เมตตา ๑๐ - อบรมเจริญเมตตา...ย่อมรู้ลักษณะของจิตที่เมตตา

 
chaiyut
วันที่  10 ต.ค. 2550
หมายเลข  5073
อ่าน  1,458

ผู้มีปกติอบรมเจริญเมตตา...ย่อมรู้ลักษณะของจิตที่เมตตา

ท. ก็เริ่มไปเรื่อยๆ เห็นคนอื่นทั่วๆ ไป ยอมนึกว่าขอให้บุคคลทั้งหลายเหล่านี้จงมีความสุข ไม่มีความทุกข์

ส. ทำไมมีบุคคลทั้งหลาย

ท. ในเมื่อเห็นบุคคลเป็นหมู่เป็นกลุ่ม

ส. ถ้าอย่างนั้น เวลานี้เพียงรู้ว่าเป็นนามธรรมและรูปธรรม ทั้งนั้น ไม่ใช่สัตว์ บุคคลตัวตนเลย แต่ไม่รู้ลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิด พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะที่พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนรู้ชัดประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะจริงๆ ฉันใด การที่จะเจริญเมตตาก็ฉันนั้น คือต้องมีสติสัมปชัญญะ รู้ลักษณะของจิตที่เมตตาต่อแต่ละคน มิฉะนั้น จะรู้ได้อย่างไรว่าเพียงท่องหรือเพียงคิดคำเมตตาต่างๆ หรือมีเมตตาจิตจริงๆ ต่อแต่ละบุคคลนั้น

ท. ในขณะที่ท่อง บางครั้งสัมปชัญญะอาจจะไม่มี แต่ขณะนั้นสติมีในขณะที่ท่อง
ส. ฉะนั้น จึงควรเข้าใจความหมายของเจริญเมตตาและแผ่เมตตา ถ้ายังไม่ได้เจริญเมตตาจริงๆ แล้วจิตใจยังไม่มีความปรารถนาดีเป็นมิตรต่อใครๆ ที่พบเห็นก็อย่าเพิ่งแผ่เมตตา ควรเริ่มอบรมมีเมตตาต่อผู้อื่น ทั้งทางกายวาจา ใจ ซึ่งเมตตาย่อมเจริญเพิ่มขึ้น มากขึ้นทีละเล็ก ทีละน้อย จนกระทั่งไม่ว่าจะนึกถึงใคร พบเห็นใครในขณะไหน กาย วาจา ใจ ก็ประกอบด้วยเมตตาจริงๆ ไม่ใช่พอท่องเสร็จ สายตาหรือกายหรือวาจาไม่เหมือนที่ท่องสักนิดเดียว

การเจริญเมตตาจริงๆ นั้นไม่ใช่ท่อง แต่เวลาเห็นใครก็ระลึกรู้สภาพของจิตในขณะนั้นได้ว่าไม่ดูหมิ่น ดูถูกบุคคลนั้น แม้เพียงในใจหรือเปล่า ไม่พอใจในกิริยาวาจาลักษณะท่าทางของบุคคลนั้นบ้างหรือเปล่า พูดกับบุคคลนั้นด้วยความหวังดีเป็นมิตรไมตรี เกื้อกูล แสวงหาประโยชน์ ให้บุคคลนั้นหรือเปล่า ไม่ใช่คิดท่องเป็นคำๆ เป็นระเบียบเป็นบรรทัดโดยเริ่มตั้งแต่ขอให้สัตว์ทั้งปวงเป็นผู้มีความสุข ปราศจากทุกข์ ไม่มีเวรซึ่งกันและกัน ไม่ต้องคิดท่องเป็นคำๆ เป็นระเบียบอย่างนั้น แต่คิดที่จะทำประโยชน์ให้แก่บุคคลนั้น คิดที่จะปกป้องคุ้มครองไม่ให้บุคคลนั้นเดือดร้อน คิดในสิ่งที่เป็นกุศลที่ประกอบด้วยเมตตา แต่ไม่ใช่ท่องเป็นคำเป็นระเบียบอย่างนั้น ถ้าจะท่องก็ต้องนึกถึงคำที่จะท่องและจะนึกอะไรก่อน ขอให้สัตว์ทั้งหลายมีความสุขก่อน หรือว่าขอให้สัตว์ทั้งหลายปราศจากเวรก่อน แต่ว่าสภาพของเมตตานั้นแล้วแต่เหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เมตตาจะเกิดขึ้น เกื้อกูลบุคคลอื่นตามสมควรแก่สภาพการณ์ในขณะนั้นๆ ด้วยกายบ้าง ด้วยวาจาบ้าง แทนที่จะท่องเป็นระเบียบ

ผู้ที่เข้าใจลักษณะของเมตตาจึงจะเจริญเมตตาได้ และอย่าเพิ่งแผ่เมตตาจนกว่าจะอบรมเมตตากว้างใหญ่ไพศาลพอที่จะแผ่ได้ เพราะความจริงผู้ที่จะแผ่เมตตาแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงได้ ต้องบรรลุอัปปนาสมาธิ คือถึงปฐมฌาณแล้ว

ท. ในตำราท่านกล่าวไว้ เราก็ท่องไปตามตำรา

ส. แล้วเวลาที่เมตตาจิตเกิด จะต้องเกิดเป็นระเบียบอย่างนั้นหรือเปล่า

ท. ไม่เป็น

ส. ขอให้เข้าใจลักษณะเมตตาจริงๆ แล้วเจริญเมตตา ให้มากขึ้น อย่าเพิ่งแผ่จนกว่าจะเจริญเมตตาได้มากจริงๆ แล้ว

..จากหนังสือ "เมตตา" เปิดอ่าน --> คลิกที่นี่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
wannee.s
วันที่ 11 ต.ค. 2550

เมตตาคือความปรารถนาดี ให้ผู้อื่นมีความสุข

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 24 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 25 ก.พ. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ