รูปาวจรจิต-2


        ผู้ที่จะอบรมเจริญความสงบจากความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็รู้ว่า เมื่อเห็นแล้วไม่ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จิตจะสงบ แต่จะทำอย่างไรไม่ให้เห็น ทำอย่างไรไม่ให้ได้ยิน เป็นไปไม่ได้เลย เพราะแม้การเห็น การได้ยิน ก็เกิดขึ้นเพราะกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยว่าจะให้ผลทางตาเห็น หรือให้ผลทางหูได้ยินเสียง หรือให้ผลทางจมูกได้กลิ่น ให้ผลทางลิ้นลิ้มรส ให้ผลทางกาย รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เมื่อรู้อย่างนี้ ก็ต้องมีปัญญาที่สามารถจะรู้ได้ว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นอกุศลจิต ไม่ใช่เพียงฟังเรื่องราว แล้วก็สันนิษฐานว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็น กำลังฟังธรรมเป็นกุศลจิต นั่นคือการคาดคะเน ไม่ใช่สติสัมปชัญญะที่สามารถจะรู้ลักษณะที่แท้จริงของจิตซึ่งเกิดต่อจากจิตเห็น และจิตได้ยินเป็นต้นได้

        ด้วยเหตุนี้การจะให้จิตสงบซึ่งภาษาธรรมใช้คำว่า “สมถะ” หมายความว่า สงบจากอกุศล มั่นคง เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน เพราะว่าปกติธรรมดาก็ทราบว่า โลภะ โทสะ โมหะ หรือกุศลที่เป็นไปในทาน ศีล พวกนี้จะเกิดดับสืบต่อกันเพียง ๗ ขณะ แต่ถ้าเป็นความสงบยิ่งกว่านั้นด้วยความชำนาญ ก็จะเป็นกุศลจิตประเภทที่สงบ เพราะไม่มีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และสามารถมีการเกิดดับสืบต่อเกินกว่า ๗ ขณะได้ แต่ว่าต้องเป็นปัญญาจริงๆ ไม่ใช่ไม่รู้อะไรเลย และอยากสงบก็ไปนั่ง แล้วขณะนั้นก็เข้าใจว่าจิตสงบแล้ว โดยที่ไม่ได้รู้เลยว่า เพราะไม่มีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ลักษณะของจิตจริงๆ

        ด้วยเหตุนี้จึงเห็นความต่างกันของจิตระดับที่ต่ำสุด คือ กามาวจรจิตกับรูปาวจรจิต ซึ่งเป็นความสงบถึงขั้นฌานจิต ซึ่งกว่าจะถึงขั้นนั้นก็เป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องปัญญา เป็นเรื่องของการเป็นผู้ตรงที่เห็นโทษของอกุศลจริงๆ และมีปัญญาพร้อมกับ ปฏิสนธิจิตด้วย จึงสามารถถึงความสงบขั้นรูปาวจรจิตได้ แต่ถ้าเป็นบุคคลที่ปฏิสนธิจิตไม่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก ไม่สามารถบรรลุถึงจิตระดับนั้นได้เลย

        นี่ก็เป็นระดับขั้นของจิตที่สูงขึ้นเป็นระดับที่ ๒ จากกามาวจรจิตถึงรูปาวจรจิต และต่อไปก็จะละเอียดขึ้นที่เห็นโทษของแม้ความสงบนั้น ก็ยังมีรูปนิมิตหรือบัญญัติเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นก็จะอบรมเจริญความสงบที่มั่นคงโดยไม่มีรูปเป็นอารมณ์ ก็ถึงภาวะความเป็นจิตที่สูงกว่าระดับของรูปาวจรจิต เป็นอรูปาวจรกุศลจิตซึ่งเป็นฌานจิตที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ เป็นระดับขั้นที่ ๓ แต่ว่าสูงสุด คือ โลกุตตรจิต เพราะเหตุว่าขณะนั้นสามารถจะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

        ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรม ก็จะได้ยินชื่อต่างๆ ของจิต แต่ต้องทราบว่า โดยนัยไหน ถ้าโดยนัยของชาติ เกิดเป็นกุศล รูปาวจรกุศลก็มี เมื่อมีเหตุก็ทำให้รูปาวจรวิบากเกิดในรูปพรหมภูมิ และถ้าถึงการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท แม้เป็นผู้ได้ฌานจิต มีรูปเป็นอารมณ์ ก็เป็นรูปาวจรกิริยาจิต ไม่เป็นเหตุให้เกิดผล

        ก็เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจค่ะ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 252


    หมายเลข 11910
    23 ม.ค. 2567