เพราะไม่รู้ เพราะมืดมน จึง ไม่สามารถเห็นถูกได้ -พฐ.176


        สุ. แต่ถ้าบอกว่าขอเสื้อ ขอน้ำปลา ขอข้าว คุณวิจิตรเข้าใจใช่ไหม

        ผู้ฟัง ครับ

        สุ. เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีชื่อสำหรับเรียกให้เข้าใจ มิฉะนั้นแล้วก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้เลยว่าหมายความถึงสิ่งใด ถูกต้องไหม แต่แยกได้ว่าถ้าเป็นคำสมมุติเรียกเป็นที่เข้าใจกัน นั่นคือสมมุติสัจจะ ถ้าบอกว่าขอเสื้อ แล้วไปหยิบกางเกงมาให้ก็ไม่ได้ใช่ไหม เสื้อก็สมมุติกันว่าหมายความถึงอะไร เพราะฉะนั้นก็จำเป็นที่จะต้องมีคำที่เป็นที่เข้าใจกัน หมายรู้กัน นั่นคือสมมุติ แต่ว่าลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมก็จะมีจิต เจตสิก รูป ที่บัญญัติคำได้มากมายเลย ไม่ว่าจะเป็นวิชาการใดๆ ทั้งสิ้นทั้งหมด ไม่พ้นจากจิต เจตสิก รูป แต่จะมีชื่อทางภาษาแพทย์ ภาษาวิทยาศาตร์ ภาษาก่อสร้าง ศิลปะ หัตถกรรม เกษตรกรรม อะไรมากมาย นั่นคือสมมุติทั้งหมด แต่ถ้าเพียงแต่เราจะไม่เพียงจำ เพราะว่าการจำประโยชน์คือเพื่อเราจะได้ไม่สับสน ไม่เข้าใจผิด เป็นการเตือนให้รู้ว่าโมหมูลจิต ๒ ประเภทต่างกันอย่างไร แม้ว่ามีจำนวนเท่ากันคือเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยจำนวนเท่ากัน แต่ต่างกัน อันนี้ก็คือว่าถ้ามีความเข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็จะไม่เพียงแต่จำจำนวน แต่ประโยชน์ของจำนวนคือจะได้ไม่สับสน จะได้รู้ว่าทั้งสองดวงถึงแม้จะต่างกัน แต่ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยจำนวนเท่ากัน แต่เมื่อต่างกัน ก็ต้องประเภทของเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยต่าง แต่จำนวนไม่ต่าง อันนี้ก็ค่อยๆ เข้าใจไปแต่ไม่ได้หมายความว่าให้มาจำทันที ๑๕ ดวง แล้วก็ชื่อต่างๆ ซึ่งยังไงๆ ก็คงไม่มีประโยชน์สำหรับเพียงจำ แต่ถ้าจะอาศัยความเข้าใจว่าอกุศลจิตทุกประเภทจะขาดโมหเจตสิกไม่ได้เพราะไม่รู้ เพราะมืดมน ไม่สามารถที่จะเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ ขณะนั้นเป็นอกุศล ต้องมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าโมหเจตสิกเกิดเมื่อไหร่ ไม่รู้เมื่อนั้น หน้าที่รู้ไม่ใช่หน้าที่ของโมหเจตสิกเลย แต่หน้าที่ปิดบังไม่ให้รู้นั่นเป็นหน้าที่ของ โมหเจตสิก เราจะค่อยๆ เข้าใจเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกับอกุศลจิต ก็จะรู้ได้ว่าในบรรดาอกุศลจิต ๑๒ ประเภท ลองคิด อกุศลจิตประเภทไหนมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุด อกุศลจิต ในบรรดาอกุศลจิต ๑๒ ประเภท อกุศลจิตประเภทไหนมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุด นี่คือเริ่มคิด เริ่มคิดจากความเข้าใจ ความเข้าใจที่แล้วมา เราก็เอามาประกอบแล้วเอามาไตร่ตรองว่าอกุศลจิตทั้งหมดมี ๑๒ ประเภท โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ ในบรรดาอกุศลจิต ๑๒ ประเภทอกุศลจิตประเภทใดมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุด รู้สึกจะตอบถูกกัน

        ผู้ฟัง น่าจะเป็นโมหะ

        สุ. ทำไมมี “น่าจะ” ด้วย ก็อาจจะเป็นจิตประเภทหนึ่งที่เป็นโมหะประกอบด้วยวิจิกิจฉาได้ไหม คือไม่แน่ใจ แต่ว่าจริงๆ แล้วถ้าเราพูดถึงมูล ก็รู้แล้วว่าสำหรับ โลภมูลจิตมี ๒ มูล โทสมูลจิตก็มี ๒ มูล ส่วนโมหมูลจิตมีมูลเดียวจะน้อยกว่าไหม ใช่ไหม เพียงแค่นี้ เพียงหนึ่งประเภทคือเรื่องของมูลก็จะเห็นได้ว่าโมหมูลจิตต้องมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยน้อยที่สุด คือน้อยกว่าทั้งโลภมูลจิต และโทสมูลจิต ค่อยๆ เข้าใจไป และเมื่อพูดถึงโมจตุกะ ๔ หมายความว่าโมหเจตสิกจะมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยอีก ๓ โดยยกโมหะขึ้นเป็นหัวหน้า อีก ๓ เจตสิกต้องเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลที่จะเกิดร่วมด้วยกับโมหเจตสิก ต้องเป็นอกุศล เจตสิกที่เป็นโสภณจะมาเกิดร่วมด้วยไม่ได้เลย อกุศลจิตจะมีเจตสิกซึ่งสาธารณะทั่วไปที่เกิดกับกุศลจิตก็ได้ อกุศลจิตก็ได้ เกิดร่วมด้วย ๗ ดวงแน่นอนเพราะบอกแล้วจิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุดคือทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ๕ ที่เป็นอกุศลวิบาก และอีก ๕ ที่เป็นกุศลวิบากรวม ๑๐ ดวงนี้มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ นี่ก็แสดงว่าถ้ากล่าวถึงจิตทั้งหมด จิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ต้องมีเพียง ๑๐ เท่านั้นไม่มากกว่านี้เลย เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าถ้าศึกษาเรื่องของจิตต่อไป เราจะมีความเข้าใจว่าเพราะเหตุใด จิตนั้นๆ จึงมีเจตสิกประเภทนั้นๆ เกิดร่วมด้วย โมหมูลจิตมีผัสสเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า มี มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีสัญญาเจตสิก สัพพจิตตสาธารณเจตสิกต้องเกิด ๗ แทนที่จะไปท่องจำนวนโดยที่ไม่รู้ว่าได้แก่อะไรหรือคืออะไร เราก็ค่อยๆ พิจารณาหาเหตุผลว่าถ้าจะนึกถึงโมหมูลจิต เราคิดเองสิ ลองบวกเองสิ ลองหาเหตุผลเองสิว่าความจำของเราความเข้าใจของเราครบถ้วนไหม หรือว่าขาดตกบกพร่อง สำหรับคำถามของคุณสุรีย์ก็น่าจะคิดว่ามีคำตอบแล้วในพระไตรปิฎก แต่ว่าเราจะเข้าใจความหมายนั้นแค่ไหน เพราะเหตุว่าข้อความก็ชัดเจนของความต่าง ของอกุศลจิต ๓ ประเภทว่าสำหรับโลภมูลจิตนอกจากจะมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว ก็ยังมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย อันนี้ก็ชัดเจน ชื่อก็บอกแล้วว่ามีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เมื่อมีโลภะก็ต้องหมายความว่าต้องมีโมหะเกิดร่วมด้วยจึงเป็น ๒ เหตุหรือ ๒ มูล สำหรับโทสมูลจิตมีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย และก็มีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เนื่องจากโมหเจตสิกเกิดร่วมกับอกุศลทุกประเภท ถ้าใช้คำว่าโมหะก็ไม่มีความต่างแต่เพราะเหตุว่าจิตประเภทนี้มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็เรียกว่าโทสมูลจิต ให้เป็นที่เข้าใจว่าจิตนี้มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยพร้อมกับโมหเจตสิก เพราะฉะนั้นสำหรับอกุศลจิตอีกประเภทหนึ่งไม่ใช่โลภมูลจิต ไม่ใช่โทสมูลจิต แต่เป็นโมหมูลจิต เพราะฉะนั้นถ้าจะเข้าใจจิตนี้ก็คือว่าขณะใดที่ไม่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย และไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิตประเภทโมหะ เพราะฉะนั้นที่กล่าวถึงก็คือโมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ เพราะไม่มีวิจิกิจฉาเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ชัดเจน แสดงว่าโมหะก็มี ๒ ประเภทคือมีวิจิกิจฉาเจตสิกเกิดร่วมด้วยประเภทหนึ่ง และไม่มีวิจิกิจฉาเกิดร่วมด้วย

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 176


    หมายเลข 10006
    25 ม.ค. 2567