สมถะ - วิปัสสนา


        ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์ เรื่องปัญญาในสมถภาวนา สมมุติว่า รู้จักสมถภาวนา แล้วเจริญสัมมาสมาธิ ค่อยๆ เจริญไป ทีนี้ไม่ทราบว่า ปัญญาในสัมมาสมาธิ จะในลักษณะเดียวกับวิปัสสนาภาวนาไหม ที่จะต้องค่อยๆ เจริญ ค่อยๆ เพิ่มขึ้น เป็นลำดับๆ ไปพร้อมกับสมาธิที่ค่อยๆ เจริญขึ้นด้วย หรือว่าเฉพาะสมาธิเท่านั้นที่จะแนบแน่นขึ้นแต่ปัญญาก็คือรู้ ที่รู้เลย

        ท่านอาจารย์ ต้องทราบความต่างกันของสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา วิปัสสนาภาวนาเป็นการอบรมเจริญปัญญาถึงความเป็นวิปัสสนา คือ เห็นแจ้ง ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมะตามความเป็นจริงของสภาพธรรมะ เช่น สภาพธรรมะที่เป็นนามธรรมก็เป็นนามธรรม สภาพธรรม ที่เป็นรูปธรรมก็เป็นรูปธรรม สภาพธรรมะที่เป็นนามธรรมเกิด แล้วดับ สภาพธรรมะที่เป็นรูปธรรมเกิด แล้วก็ดับ คือรู้ในความไม่ใช่ตัวตน แต่สำหรับสมถภาวนาเพื่ออะไร ต้องรู้ด้วย ในเมื่อวิปัสสนาภาวนาเพื่อรู้แจ้งประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมะ สมถภาวนา ไม่ใช่เพื่อการรู้แจ้ง ประจักษ์แจ้งความจริง สมถะ หมายความถึงสงบ ซึ่งก็หมายความถึงสงบจากอกุศล ซึ่งผู้ที่จะอบรมสมถภาวนาได้ ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาที่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะที่เห็น อกุศลจิตเกิด แล้ว ขณะใดที่ไม่ใช่ทานศีล ภาวนา ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต

        เพราะฉะนั้น ผู้นั้นมีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ความต่างของขณะที่จิตไม่สงบ ที่เป็นอกุศล กับความต่างของกุศลจิตที่เกิด แล้วก็รู้เหตุว่าความสงบจะเกิดขึ้นบ่อยๆ เป็นกุศลได้มากน้อยแค่ไหน เพื่ออะไร เพราะเมื่อมีความสงบขึ้น ก็จะไม่มีความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

        เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนา เมื่อบรรลุอัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นขั้นของฌานจิต จะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึกเรื่องอื่น นอกจากรู้ในลักษณะของอารมณ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของความสงบ

        เพราะฉะนั้น ผู้นั้นก็เหมือนกับไม่ต้องการเห็น ไม่ต้องการได้ยิน ไม่ต้องการได้กลิ่น ไม่ต้องการลิ้มรส ไม่ต้องการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ไม่ต้องการคิดนึก ชั่วระยะที่สามารถที่จะสงบได้ ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่จะอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมะที่มีจริงๆ

        เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นความต่างกัน เพราะฉะนั้น สมถภาวนาไม่ใช่หนทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะว่าไม่ใช่ปัญญาที่อบรมโดยระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมะจนกว่าจะชิน จนกว่าจะไม่มีความสงสัยในลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม


    หมายเลข 10399
    9 ม.ค. 2567