การฟังธรรม ไปแบบช้าๆ แต่ว่าให้เข้าใจจริงๆ


        ผู้ฟัง ลักษณะของจิตที่เป็นอกุศลที่คิดเอาเอง กับสภาพความเป็นจริงเป็นอย่างไรคะ

        สุ. คิดเอาเอง หมายความว่าอย่างไร

        ผู้ฟัง อย่างความโกรธ ก็เป็นอกุศลจิต จากการศึกษา

        สุ. คิดถึงชื่อของความโกรธ

        ผู้ฟัง แต่ว่าสภาพธรรมจริงๆ ก็ทำให้ไม่สามารถชัดเจนในระดับนี้ เหมือนอย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า จิตเห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตา อันนี้ชัดเจน ถึงแม้จะรู้ไม่ได้ แต่ก็มีสภาพเห็น ปรากฏให้เห็นจริงๆ

        สุ. คุณสุกัญญาหมายความว่า ในขณะที่โกรธ ก็อยากจะทราบความต่างของจิต และเจตสิกหรือเปล่าคะ เพราะว่าเพียงเรียกชื่อ ไม่ทำให้เข้าใจได้ แต่ว่าขณะนั้นกำลังโกรธอะไร

        ผู้ฟัง สัตว์ บุคคล ตัวตน

        สุ. ต้องมีสิ่งที่จิตกำลังรู้สิ่งนั้น โกรธในสิ่งนั้น ไม่พอใจในสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นลักษณะของจิตเป็นอย่างหนึ่ง ลักษณะของความโกรธก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดพร้อมจิต

        ผู้ฟัง อย่างนั้นก็แยกไม่ออกแน่นอนใช่ไหมคะ

        สุ. แยกด้วยความคิด แยกด้วยการฟัง ด้วยความเข้าใจ หรือแยกเพราะกำลังรู้ลักษณะที่ต่างกันแต่ละลักษณะ

        ความเข้าใจมีหลายขั้น ขั้นฟัง ยังไม่รู้จักตัวจริงเลย เหมือนฟังเรื่องของสิ่งหนึ่ง ซึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน แล้วก็รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร มีลักษณะอย่างไร รูปร่างอย่างไร กลิ่นอย่างไร รสอย่างไร แต่ไม่เคยประจักษ์ ไม่เคยรู้ ไม่เคยพบ กับขณะที่ฟัง ก็เริ่มเข้าใจสิ่งนั้น พอพบก็สามารถรู้ได้ว่า นั่นคือสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังนั่นเอง

        เพราะฉะนั้นขณะนี้ได้ยินคำว่า จิต คำว่า เจตสิก จะกล่าวว่า รู้ลักษณะของจิตไหน เจตสิกไหน แยกไม่ออก ใช่ไหมคะ แต่เริ่มจะเข้าใจว่า มีจิตแน่ แต่จิตที่ไม่ใช่เรา เป็นเพียงธาตุที่มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป ไม่ใช่เป็นแต่เพียงคำพูด ลักษณะจริงๆ เป็นอย่างนั้น

        เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นผู้ตรงที่จะยอมรับว่า ประจักษ์หรือเปล่า หรือเพียงแต่ฟังเรื่องนี้ และก็กำลังเข้าใจเรื่องนี้

        เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ไปแบบช้าๆ ก็ได้ แต่ว่าให้เข้าใจจริงๆ ถ้าเรารู้คำเยอะ แต่เรายังไม่เข้าใจคำนั้น และก็จะสับสน ก็จะไม่มีประโยชน์อะไร ไม่หมดสงสัย และไม่เข้าใจด้วย

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 263


    หมายเลข 12010
    27 ม.ค. 2567