้ยิน

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 269


    หมายเลข 12055
    23 ม.ค. 2567