ธรรมกำลังปรากฏ ปัญญาสามารถอบรมจนประจักษ์แจ้งได้ -พฐ.177


        สุ. ถ้าจะใช้ภาษาธรรมก็ สติเกิด แต่ความจริงไม่ใช่ชื่อสติเกิด แต่ลักษณะของสติซึ่งระลึกทำกิจรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นี่เป็นเรื่องที่ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ ละความไม่รู้ อย่าขวนขวายที่จะคิดว่าอยากจะรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้เท่ากับที่ได้ฟัง เป็นไปไม่ได้เลย เช่น เวลาที่เราพูดถึงโมหมูลจิตต่างกันเป็น ๒ ประเภท คือโมหมูลจิตที่มีวิจิกิจฉาเกิดร่วมด้วยประเภทหนึ่ง และโมหมูลจิตที่ไม่มีวิจิกิจฉาเกิดร่วมด้วยประเภทหนึ่ง เราฟังเรื่องของธรรมทั้งหมดที่มีที่ตัว แต่ว่าเราจะไปรู้ลักษณะของโมหมูลจิตที่ต่างกันเป็นโมหมูลจิตที่เกิดร่วมกับวิจิกิจฉา และโมหมูลจิตที่เกิดร่วมกับอุทธัจจะที่ไม่มีวิจิกิจฉาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ไม่ใช่ว่าเมื่อฟังเท่าไหร่ ก็จะไปรู้เท่านั้น แต่ฟังให้รู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นสิ่งที่มีที่ตัวโดยที่ไม่เคยรู้มาก่อน และแม้จะรู้ก็รู้เพียงชื่อต่างๆ เพราะเหตุว่าขณะนี้สภาพธรรมก็เกิดดับเร็วมาก แล้วถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดระลึกลักษณะหนึ่งลักษณะใด จะชื่อว่ารู้ลักษณะนั้นไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่ลักษณะนั้นก็กำลังปรากฏ อย่างทางตา ปรากฏอยู่แน่นอน เพราะว่ามีจิตที่เห็นแต่จะรู้ความต่างว่าขณะใดที่ไม่หลงลืมสติซึ่งต้องเป็นปกติ เพราะฉะนั้นเพียงผิดปกตินิดเดียว จะทำให้ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม การที่มีการผิดปกติเกิดขึ้น เพราะโลภะ ก็ไม่รู้ ว่าที่ผิดปกตินิดเดียวเพราะมีความต้องการที่จะรู้ จึงมีความจงใจบ้าง มีความตั้งใจบ้าง มีการกระทำต่างๆ บ้าง นี่ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหว คือฟัง แล้วก็รู้ว่าประโยชน์ของการฟัง ก็เพื่อเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจนกว่าสติสัมปชัญญะจะเกิด แต่ไม่ได้หมายความว่ามุ่งหวังพยายามหาทางที่จะไปให้สติสัมปชัญญะเกิด คือโลภะจะเข้ามาตลอดถ้าปัญญาไม่สามารถจะรู้ได้ว่าขณะนั้นผิดหนทาง ด้วยเหตุนี้ในอริยสัจจ์ ๔ โลภะเป็นสมุทัย ถ้าไม่เห็น ละ ไม่ได้ จะละโลภะได้ยังไงเพราะเหตุว่าเป็นไปด้วยโลภะอยู่เรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้แม้ขณะที่ฟัง อาจหาญ ร่าเริง ไม่หวั่นไหวที่จะเข้าใจธรรมว่า แม้ธรรมที่กำลังปรากฏก็เป็นสิ่งที่ปัญญาสามารถที่จะอบรมจนกระทั่งประจักษ์แจ้งได้ แต่ไม่ใช่ด้วยความเป็นตัวตนหรือว่าไม่ใช่ด้วยความอยาก

        เพราะฉะนั้นกถาใดคือคำพูดใดที่เป็นไปเพื่อส่งเสริมให้เกิดโลภะ นั่นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องสามารถที่จะเข้าใจได้ว่าคำนั้นส่งเสริมให้มีตัวตนที่จะทำ หรือว่าส่งเสริมให้ค่อยๆ เข้าใจความจริงว่าธรรมเป็นธรรม แล้วก็เป็นอนัตตา นี่คือการละขั้นหนึ่งคือละขั้นความเห็นผิดซึ่งเกิดจากการไม่เคยฟัง แล้วเวลาที่ฟังแล้วจะมีความเห็นถูกมากเท่าไหร่ ก็คือว่าถ้าเห็นถูกก็รู้ตามความเป็นจริงว่าขณะนี้เป็นธรรม ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ ชั่วขณะนั้นก็จะไม่มีเราซึ่งไปแสวงหาหรือไปทำอะไร แต่เพราะเหตุว่าการที่จะรู้ว่าขณะนี้เป็นธรรมมั่นคงแค่ไหน ก็ต้องอาศัย การฟัง และก็ต้องรู้ว่าหนทางจริงๆ ที่จะถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เป็นหนทางละ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดมีการต้องการขึ้นเมื่อไหร่ ปัญญาที่ได้สะสมมาก็รู้ว่าหนทางนั้นผิด ก็จะถอยกลับจากการที่จะทำผิด แต่จะค่อยๆ คุ้นกับลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทีละเล็กทีละน้อย นี่ก็เป็นเรื่องยากแต่ให้ทราบว่าอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ลึกซึ้ง นี่คือความลึกซึ้งของหนทางด้วย ที่จะทำให้ละความต้องการ มิฉะนั้นแล้วความต้องการไม่มีอะไรจะละได้เลย ถ้าไม่ใช่เป็นความเห็นถูกของตัวเองจากการฟัง

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 177


    หมายเลข 10021
    25 ม.ค. 2567