หนทางเดียวที่จะละความหวัง

 
เมตตา
วันที่  11 เม.ย. 2568
หมายเลข  49747
อ่าน  193

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 286

๒. จิตตสูตร

[๑๘๐] เทวดาทูลถามว่า

โลกอันอะไรย่อมนำไป อันอะไรหนอย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คืออะไร.

[๑๘๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า

โลกอันจิตย่อมนำไป อันจิตย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือ จิต.

อรรถกถาจิตตสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในจิตตสูตรที่ ๒ ต่อไป :-

บทว่า สพฺเพว จ สมนฺวตุ ความว่า ธรรมเหล่าใดย่อมไปสู่อำนาจของจิต จิตนี้ย่อมครอบงำธรรมเหล่านั้นนั่นแหละทั้งสิ้น.

จบอรรถกถาจิตตสูตรที่ ๒


[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ -หน้าที่ 682

อรรถกถาอุทยัพพยญาณนิทเทส

พระโยคาวจรนั้น เมื่อเห็นความเกิดและความเสื่อมของขันธ์ ๕ อย่างนี้ ย่อมรู้อย่างนี้ ว่า การรวมเป็นกองก็ดี การสะสมก็ดี ย่อมไม่มีแก่ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก่อนแต่ขันธ์เหล่านี้เกิด ชื่อว่าการมา โดยรวมเป็นกอง โดยความสะสม ย่อมไม่มีแม้แก่ขันธ์ที่เกิดขึ้น, ชื่อว่าการไปสู่ทิศน้อยใหญ่ ย่อมไม่มีแม้แก่ขันธ์ที่ดับ ชื่อว่าการตั้งลงโดยรวมเป็นกอง โดยสะสม โดยเก็บไว้ในที่แห่งหนึ่ง ย่อมไม่มีแม้แก่ขันธ์ที่ดับแล้ว. เหมือนนักดีดพิณ เมื่อเขาดีดพิณอยู่เสียงพิณก็เกิด, มิใช่มีการสะสมไว้ก่อนเกิด, เมื่อเกิดก็ไม่มีการสะสม การไปสู่ทิศน้อยใหญ่ออกเสียงพิณที่ดับไปก็ไม่มี ดับแล้วไม่ว่าที่ไหนก็ไม่สะสมตั้งไว้ ที่แท้แล้วพิณก็ดี นักดีดพิณก็ดีอาศัยความพยายามอันเกิดแต่ความพยายามของลูกผู้ชายไม่มีแล้วยังมีได้ ครั้นมีแล้วยังเสื่อมได้ฉันใด ธรรมมีรูปและไม่มีรูปแม้ทั้งหมดก็ฉันนั้นไม่มีแล้วยังมีได้ ครั้นมีแล้วยังเสื่อมได้ พระโยคาวจรย่อมเห็นด้วยประการฉะนี้แล


อ.อรรณพ: ๒ - ๓ สัปดานี้ เราก็ สนทนาเพื่อเข้าใจสภาพรู้ ธาตุรู้ ครับ โดยเฉพาะ สภาพรู้ ธาตุรู้ที่เข้าใจยาก เป็นภายในจริงๆ เลย เป็นใหญ่ ก็คือ จิต ซึ่งเมื่อวาน อ.คำปั่น ก็สนทนาในเรื่อง จิตเป็นใหญ่ ก็สนทนากันไปตามฐานะความเข้าของพวกเรา ก็คิดว่า จะได้รับสาระประโยชน์อย่างสูง ถ้า อ.คำปั่น และพวกเราได้มีประเด็นกราบเรียนท่านอาจารย์ต่อเนื่องในเรื่องนี้ เพราะว่า ก็เป็นสิ่งที่ยากจริงๆ แสนโกฏิกัปป์จนถึงบัดนี้ ก็มีแต่ ธาตุรู้ ที่ไม่รู้จักอยู่อย่างนี้ครับ

อ.คำปั่น: เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งของการศึกษา ก็ได้รับความเกื้อกูลจากท่านอาจารย์โดยตลอด ก็คือ ศึกษาธรรมทีละคำ ครับ เป็นคำที่เตือนอย่างยิ่ง กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ การที่จะค่อยๆ เริ่มเข้าใจในความเป็นจริงของจิต คืออย่างไร ครับ

ท่านอาจารย์: หวังมากไหม?

อ.คำปั่น: ทุกครั้งที่ศึกษา ก็มีความประสงค์ที่จะมีความเข้าใจครับก็ปนกันอยู่ครับระหว่างความเป็นผู้เห็นประโยชน์ กับอยากที่จะเข้าใจในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจครับ

ท่านอาจารย์: จนกว่าจะรู้ว่า ระหว่างที่หวัง ที่ถาม ที่สนทนาเรื่องของจิต และจิตก็กำลังเกิดดับ ยากแค่ไหนที่จะรู้ได้

เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ลืมไม่ได้เลย หนทางเดียวที่จะละความหวัง คือรู้ว่า หวังเมื่อไหร่ก็ปิดหนทางที่จะรู้ความจริงเมื่อนั้น ลึกซึ้งไหม?

อ.คำปั่น: ลึกซึ้งครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ต้องฟังด้วยการละตั้งแต่ต้น ละเพราะรู้ว่า สุดปัญญาที่จะไปทำอะไรทั้งสิ้น ไม่มีปัญญา หรืออะไรทั้งหลายที่จะทำ นอกจากปัญญาที่รู้ความจริง

ค่อยๆ เข้าใจความจริงทีละเล็กทีละน้อย จะเอาสิ่งที่เราชาวโลกเรียกว่าปัญญามาพยายามสักเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ เพราะว่ายิ่งพยายามยิ่งไม่รู้ว่า ธรรมลึกซึ้ง จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ และทุกขณะไม่เคยขาดจิต ธาตุรู้ ได้ยินได้ฟังทุกวัน แต่ก็กว่าจะถึงลักษณะที่เป็นธาตุที่กำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เห็นไหม? แค่นี้!! เป็นธาตุที่กำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ทั้งๆ ที่มีสิ่งที่ปรากฏ แต่อีกนานเท่าไหร่กว่าความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยในธรรมอื่นทั้งหมดจะประกอบด้วย ไม่ใช่มีเพียงแค่นี้ประโยคเดียว แต่ว่า ทุกประโยคทำให้เห็นความลึกซึ้งยิ่งขึ้นมหาศาล จนกระทั่งรู้ว่า การที่จะหวัง หรือว่า จะทำอะไรก็ตาม ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้ถึงความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ได้ นอกจากค่อยๆ เข้าใจความลึกซึ้ง

ขณะที่เข้าใจความลึกซึ้ง หวังหรือเปล่า? ลึกซึ้งแล้วจะหวังไหม? ไม่ต้องไปหวังอะไรทั้งสิ้น แต่ตราบใดที่มีการไตร่ตรอง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ทำกิจหน้าที่ที่จะค่อยๆ รู้ความจริง การใส่ใจค่อยๆ ใส่ใจทีละเล็กทีละน้อยโดยไม่ได้จงใจ แล้วจะรู้ไหมว่า ขณะนั้นไม่ใช่เราโดยไม่ได้จงใจ ก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ละนี่ ต้องละตั้งแต่ต้นเลย ละตั้งแต่รู้ว่าลึกซึ้ง จนเกินประมาณที่ใครจะไปหว้งอะไรได้ทั้งสิ้น นอกจากเข้าใจความจริงมั่นคงขึ้น

อ.คำปั่น: กราบเท้าท่านอาจารย์ เป็นสิ่งที่ละเอียดมากเลยครับ ก็ค่อยๆ ฟังค่อยๆ สะสมความเข้าใจ ขณะนั้นก็ไม่มีความหวังครับ เพราะว่าขณะนั้นความเข้าใจเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ครับ ก็ไม่มีทางอื่นนอกจากฟังต่อไป ศึกษาต่อไป ด้วยความเป็นผู้เห็นประโยชน์ของการที่จะค่อยๆ เข้าใจความจริงจากการได้อาศัยคำจริง แต่ละคำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครับ

ขอเชิญอ่านได้ทึ่..

ทุกข์และสมุทยสัจเป็นธรรมลุ่มลึก เพราะเห็นได้ยาก [อรรถกถาวิภังคสูตร]

ขอเชิญฟังเพิ่มได้ที่..

ความยากของการเจริญปัญญา

การศึกษาธรรมศึกษาอย่างไร

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

กราบยินดีในกุศลจิตของ อ.อรรณพ อ.คำปั่น ด้วยความเคารพค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 เม.ย. 2568

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ