ไม่ใช่เราทำเลยสักขณะเดียว


        อ.วิชัย ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่า ถ้าเป็นกุศล แต่เป็นในขั้นทาน ขั้นศีล โดยที่ยังไม่ใช่สติปัฏฐาน ขณะนั้นยังไม่ละความยึดถือว่าเป็นตัวตน แต่ก็ไม่สำคัญว่าเป็นตัวตนด้วยตัณหา มานะ ทิฏฐิ ใช่ไหมครับ

        สุ. ค่ะ เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ใช่โลภมูลจิต

        อ.วิชัย แต่ขณะที่ความเป็นเรา ถ้าโลภะเกิด ก็เป็นเราด้วยตัณหา มานะ ทิฏฐิ

        สุ. ค่ะ ทีละอย่าง

        อ.วิชัย ถ้ากล่าวอย่างที่พี่สุกัญญากล่าวว่า ที่เกิดขึ้น แต่ยังมีความสำคัญว่า เป็นเราที่หลงลืมสติละครับ

        ผู้ฟัง คือ เป็นลักษณะของเราหลงลืมสติกับสติที่คิดว่าเป็นปรมัตถธรรมของสติเกิด แต่ไม่ใช่ เป็นลักษณะของเรามีสติ แต่เป็นเราคิดเอง ความเข้าใจนี้ถูกหรือผิด

        อ.วิชัย บางครั้งเมื่อศึกษา ขณะที่มีความเข้าใจถูก โดยความเข้าใจเบื้องต้น ขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา แต่ขณะนั้นยังไม่ได้ละคลายความยึดถือว่าเป็นเรา โดยขั้นสติปัฏฐาน ขณะที่มีความคิดอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ความคิดว่าเป็นเราที่มีความเข้าใจอย่างนั้น

        สุ. ค่ะ นี่แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นเวลาที่เป็นโลภมูลจิต ขณะนั้นเป็นอกุศล มีความติดข้องต้องการสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยไม่รู้ตัว จะรู้ตัวได้อย่างไร ในเมื่อเป็นอกุศล ปัญญาก็ไม่มี นั่นคือปกติธรรมดาเวลาที่มีการเห็น ได้ยิน เป็นต้นแล้วเกิดโลภะ แต่บางกาล บางขณะ จะมีโลภะเกิดร่วมจากการเห็นผิด ซึ่งขณะนี้เราพูดได้ โลภมูลจิตมี ๘ ประเภท แล้วก็เกิดร่วมกับ ทิฏฐิ ๔ ไม่เกิดร่วมกับทิฏฐิ ๔ เราพูดได้ แต่ลักษณะจริงๆ ไม่ได้ปรากฏเลย

        เพราะฉะนั้นจึงไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นโลภะ ที่ไม่มีทิฏฐิ ที่ไม่ใช่เรา หรือว่าโลภะมี ทิฏฐิแล้วเป็นเรา เพราะเหตุว่าไม่มีการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างชัดเจน ขณะที่โลภมูลจิตเกิดแล้วไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ถ้าสติสัมปชัญญะเกิด ก็จะรู้ความจริงของโลภะ แต่จะไม่เห็นทิฏฐิ เพราะว่าทิฏฐิเจตสิกไม่ได้เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นแต่ละขณะ แต่เวลาที่เกิดดับสลับกันเร็ว และด้วยความไม่รู้ลักษณะ ก็ไม่สามารถบอกได้ว่า ขณะนั้นเป็นโลภะ เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้ว ทิฏฐิไม่ได้เกิดร่วมด้วยจริง จะเห็นทิฏฐิในขณะนั้นไม่ได้ แต่รู้ว่ายังมีทิฏฐิ เพราะเหตุว่ายังไม่รู้ความจริงของโลภะในขณะนั้น

        อ.วิชัย เข้าใจว่าปัญญายังไม่เพียงพอที่จะรู้ในขณะนั้น

        สุ. ค่ะ เพราะว่าจริงๆ สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม ก็ยังไม่ได้ประจักษ์ความจริงในแต่ละลักษณะของรูป และในสภาพที่เป็นธาตุรู้ ซึ่งไม่มีรูปใดๆ เลย แต่ก็กำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ทางหนึ่งทางใดด้วย

        ผู้ฟัง ในขณะที่เรากำลังมีสติ หรือเรากำลังหลงลืมสติ ลืมแล้วปรากฏ แต่ก็ไม่รู้ เป็นความเข้าใจขั้นการฟังแค่นี้ครับ

        สุ. ทุกคนนั่งอยู่ในห้องนี้นานแล้วใช่ไหมคะ

        ผู้ฟัง นานครับ

        สุ. เรานั่ง เราเห็น เราได้ยิน เราคิด หรือว่าสภาพธรรมทั้งหมดทุกขณะ แม้แต่ผัสสเจตสิก เรากล่าวว่าเกิดกับจิตทุกประเภท ทุกขณะ เวทนาเจตสิกก็เกิดกับจิตทุกประเภททุกขณะ สัญญาที่จำก็จำทุกขณะจิต รู้ไหม เป็นเราไปหมดเลย

        เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า แม้ธรรมเป็นธรรม ฟังแล้วเข้าใจลักษณะของธรรมแต่ละอย่างที่พูดให้เข้าใจ แต่ไม่รู้ลักษณะจริงๆ ของธรรมอะไรเลยทั้งสิ้น ตราบใดที่สติสัมปชัญญะไม่ได้กำลังรู้ลักษณะที่มีจริงๆ แต่ละลักษณะ

        นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าจะพูดเรื่องผัสสะ เรื่องเวทนา เรื่องสัญญา เรื่องเจตนา ซึ่งก็มี ก็ไม่ได้รู้ เพราะฉะนั้นเวลาที่กล่าวถึงสติปัฏฐาน ก็จะมีคำว่า “มีสติ” กับ “หลงลืมสติ” ถ้าหลงลืมสติ คือ แม้สภาพธรรมกำลังเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เราทำเลยสักขณะเดียว เจตสิกนั่นแหละเกิดกับจิต และทำหน้าที่ทุกอย่างทุกประการ ไม่มีการที่คนหนึ่งคนใดจะเกิดแทรกเป็นตัวตน และทำอย่างหนึ่งอย่างใดได้เลย และฟังอย่างนี้จนกว่ารู้ลักษณะ โดยสติสัมปชัญญะนั่นเองที่กำลังเกิด และรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ

        การฟังธรรม ไม่ใช่ให้ไปทำอะไรเลย จากไม่เข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ ละความต้องการ ค่อยๆ ละความไม่รู้ นี่เป็นหนทางที่จะทำให้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 268


    หมายเลข 12045
    23 ม.ค. 2567