โสภณ


        อ.อรรณพ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงจิตโดยนัยที่เป็นโสภณกับอโสภณ เพื่ออะไรครับ

        สุ. จริงๆ แล้วขณะนี้คงไม่ลืมว่า กำลังฟังชื่อ เป็นชื่อทั้งนั้นเลย แต่ว่าเป็นชื่อที่เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง เพราะฉะนั้นก็ต่างกับการฟังชื่ออื่นๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า เรากำลังฟังชื่อเท่านั้น ยังไม่รู้จักตัวจริงของสภาพธรรมที่จำได้ และสามารถตอบได้ว่า จิตขณะไหนเป็นโสภณ จิตขณะไหนเป็นอโสภณ ด้วยการจำ แต่การศึกษาธรรม ประโยชน์จริงๆ คือ การเข้าใจคำที่ได้ยินได้ฟังละเอียดขึ้น ลึกซึ้งขึ้น เป็นเหตุเป็นผลที่จะทำให้ผู้ฟังเป็นผู้ละเอียด และเป็นเหตุเป็นผลที่จะทำให้ไม่คลาดเคลื่อน ไม่เข้าใจผิด แต่ฟังด้วยความเข้าใจในเหตุผล เช่น คำที่ได้ฟัง คือ โสภณ กับอโสภณ ภาษาไทย ถ้าเราใช้คำว่า ดี ก็จะปะปนกัน แต่ภาษาบาลี ไม่เปลี่ยน เพราะฉะนั้นโสภณ หมายความถึงสภาพธรรมที่ดีงาม ต้องได้แก่ จิต และเจตสิก รูปจะดีงามได้อย่างไร ถึงแม้ว่ารูปจะน่าดู แต่เป็นกุศลหรือเปล่า เป็นทาน เป็นศีล เป็นความสงบ เป็นอะไรหรือเปล่า เป็นไปไม่ได้เลย

        ด้วยเหตุนี้สภาพที่ดีงาม จึงไม่ใช่รูปธรรม นิพพานดีงามหรือเปล่าคะ นี่คือการคิด ถ้าไม่คิด เราก็เพียงจำ แต่ถ้าเรามีเหตุผลว่า สภาพธรรมที่ดีงามเป็นอย่างไร เราก็สามารถเข้าใจ และไม่ลืม แล้วค่อยๆ คิด แม้ว่าขณะนี้ วันนี้ยังไม่มีคำตอบ ยังไม่ต้องตอบ ยังไม่อยากตอบเดี๋ยวนี้ แต่ถ้ามีความเข้าใจเรื่องโสภณกับอโสภณเพิ่มขึ้น คำตอบของเราต้องตรง และถูกต้องด้วย จะไม่ผิดเลย

        เพราะฉะนั้นเมื่อทราบว่า สภาพธรรมที่เป็นโสภณ ต้องเป็นจิต และเจตสิก เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ใช้คำว่า “ปัณฑระ” เพราะเหตุว่าไม่กล่าวถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย จิตนั้นจะผ่องใส คือ ขณะนั้นไม่มีอกุศลใดๆ เกิดร่วมด้วย เป็นเพียงสภาพที่สามารถรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่เพราะเหตุว่าจิตจะเกิดตามลำพังโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้เลย

        ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าขณะไหนทั้งสิ้น เมื่อจิตเกิดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ด้วยเหตุนี้จิตจึงมีสภาพที่ต่างกันไปตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย พร้อมทั้งเหตุปัจจัยที่ทำให้เจตสิกนั้นๆ เกิดด้วย

        เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมต้องตามลำดับ จิตที่เป็นกุศล เพราะมีเจตสิกที่ดี หรือจะใช้คำว่า กุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ได้ ตรงกันข้ามกับอกุศล เพราะในชีวิตประจำวันที่เราจะคุ้นเคยก็คือ คำว่า กุศล อกุศล วิบาก ส่วนกิริยานั้น ถ้าไม่ได้ศึกษาธรรม ไม่มีโอกาสได้ยินคำนี้เลยว่า กิริยา เป็นจิต และเจตสิกประเภทหนึ่ง

        ด้วยเหตุนี้ชีวิตประจำวันซึ่งเป็นสังสารวัฏฏ์ จะขาดกุศล อกุศล และวิบากไม่ได้ สำหรับกิริยาจิตก็ทราบแล้วว่า จิตไม่ได้มีเฉพาะที่เป็นกุศล และอกุศลเท่านั้น ยังมีจิตที่เป็นกิริยาด้วย และส่วนใหญ่กิริยาจิตก็เป็นจิตของพระอรหันต์ เพราะความของกิริยาจิต คือ จิตที่ไม่เป็นเหตุให้เกิดผล และแม้กิริยาจิตนั้นก็ไม่ใช่ผลของเหตุ แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจการงานตามสภาพธรรมในขณะนั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป ห้ามไม่ให้เป็นไป ไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้เลย

        ด้วยเหตุนี้ต้องมีความเข้าใจที่มั่นคง โสภณ หมายความถึงเจตสิกที่ดี เพราะฉะนั้นสภาพธรรมของเจตสิกที่ดี ในภาษาไทยเราก็อาจจะคิดแคบ คือคิดเพียงจิตที่เป็นกุศลเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นเป็นจิตที่ดี แต่ถ้าศึกษาธรรมโดยละเอียด แล้วเข้าใจความหมายซึ่งเปลี่ยนไม่ได้ว่า โสภณเป็นเจตสิกฝ่ายดี ไม่ว่าจะเกิดกับจิตประเภทไหน ขณะไหนก็ตาม จิตประเภทนั้นเป็นเจตสิกที่ดีหรืองาม ที่ใช้คำว่า “โสภณ”

        ด้วยเหตุนี้ จิตที่ประกอบด้วยเจตสิกที่ดีงาม จึงไม่ใช่มีแต่เฉพาะกุศลจิตเท่านั้น ผลของกุศลจิตก็ยังประกอบด้วยเจตสิกที่ดีงามด้วยได้ และแม้แต่กิริยาจิตของพระอรหันต์ ก็ประกอบด้วยเจตสิกที่ดีงามด้วย

        ด้วยเหตุนี้ โสภณ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะกุศล แต่สภาพธรรมที่เป็นผลของกุศลซึ่งมีเจตสิกที่ดีเกิดร่วมด้วย จิตนั้นจะกล่าวว่าเป็นอโสภณไม่ได้ จะกล่าวว่าไม่ดีไม่ได้ เพราะเหตุว่าประกอบด้วยเจตสิกที่ดีเกิดพร้อมกันในขณะนั้น

        ด้วยเหตุนี้ถ้าเรามีความเข้าใจมั่นคง เราก็จะรู้ว่า เจตสิกฝ่ายดี เกิดเมื่อไร กับจิตประเภทไหน ชาติไหน จิตนั้นเป็นโสภณ ซึ่งเป็นได้ทั้งกุศล ผลของกุศล ที่มีเจตสิกที่ดีเกิดร่วมด้วยก็เป็นโสภณ และกิริยาจิตซึ่งมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็เป็นโสภณด้วย

        ด้วยเหตุนี้คำว่า “โสภณ” ก็กว้างกว่าคำว่ากุศล

        การศึกษาธรรมละเอียดแม้ในเบื้องต้น ก็จะทำให้เข้าใจถูกในขั้นต่อๆ ไปได้ แต่ถ้าในเบื้องต้นยังสับสน ที่จะฟังธรรมให้มากขึ้นอีก ก็จะสับสนไปด้วย เพราะว่าคำจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาก เพราะเหตุว่าสภาพธรรมไม่ใช่มีเพียงเล็กน้อย แต่กว้างขวาง ประกอบด้วยเจตสิก และสภาพธรรมที่ต่างๆ กันไป ตามลำดับขั้นของเจตสิกนั้นๆ ด้วย แม้แต่สติก็มีหลายระดับ เพราะฉะนั้นจึงมีชื่อ มากกว่าคำว่า “สติ” คำเดียว ก็คือการจะให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ เพื่อเห็นว่า ไม่ใช่เรา

        การฟังทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชาติก่อนๆ หรือชาตินี้ที่กำลังฟัง หรือว่าจะได้ฟังต่อไปอีกกี่ชาติก็ตามแต่ เพื่อให้มีความเข้าใจที่มั่นคงว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของใคร

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 259


    Tag  โสภณ  
    หมายเลข 11988
    23 ม.ค. 2567