ละความเห็นผิดที่เป็นเรา

 
เมตตา
วันที่  1 ก.พ. 2567
หมายเลข  47347
อ่าน  326

สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๗

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 16

บทว่า รูปํ อตฺตโต สมนุปสฺสติ ความว่า ภิกษุบางรูปในศาสนานี้พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นตนว่า รูปอันใด เราก็อันนั้น เราอันใด รูปก็อันนั้น พิจารณาเห็นรูปและอัตตาว่าเป็นอย่างเดียวกัน. ภิกษุบางรูปในศาสนานี้พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นตน ฯลฯ พิจารณาเห็นรูปและตนว่าเป็นอย่างเดียวกัน รวมความว่า ย่อมเห็นรูปด้วยทิฏฐิว่า ตนเหมือนประทีปน้ำมันที่กำลังตามอยู่ คนย่อมเห็นเปลวไฟและสีเป็นอย่างเดียวกันว่า เปลวไฟอันใด สีก็อันนั้น สีอันใด เปลวไฟก็อันนั้น. บทว่า รูปวนฺตํวา อตฺตานํ ความว่า ยึดสิ่งที่ไม่มีรูปว่าเป็นตน ย่อมพิจารณาเห็นสิ่งที่ไม่มีรูปนั้นว่ามีรูป เหมือนเห็นต้นไม้ที่มีเงา. บทว่า อตฺตนิ วา รูปํความว่า ยึดสิ่งที่ไม่มีรูปนั่นแหละว่าเป็นตน พิจารณาเห็นรูปในตนเหมือนกลิ่น ยึดสิ่งที่ไม่มีรูปนั่นแหละว่าเป็นตน พิจารณาเห็นรูปในตน เหมือนกลิ่นในดอกไม้. บทว่า รูปสฺมึ วา อตฺตานํ ความว่า ยึดสิ่งที่ไม่มีรูปนั่นแลว่าตน พิจารณาเห็นตนนั้นในรูป เหมือนแก้วมณีในขวด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รูปํ อตฺตโต สมนุปสฺสติ ความว่าท่านกล่าว รูปล้วนๆ นั่นแลว่าตน.อีกอย่างหนึ่งท่านกล่าว สิ่งที่ไม่มีรูปในฐานะ ๗ เหล่านี้ว่า พิจารณาเห็นตนมีรูป หรือ รูปในตน หรือตนในรูป๑ เวทนา โดยเป็น ตน ๑ ฯลฯ สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยเป็นตนกล่าว ตน ที่ระคนปนกับรูปและอรูปในฐานะ ๑๒ โดยขันธ์ ๓ ในบรรดาขันธ์ ๔ อย่างนี้ว่า พิจารณาเห็นตนมีเวทนา หรือเวทนาในตนหรือตนในเวทนา ในบรรดาขันธ์เหล่านั้น ท่านกล่าวอุจเฉททิฏฐิ ในฐานะว่า พิจารณาเห็นรูปโดยเป็นตน พิจารณาเห็นเวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณโดยเป็นตน. ในทิฏฐิที่เหลือ สัสสตทิฏฐิ ย่อมเป็นอย่างนี้สรุปความว่า ในปัญจขันธ์เหล่านี้ ภวทิฏฐิ ๑๕ (วิภวทิฏฐิ ๕) ย่อมเป็นอย่างนี้ ทิฏฐิเหล่านั้นทั้งหมดพึงทราบว่า ย่อมห้ามมรรค ไม่ห้ามสวรรค์อันโสดาปัตติมรรค พึงฆ่า.


อ.อรรณพ: เป็นประโยชน์อย่างยิ่งการเข้าใจเรื่องละวาง ท่านอาจารย์ก็กล่าวว่า ยิ่งรู้ยิ่งลึกก็ยิ่งละ

ท่านอาจารย์: เห็นความลึกซึ้งของแต่ละคำ แม้แต่เพียงคำว่า ละวาง

อ.อรรณพ: วันนี้ท่านอาจารย์มากล่าว เห็นขึ้นครับ เห็นขึ้นว่าอย่างไร มีใครจะตอบสนทนากับท่านอาจารย์ว่า เห็นในความลึกซึ้งของ ละวาง เพิ่มขึ้นไหม อย่างไร?

อ.ธนพล: ผมยังไม่เห็นความลึกซึ้ง แต่เมื่อเช้าผมประทับใจที่ท่านอาจารย์บอกว่า ที่จะละกิเลส ละหนทางผิดเสียก่อนซึ่งผมว่าต้องเป็นความลึกซึ้งอย่างมากเลยครับว่าถ้าไม่ละความเห็นผิด ละหนทางผิดแล้วล่ะก็ อย่างเช่น หวังที่จะไปละกิเลส หวังที่จะไปรู้อะไรเยอะๆ ขณะนั้นก็ไม่ได้ละครับ

ท่านอาจารย์: ก็เริ่มรู้ยิ่งฟังก็ยิ่งรู้ใช่ไหม เพราะฉะนั้น จะขาดการฟังแล้วก็คิดเองก็ไม่ได้ เพราะใครจะรู้ความลึกซึ้งของสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เดี๋ยวนี้มั่นคงหรือยังว่า สิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ไม่ได้ปรากฏตามความเป็นจริง

อ.ธนพล: ไม่ได้ปรากฏตามความเป็นจริงครับ แต่ก็ค่อยๆ มั่นคงขึ้นครับ แต่ยังไม่สามารถบอกว่ามั่นคงแล้วครับ

ท่านอาจารย์: บอกไม่ได้หรอกค่ะ เพราะเหตุว่าละเอียดอย่างยิ่ง เพราะว่าไปบอกมั่นคงแต่ไม่รู้อะไรเลยก็ผิด แต่เพราะเข้าใจขึ้นจึงมั่นคงขึ้นในความเป็นจริงที่ลึกซึ้ง ทุกคำละเอียดมาก ธรรมปรากฏทีละหนึ่ง ถูกต้องไหม?

อ.ธนพล: ถูกต้องครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: เดี๋ยวนี้ปรากฏทีละหนึ่งหรือเปล่า?

อ.ธนพล: ยังไม่ปรากฏทีละหนึ่งครับ

ท่านอาจารย์: ยังรวมกันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้หลงเข้าใจว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดใช่ไหม?

อ.ธนพล: ใช่ครับ

ท่านอาจารย์: ถ้ายังคงเป็นธรรมที่รวมกัน ไม่ปรากฏทีละหนึ่ง จะละความเห็นผิดที่ยึดถือว่า ธรรมนั้นเป็นอย่างนั้น เป็นสิ่งนี้ เป็นคนนั้น เป็นคนนี้ได้ไหม?

อ.ธนพล: ไม่ได้ครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้กำลังเป็นคุณธนพลนั่ง หรือจะทำอะไรก็ได้ใช่ไหม?

อ.ธนพล: ใช่ครับ

ท่านอาจารย์: ยังเป็นไปตลอดจนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจธรรมที่กำลังมีทีละหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่คุณธนพล

อ.ธนพล: กราบเท้าท่านอาจารย์มากเลยนะครับ

ท่านอาจารย์: ความจริงต้องเป็นความจริง แลัวสามารถจะรู้ได้ แต่ด้วยความเข้าใจความจริงนั้นทีละเล็กทีละน้อยที่ละความไม่รู้ที่ปิดบังและความหวังที่ปิดบังทันทีที่หวังอย่างอื่น แต่ไม่รู้ความจริง

นั่นล่ะค่ะ ความลึกซึ้งอย่างยิ่งที่ประมาทไม่ได้เลย เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ความเข้าใจถูกก็ต้องเป็นความเข้าใจถูก และความจริงก็ต้องเป็นความจริงอย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตามลำดับขั้น ปริยัติ ปฏิปัตติ ปฏิเวธะ

เพราะฉะนั้น ฟังธรรมเพื่ออะไร?

อ.ธนพล: เพื่อความเข้าใจครับผม

ท่านอาจารย์: เพื่อความเข้าใจถูกต้อง ไม่ใช่ความเข้าใจผิดเหมือนเดิม ความเข้าใจถูกก็ต้องเริ่มต้นจากการฟังในความละเอียดจนละความเห็นผิดที่เป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่หวัง และทำอะไรเพื่อต้องการจะรู้ความจริง ตรงต่อความเป็นจริงไหม?

อ.ธนพล: ตรงต่อความเป็นจริงครับ ขนาดว่าที่ว่าละหนทางผิด แต่ในชีวิตประจำวันกำลังเดินทางในหนทางที่ไม่ใช่หนทางที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ขณะนั้นแม้แต่ละหนทางผิดก็ยังไม่ได้ทำจริงๆ

ท่านอาจารย์: แล้วก็ถ้าไปทำอย่างอื่นที่หวังว่าจะประจักษ์แจ้งความจริง ผิดไหม?

อ.ธนพล: ผิดแน่นอนครับ

ท่านอาจารย์: นี่ล่ะค่ะ ที่กำลังละความเห็นผิดทีละเล็กทีละน้อย

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

เห็นภัยความเห็นผิด

จะออกจากความเห็นผิดได้อย่างไร

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

ชีวิตประจำวันยังเห็นเป็นคน

มีประโยชน์หรือเปล่าที่จะรู้ความจริง

ความเห็นถูกและความเห็นผิด

ผู้แสวงหาสัจจธรรม

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 2 ก.พ. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณ คุณเมตตาและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
swanjariya
วันที่ 2 ก.พ. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและยินดียิ่งในกุศลทุกประการค่ะน้องเมตตา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ