ขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ


        สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เพราะมีจิตเห็น สิ่งนี้จึงปรากฏ นี่คือกำลังฟังสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ ฟังเป็นขั้นสติที่เป็นกุศลระดับฟัง ขณะที่กำลังค่อยๆ เข้าใจก็เป็นขั้นคิดไตร่ตรอง แต่เมื่อไหร่ที่กำลังรู้ลักษณะ ขณะนั้นสติเกิด สติเกิดนี่เป็นปกติ ไม่ผิดปกติเลย แล้วก็แสดงให้เห็นว่าขณะที่สติสัมปชัญญะไม่เกิดก็คือไม่รู้ลักษณะหนึ่งลักษณะใดเลย แต่ขณะที่สติสัมปชัญญะที่เป็นสติปัฏฐานเกิดคือกำลังมีลักษณะนั้น ใช้คำว่า “มี” เพราะสติระลึกลักษณะนั้นจึงปรากฏ อย่างเราพูดเรื่องแข็งเป็นสิ่งที่ปรากฏกับกายที่มีกายปสาทในส่วนที่มีกายปสาท แข็งจึงปรากฏได้ แต่ลักษณะของแข็งจริงๆ ปรากฏ เวลาที่มีการรู้แข็งจิตสามารถที่จะรู้แข็ง ถามเด็กๆ ก็ตอบว่าแข็ง รู้ว่าสิ่งที่กระทบสัมผัสแข็งเพราะสิ่งนั้นอ่อน เด็กก็ตอบว่าอ่อน เพราะเหตุว่าไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เมื่อมีจิตกำลังรู้อ่อนๆ ปรากฏกับจิตที่กำลังรู้อ่อน แต่ความต่างกันก็คือว่าผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้ว เข้าใจเรื่องสติสัมปชัญญะเป็นสภาพที่แม้มีการรู้อ่อนหรือแข็ง แต่สติก็กำลังรู้ตรงนั้นด้วย กำลังมีลักษณะซึ่งเริ่มจะเข้าใจว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรมซึ่งลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง จะเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้เลย จะเป็นแขนไม่ได้ จะเป็นเก้าอี้ไม่ได้ จะเป็นอะไรไม่ได้ เพราะขณะนั้นเป็นเพียงแข็ง นั่นคือปกติจริงๆ และก็เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย แต่ว่าผู้ที่ยังหวั่นไหวเพราะเหตุว่ายังสงสัย ยังอยากให้เกิดอีก ยังอยากจะเข้าใจให้มากกว่านั้นอีก ก็เป็นผู้ที่ไม่ได้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่าการค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏแม้ทีละเล็กทีละน้อยตามปกตินี้แหละเป็นการละโลภะ มิฉะนั้นแล้วความอยากจะเข้ามาทันที อยากจะให้มากกว่านั้น อยากจะประจักษ์ความจริง อยากจะรู้การเกิดดับ ละความเป็นตัวตน เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวันทั้งหมด สติสัมปชัญญะยังไม่ได้รู้จนกระทั่งชินในความเป็นธรรมแต่ละลักษณะ ทั้งๆ ที่ความจริงก็คือเป็นธรรมนั่นแหละ และก็แต่ละลักษณะด้วย เปลี่ยนลักษณะไม่ได้ สติระลึกเมื่อไหร่ก็ไม่ได้เปลี่ยนลักษณะนั้นเลย ก็ยังคงรู้ลักษณะนั้น แต่ว่าผู้นั้นรู้ขณะนั้นกำลังรู้ตรงลักษณะ นี่คือการที่จะเข้าใจขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ และการที่จะรู้ลักษณะอย่างนี้จนกว่าจะทั่ว ก็จะทำให้คลายความไม่รู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม ไม่มีหนทางอื่น

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 239


    หมายเลข 11646
    23 ม.ค. 2567