ความไม่รู้ ๘ อย่าง


        ผู้ถาม บางทีมันมีแต่โมหมูลจิตอย่างเดียว

        สุ มีแต่โมหมูลจิตโดยไม่มีอุทธัจจเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้ไหม โมจตุกะ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ ต้องเกิดพร้อมกัน ก็นับเป็นดวงก็ครบแล้วพอถึงตอนนี้จะหายไปไม่ได้

        กุล. ซึ่งในส่วนของโมหมูลจิต ๒ ประเภทนี้ เรายังต้องมีสนทนาอีก เพราะว่าสภาพธรรมที่เป็นโมหมูลจิตที่ประกอบด้วยวิจิกิจฉา ท่านทรงแสดงไว้ด้วยว่าความสงสัยมีถึง ๘ อย่าง จะเห็นได้ว่าโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ผู้ที่ละได้คือพระโสดาบัน

        วิ. โมหมูลจิต ก็หมายถึงจิตที่เกิดมีโมหะนั้นเป็นมูลหรือเป็นเหตุ โดยสภาพของโมหะก็เป็นความหลง ความไม่รู้ในอริยสัจจ์ ๔ บางแห่งก็จะกล่าวถึงความไม่รู้ ๘ อย่าง คือไม่รู้ในทุกข์ ในสมุทัย ในนิโรธ ในมรรค และก็ในขันธ์ที่เป็นไปในส่วนอดีต ขันธ์ที่เป็นไปในส่วนอนาคต ขันธ์ที่เป็นไปในส่วนทั้งอดีต และอนาคต และก็ไม่รู้ในธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น ก็คือในปฏิจจสมุปบาท

        อ.อรรณพ โมหะ เป็นสภาพที่มีทั้งโทษมาก แล้วก็คลายได้ช้า และเราก็มีการสะสมความไม่รู้นี่มากมายตลอดสังสารวัฏฏ์ ในขณะที่มีความโกรธ มีความไม่พอใจ ขุ่นเคืองจะมากจะน้อย ขณะนั้นก็ไม่ใช่เพียงลำพังแค่ความโกรธเท่านั้น ก็ยังมีสภาพธรรมที่เกิดประกอบร่วมด้วยก็คือความไม่รู้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะรักจะชังประการต่างๆ ก็มีพื้นฐานส่วนสำคัญมาจากความไม่รู้นั่นเอง เพราะฉะนั้นการที่จะละคลายได้ก็คือการศึกษาธรรมการอบรมเจริญปัญญาซึ่งเป็นสภาพที่ตรงข้ามกับโมหะ ก็คือปัญญานั่นเอง

        ธี. โมหะ เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นกับอกุศลจิตทุกดวง โมหเจตสิก ถ้าเกิดกับจิตที่ประกอบด้วยวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ คือความสงสัย ขณะนั้นเป็นจิตที่ลังเลตัดสินไม่ได้เพราะว่าไม่รู้ตามความเป็นจริง ตัดสินไม่ได้ในอะไร ในสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม สงสัยในสภาพธรรมต่างๆ สงสัยในคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่ามีจริงหรือไม่ สงสัยในพระธรรมว่าพระธรรมนี่สามารถที่จะยังให้สัตว์ผู้ประพฤติปฏิบัติตามพ้นจากทุกข์ได้ ธรรมนั้นสามารถให้สัตว์นั้นพ้นทุกข์ได้จริงหรือๆ ว่าสงสัยในคุณของพระสงฆ์ คำว่าพระสงฆ์ ผู้ที่ฟังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วปฏิบัติตาม และสามารถที่จะพ้นทุกข์ได้ บุคคลประเภทนี้มีจริงหรือๆ ไม่ก็สงสัยในสิกขา ข้อประพฤติปฏิบัติในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา สงสัยในขันธ์ๆ ที่เคยเป็นมาแล้วในอดีตชาติว่าเคยเป็นบุคคลไหน เมื่อเกิดมาแล้วเป็นบุคคลประเภทไหน มีสัณฐานอย่างไร เมื่อตายจากชาตินั่นแล้วไปเกิดอีกชาติอื่นเป็นอะไร หรือว่าสงสัยในขันธ์ที่เป็นอนาคตว่าในอนาคตเราจะเป็นใครจากอนาคตนั้นตายแล้วไปเป็นบุคคลประเภทไหน นี่เป็นความสงสัยในสภาพธรรมที่เรียกว่าโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ คือมีความสงสัยสัมปยุตต์เกิดร่วมด้วย และอีกประเภทหนึ่งเป็นโมหมูลจิตที่มีอุทธัจจสัมปยุตต์เกิดร่วมด้วยเป็นประธาน คือเป็นโมหมูลจิตอีกประเภทหนึ่ง ทั้ง ๒ ประเภทนี้เกิดกับอุเบกขาเวทนาเท่านั้น โมหมูลจิตจะไม่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา (ความยินดี) หรือว่าโทมนัสเวทนา (ความยินร้าย) แต่ว่ามีลักษณะเป็นกลางวางเฉยๆ ด้วยความไม่รู้ในสภาพธรรมทั้งหลาย

        ธิ. ลักษณะของโมหมูลจิตทั้ง ๒ ประเภท โมหมูลจิตดวงแรกที่เป็น อุทธัจจสัมปยุตต์ก็จะเป็นความไม่รู้ๆ ในลักษณะของสภาพธรรมต่างๆ ปกปิดสภาวะต่างๆ มีความมืดมนเป็นอาการปรากฏ มีอโยนิโสมนสิการ (ความไม่แยบคาย) ในขณะนั้น ส่วนวิจิกิจฉา นอกจากจะไม่รู้ลักษณะอารมณ์นั้นตามความเป็นจริงด้วยลักษณะของโมหเจตสิกแล้ว ยังมีความสงสัยในลักษณะของอารมณ์นั้น ว่าจะเป็นอย่างนี้ดีหรืออย่างนี้ดี อย่างเช่นสงสัยในลักษณะของนามธรรม จะเป็นลักษณะของนามธรรมหรือเป็นลักษณะของรูปธรรม จะเป็นลักษณะยังไง สงสัยในสภาพธรรมต่างๆ เพราะยังไม่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง

        ลักษณะของวิจิกิจฉาที่สงสัยในสิกขา ๓ ข้อปฏิบัติจะมีการสงสัยอย่างไร

        สุ. ก็อย่างที่สงสัยกันอยู่ โดยมากถ้าเราคิดว่าเราได้ยินธรรมแล้วเราอยากจะรู้ว่าเป็นอะไร ขณะไหน เราก็พยายามคิด แต่เวลาที่สภาพธรรมนั้นเกิด เราไม่รู้ เพราะฉะนั้นถ้ามีความสงสัยว่าการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เช่น แข็ง ทำให้สามารถแทงตลอดในการเกิดดับ สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ไหม ขณะนั้นก็คือความสงสัย

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 176


    หมายเลข 10008
    25 ม.ค. 2567