ขณะที่มีความสงสัยสภาพธรรมขณะนั้นยังไม่ได้เข้าใจ


        ผู้ถาม เรียนถามถึงสภาวะลักษณะของจิตที่หวั่นไหว ก็สรุปลงได้ว่าไม่มั่นคงเพราะมีโลภะ อันนี้เป็นคำตอบใช่หรือเปล่า

        สุ. ก็คงไม่ต้องไปเอาชื่ออะไรว่าอันนี้เป็นอะไร ไปลงช่องไหน แต่ว่าให้ทราบความจริงว่าธรรมเป็นอย่างนี้ และชื่อต่างๆ เพื่อที่จะให้เข้าใจความเป็นอนัตตา แต่ถ้ายังไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะนั้น รู้เพียงชื่อ จะมีประโยชน์ไหม ไขว่คว้าหาชื่อมารู้ แต่ว่าไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ได้ใช้ชื่อนั้นเลย เพราะฉะนั้นเวลาที่ฟังธรรม ประโยชน์อย่างเดียวคือเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตายิ่งขึ้น ที่จะให้เราไปจำพระไตรปิฎกทั้งหมดพร้อมทั้งอรรถกถาเป็นไปไม่ได้เลย ไม่ใช่ท่านพระอานนท์ และก็ไม่ใช่บุคคลในครั้งอดีตด้วย แต่ว่าปัญญาของเราที่สามารถที่จะเข้าใจขึ้นด้วยการละความไม่รู้ อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ และก็มีความมั่นคงที่จะเข้าใจแม้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เผลอๆ อัตตาก็เข้ามาอีกแล้วใช่ไหม จะทำอย่างโน้น จะรู้อย่างนี้ หรืออะไรต่างๆ นั่นก็แสดงให้เห็นว่าการฟังต้องฟังจนกว่าจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม

        พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จากการทรงประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมเพื่อให้บุคคลทั้งหลายที่ได้ยินได้ฟังพระธรรมค่อยๆ เข้าใจขึ้น รู้ขึ้น เพราะฉะนั้นประโยชน์อยู่ตรงนี้ ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจหรือว่าจะจำเพียงชื่อหรืออยากจะรู้ชื่อ อย่างบางท่านก็สนทนากัน ขณะนี้เป็นเมตตาหรือว่าเป็นกรุณา หรือว่าเป็นมุทิตา หรือว่าเป็นอุเบกขา ขณะนี้คือตัวอย่างในชีวิตประจำวัน กำลังคิดถึงเรื่องราวของขณะจิตซึ่งเกิดแล้วดับแล้วด้วย แต่ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่าเมตตาคืออะไร เมื่อสภาพธรรมนั้นเกิด ไม่ต้องมานั่งสงสัย ใช่ไหม ว่านี่เมตตาหรือกรุณา เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจในเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาจริงๆ ก็จะไม่ต้องถามกันว่าแล้วตรงนั้นเป็นเมตตาหรือว่าเป็นกรุณา

        นี่ก็แสดงให้เห็นว่าตราบใดที่ยังมีความสงสัย เพราะมีความไม่รู้ ขณะนั้นก็คือว่าไม่ได้เข้าถึงหรือว่าเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เพียงแต่ว่าจำชื่อ แต่ว่าถ้าเราค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมหรือในคำแต่ละคำที่เราได้ยินได้ฟัง เราจะเป็นผู้ที่ไม่ประมาท เพราะเหตุว่า คำนั้นหมายความถึงลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นถ้าสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามกำลัง ขณะนี้จะเข้าใจโมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ไหม เข้าใจเรื่องราว แต่ตราบใดที่แม้มีลักษณะนั้นแต่สติสัมปชัญญะไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะนั้น ก็ยังต้องสงสัย แล้วก็ยังจะต้องถามว่าแล้วนี่ใช่หรือเปล่า จะใช้คำว่า “แล้วใช่หรือเปล่า” “แล้วเป็นอย่างนี้หรือเปล่า” ตลอด ซึ่งนั่นไม่ใช่ปัญญา ถ้าปัญญา คือเข้าใจ เป็นความเข้าใจของเราเองทีละเล็กทีละน้อยค่อยๆ เพิ่มขึ้น

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 177


    หมายเลข 10022
    25 ม.ค. 2567