ต้องเข้าถึงความเป็นอนัตตาว่าเป็นสภาพธรรม


        ผู้ถาม คำว่า “ไม่หวั่นไหว” กับ “อาจหาญร่าเริง” มันต่างกันยังไง มีความหมายลึกซึ้งยังไงแค่ไหนในการปฏิบัติธรรมคือการเจริญสติปัฏฐาน

        สุ. ที่จริงก็เป็นเรื่องของคำ จะใช้คำว่าหวั่นไหว ไม่หวั่นไหว อาจหาญ สมาทาน ร่าเริง แต่ที่ถูกต้องคือว่ามีความเข้าใจถูก มีความเห็นถูก เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความเข้าใจถูกจะหวั่นไหวไหม ใครพูด ใครบอก น่าเชื่อ น่าฟัง จะทำตามหรือเปล่าเพราะคิดว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังคงจะถูกต้อง เพราะฉะนั้นเรื่องของปัญญาก็คือเป็นเรื่องของความเข้าใจถูก ความเห็นถูกจริงๆ ถ้าเห็นถูก เข้าใจถูก ไม่ว่าใครจะกล่าวว่ายังไง จะหวั่นไหวไหม

        ผู้ถาม หวั่นไหวในที่นี้ก็หมายความว่าลังเลสงสัย หรือว่าขาดวิริยะคือกล้าหาญ

        สุ. ทั้งนั้นเลย อะไรก็ตามที่ขณะนั้นไม่ใช่กุศล และก็ไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่ความเห็นถูกด้วย

        ผู้ถาม แต่ถ้าบอกว่าไม่หวั่นไหวก็คือความไม่ใช่ตัวตน จะได้หรือเปล่า

        สุ. ไม่หวั่นไหวที่จะรู้ว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริง นี่ประการหนึ่ง และสิ่งที่ทรงแสดงมีจริงสามารถที่จะพิสูจน์ได้ เพราะฉะนั้นก็จะไม่หวั่นไหวที่จะได้ฟัง และก็ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟังตรงตามความเป็นจริงกับที่ได้ฟังหรือเปล่า โดยมากท่านผู้ฟังจะเข้าใจความหมายของคำว่า“อนัตตา” ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา นี่คือความรู้ขั้นฟัง แต่ว่าในเมื่อสะสมอวิชชา (ความไม่รู้) มามาก หวั่นไหวว่าจะไม่สามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏหรือเปล่า เพราะว่าบางคนพอได้ฟังว่าธรรม แม้ว่ามีจริง กำลังปรากฏ ก็เป็นเรื่องยาก เพราะเหตุว่าไม่มีตัวตนที่จะไปบังคับให้รู้อย่างที่ได้ยินได้ฟัง ได้ยินได้ฟังเข้าใจแค่ไหนก็จะให้รู้ตามที่ได้ยินได้ฟังแค่นั้น นี่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เพราะเหตุว่านั่นเป็นเพียงความรู้จากการฟัง แต่ว่าจะต้องรู้จริงๆ ว่าเป็นเรื่องราวของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็จะเห็นความต่างกัน ปัญญาเพียงขั้นเข้าใจไม่พอ เพราะเหตุว่าไม่ได้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามที่ได้ฟัง เพราะฉะนั้นบางคนก็อาจจะไม่มีความมั่นคงก็คิดหวั่นไหวที่จะไม่อดทนที่จะฟังให้เข้าใจขึ้นแล้วก็รู้ความจริงว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถจะบังคับบัญชาให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดได้แม้เพียงชั่วจิตหนึ่งขณะ รวมทั้งเจตสิก รวมทั้งรูป สภาพธรรมทั้งหมด ต้องเข้าถึงความเป็นอนัตตาว่าเป็นสภาพธรรม ถ้าเรามีความเข้าใจที่มั่นคงอย่างนี้ ไม่หวั่นไหว ขณะนั้นโลภะก็ไม่สามารถที่จะทำให้เราหวั่นไหวไปในหนทางอื่นหรือว่าในความคิดอื่น เพราะว่าโลภะเป็นสภาพที่มีกำลังฉลาด แต่ไม่ใช่ปัญญา สามารถที่จะแทรกเข้ามาได้ทุกขณะที่จะทำให้ไม่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ บางคนที่สนทนากันท่านก็บอกว่าท่านได้ฟังธรรม แล้วท่านก็เริ่มเห็นลักษณะที่ต่างกันของสิ่งที่ปรากฏเป็นช่องๆ คือทางตานี่ก็อย่างหนึ่ง ทางหูก็อย่างหนึ่ง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็อย่างหนึ่ง นี่เป็นความคิดหรือเป็นการรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม เพราะเหตุว่าปัญญาเป็นเรื่องละเอียด แม้ว่าเราจะได้ยินคำว่า “นามธรรม”เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ซึ่งขณะนี้ก็มี แต่ต้องรู้ขณะที่สติเกิดกับขณะที่หลงลืมสติที่กล่าวถึงขั้นนี้ หมายความถึงขั้นสติสัมปชัญญะที่เป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่สติขั้นฟัง ก็จะต้องรู้เหตุที่จะทำให้สามารถค่อยๆ เข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏโดยรู้ว่าขณะนั้นมีการรู้ลักษณะ และก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ถ้าจะใช้ภาษาธรรมก็ สติเกิด แต่ความจริงไม่ใช่ชื่อสติเกิด แต่ลักษณะของสติซึ่งระลึกทำกิจรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 176


    หมายเลข 10009
    28 ม.ค. 2567