วิถีจิต-3


        บง ถ้าเป็นวิถีจิตแล้วต้องเป็นอย่างนี้แน่นอน

        สุ. วิถีจิตคืออะไรก่อน

        บง วิถีจิตก็คือ จิตที่ ...

        สุ. นี่คือ ถ้าเราจะไปนึกถึงคำในหนังสือกับการที่เราเข้าใจจริงๆ จะต่างกัน ถ้าเรารู้ว่า วิถีจิต คือ จิตที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จุติจิต เพราะว่าทั้ง ๓ จิตนี้ ไม่ได้มีอารมณ์ของโลกนี้ แต่มีอารมณ์ที่สืบต่อมาจากจิตใกล้จะจุติ หรือก่อนจุติของชาติก่อน

        เพราะฉะนั้นเมื่อเว้นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต ซึ่งทั้ง ๓ ขณะนี้ไม่ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลยทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าอะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ หลับสนิท อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ จะต้องไปอาศัยทวารอะไร ไม่ต้องอาศัยสักทวารเดียว คิดก็ไม่ได้คิด ฝันก็ไม่ได้ฝัน แต่ว่าจะเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ ทำภวังคกิจ

        เพราะฉะนั้นเวลาที่ใช้คำว่า “วิถีจิต” หมายความว่าต้องเป็นจิตที่รู้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต

        เพราะฉะนั้นการที่จิตจะรู้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ต้องอาศัยทางหนึ่งทางใด เช่น ต้องมีตา จักขุปสาท จิตเห็นขณะนี้เกิดขึ้นเห็น ต้องมีโสตปสาท จิตได้ยินขณะนี้จึงเกิดขึ้นได้ยิน ต้องมีฆานปสาท จิตเกิดขึ้นรู้กลิ่น ถ้าทางลิ้น ก็ขณะใดที่มีรสกระทบกับชิวหาปสาท คือ ลิ้น จิตก็เกิดขึ้นลิ้มรส คือ รู้รสที่กำลังปรากฏ และในขณะนี้ก็มีกายปสาทซึมซาบอยู่ทั่วตัว แล้วแต่ว่าขณะนั้นมีการรู้รูปใดที่กระทบ ขณะนั้นก็เป็นจิตที่รู้อารมณ์นั้น โดยอาศัยทวารนั้นๆ

        เพราะฉะนั้นถ้าใช้คำว่า “วิถีจิต” หมายความว่าจิตที่รู้อารมณ์ ที่ไม่ใช่ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ก็จะต้องมีการรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง

        พราะฉะนั้นจะมีวิถีจิต โดยไม่มีทวาร ได้ไหมคะ ก็ไม่ได้

        นี่ก็คือขั้นต้นที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง แล้วถ้ามีความเข้าใจแล้ว ต่อไปก็จะมีความเข้าใจละเอียดขึ้น

        บง อย่างที่กล่าวว่า เป็นชวนจิต ชอบจริงๆ ที่ว่า ต้องเป็นเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ ที่จะเป็นกุศลหรืออกุศล ตรงนี้ก็ถูกต้อง เพราะแล้วแต่เหตุปัจจัย แต่จะไปสงสัยว่า ทำไมทวิปัญจวิญญาณดับไปแล้ว จะต้องต่อด้วยสัมปฏิจฉันนะ และสันตีรณะ คือเหมือนตายตัวลงไป ก็ไม่เป็นอนัตตา

        สุ. ใครรู้ และจะกระโดดจากเห็นไปเป็นกุศล อกุศลเลยหรือคะ หรือว่าจะต้องมีจิตซึ่งเกิดสืบต่อ จนกว่าจะถึงกุศล และอกุศลในอารมณ์ที่ปรากฏ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 246


    หมายเลข 11837
    10 ม.ค. 2567