รูปขันธ์


        ปรมัตถธรรม ๓ เป็นขันธ์อะไรบ้าง ใน ๕ ขันธ์

        รูปขันธ์ หมายถึงสภาพธรรมที่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย เราจะใช้คำว่า “รูปธรรม” หรือ “รูปขันธ์” ก็ได้ ทั้งหมด ไม่ว่าจะชื่อต่อไป รูปารมณ์ รูปายตนะ หรืออะไรก็ตามแต่ ลักษณะของธรรมที่เป็นรูปแล้ว ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่สามารถรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นรูปทุกประเภทเป็นรูปขันธ์ ขณะนี้ ตา จักขุปสาทมี เป็นปรมัตถ์อะไรคะ เป็นรูป เป็นรูปขันธ์หรือเปล่า เป็นค่ะ สภาพธรรมที่เป็นรูปทั้งหมดเป็นรูปขันธ์

        ที่ใช้คำว่า “ขันธ์” เพราะเหตุว่า รูปจักขุปสาท ก็อย่างหนึ่ง แต่ก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ปะปนกับโสตปสาท ก็เป็นรูปอีกอย่างหนึ่ง เกิดดับเช่นเดียวกันด้วย

        เพราะฉะนั้นรูปทั้งหมดทุกประเภทเป็นรูปขันธ์ และจริงๆ แล้วลักษณะของรูปที่เกิดขึ้น แม้แต่เพียงสภาพที่อ่อนหรือแข็ง ลักษณะเหมือนกันหรือเปล่าคะ อ่อนเหมือนกันหมดไหม แข็งเหล็ก แข็งกระดูก แข็งอะไรก็แล้วแต่ เมื่อใดที่เกิดขึ้นมีลักษณะจะประณีต จะเลวทราม หรือจะไม่น่าพอใจ น่าพอใจ ภายใน ภายนอกอย่างไรอย่างไรทั้งหมดก็เป็นประเภทของรูปขันธ์ทั้งสิ้น

        ด้วยเหตุนี้เวลากล่าวถึงรูป เพราะรูปเกิดแล้วก็ดับไป หมดไปแล้ว แล้วก็มีปัจจัยให้รูปใหม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นแต่ละรูปก็ต่างกันไป จักขุปสาทมีจริง และรูปอ่อนแข็งก็มีจริง แต่ว่าแต่ละลักษณะที่เกิดขึ้นย่อมต่างกันไปตามเหตุตามปัจจัยด้วย เช่นเดียวกับเสียง เสียงระนาดกับเสียงกลอง ก็เป็นเสียง เกิดแล้วดับ แต่ความต่างของเสียงก็มี

        ด้วยเหตุนี้รูป แม้เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ ก็ยังหลากหลายต่างกันไป แต่ไม่ว่าจะหลากหลายอย่างไร ก็คือรูปขันธ์ รสกระทบลิ้น จิตลิ้มรส คือ รู้รสนั้นเกิดขึ้น รู้รสหลากหลายไหมคะ หวานก็มี เปรี้ยวก็มี เค็มก็มี จืดก็มี หวานมากก็มี เผ็ดจัดก็มี ทั้งหมดก็คือสภาพธรรมที่หลากหลายจริง แต่ว่าเมื่อเกิดขึ้นก็เป็นแต่เพียงรูปธรรม ซึ่งไม่สามารถรู้อะไร ด้วยเหตุนี้ก็เข้าใจได้ว่า รูป แม้เป็นรูปขันธ์ก็หลากหลาย ตามธรรม หรือเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น มีใครสงสัยรูปขันธ์ไหมคะ

        สัตว์มีรูปไหมคะ งูมีรูปไหม นกมีรูปไหม รูปเป็นรูปหรือเปล่า รูปงูกับรูปคนเป็นรูปหรือเปล่า เป็นรูปขันธ์หรือเปล่า ก็คือธรรม

        นี่คือธรรมที่จะเข้าใจว่า รูปเป็นรูป จะเป็นอื่นไม่ได้ แต่เราจำไว้ และทำให้เราเรียกชื่อต่างๆ กันไป แต่ลักษณะของรูปก็ต้องเป็นรูปนั่นเอง

        เพราะฉะนั้นขันธ์ ๕ ขันธ์ ได้แก่ ปรมัตถธรรม ๓ รูปทุกประเภทเป็นรูปขันธ์ ไม่ว่ารูปไหนก็ตาม ที่ไหนก็ตาม พรหมมีรูปไหมคะ รูปพรหมมีรูป เทวดามีรูปไหม สัตว์นรกมีรูปไหม รูปเหมือนกันหมดไหมคะ เป็นรูปเท่านั้น จะเป็นอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นรูปขันธ์แม้ว่าจะหลากหลาย

        ยังสงสัยในรูปขันธ์ไหมคะ ทำไมแยกเป็น ๑ ขันธ์ เพราะรูปขันธ์ไม่ใช่นามขันธ์ สภาพธรรมทั้งหมดจะมีสักเท่าไรก็ตาม ประมวลแล้วต่างกันเป็น ๒ ลักษณะเท่านั้น คือ เป็นรูปธรรมกับนามธรรม และจำแนกแจกไปอีกได้มากมาย ตามประเภทของธรรมนั้นๆ แต่ก็ไม่พ้นจากจิต เจตสิก รูป และไม่พ้นจากนามธรรม และรูปธรรม เพราะถ้าย่อปรมัตถธรรมก็เป็นนามธรรม และรูปธรรม ย่อขันธ์ก็เป็นรูปขันธ์กับนามขันธ์

        หมดสงสัยแล้วใช่ไหมคะ ทำไมเป็นรูปขันธ์ ๑ ขันธ์

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 263


    หมายเลข 12012
    23 ม.ค. 2567