สละวางทุกสิ่งทุกอย่าง

 
เมตตา
วันที่  3 ก.พ. 2567
หมายเลข  47352
อ่าน  266

สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๗

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 355

๗. สุพรหมสูตร

[๒๖๙] สุพรหมเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า จิตนี้สะดุ้งอยู่เป็นนิตย์ ใจนี้หวาด เสียวอยู่เป็นนิตย์ ทั้งเมื่อกิจไม่เกิดขึ้นทั้ง เกิดขึ้นแล้วก็ตาม ถ้าความไม่สะดุ้งกลัวมีอยู่ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว โปรดตรัส บอกความไม่สะดุ้งนั้น แก่ข้าพระองค์เถิด

[๒๖๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เรายังมองไม่เห็นความสวัสดีแห่ง สัตว์ทั้งหลาย นอกจากปัญญาและความเพียร นอกจากความสำรวมอินทรีย์ นอกจากความสละวางทุกสิ่งทุกอย่าง สุพรหมเทวบุตรได้กล่าวดังนี้แล้ว ฯลฯ ก็อันตรธานไปในที่นั้นเอง


อ.อรรณพ: ก็เป็นความละเอียดอย่างยิ่ง แล้วก็เป็นประโยชน์ตั้งแต่แรกว่า เข้าใจแค่ไหนก็ละแค่นั้น ซึ่งในสุพรหมสูตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความสละวางทุกสิ่งทุกอย่างไว้เป็นบทสุดท้ายเลย ทรงเริ่มตั้งแต่ปัญญา ความเพียร ความสำรวมอินทรีย์ และก็ข้อสุดท้ายประการสุดท้ายซึ่งต้องมีความสำคัญมาก คือความสละวางทุกสิ่งทุกอย่าง จึงจะถึงความสวัสดีจริงๆ คือสละวางไม่ใช่แค่อย่างเดียว ทุกสิ่งทุกอย่างเลย สละวางทุกสิ่งทุกอย่างเป็นความละเอียดลึกซึ้งอย่างไร จะได้เป็นประโยชน์ในขั้นปริยัติของพวกเราไปก่อนในความสละวางครับ

ท่านอาจารย์: ถ้าไม่รู้ก็ไม่ละใช่ไหม?

อ.อรรณพ: ใช่ครับ ถ้าไม่รู้ก็ไม่ละ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ก็ยังคงเป็นเราเห็น เราได้ยิน เพราะเพียงเริ่มรู้ด้วยความเข้าใจความจริง เริ่มรู้ด้วยความเข้าใจว่า ความจริงเป็นอย่างนี้

เพราะฉะนั้น ถ้ามีปัญญาไตร่ตรองละเอียด ก็จะรู้ว่า ยังไม่ถึงการประจักษ์แจ้งความจริงอย่างนี้ ซึ่งจะเกิดเองไม่ได้นอกจาก การฟัง แล้วก็มีความเข้าใจขึ้นในความเข้าใจขึ้นในสิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะส่วนใหญ่เราจะลืม ที่เราฟังธรรมนี่เราคิดว่าอยู่ในหนังสือ จำได้หมด สามารถที่จะตอบได้ อะไรได้ แต่ชีวิตจริงๆ เข้าใจอะไรไหมทั้งๆ ที่ที่เราเรียนมาทั้งหมดไม่ได้อยู่ไหนเลย นอกจากชีวิตจริงๆ

อ.อรรณพ: นี่ยิ่งเห็นถึงความละเอียดลึกซึ้งของปัญญาระดับที่สูงขึ้นที่จะเป็นไปที่จะละ ละความยึดถือในเห็น ละความยืดถือในได้ยิน ในคิดนึก หรือในสิ่งที่กำลังมีกำลังปรากฏ ซึ่งในคลิปตั้งแต่ปี ๖๔ ซึ่งเมื่อวานนี้เรานำมาสนทนากัน ท่านอาจารย์ก็ถามว่า เดี๋ยวนี้มี หรือเดี๋ยวนี้ไม่มี ซึ่งท่านอาจารย์ก็ได้กล่าวไว้ทั้ง ๒ นัย ๒ ประการ เริ่มต้นท่านอาจารย์ก็กล่าวถึง สิ่งที่มีจริง ต้องจริงเดี๋ยวนี้ แต่ในคลิปที่ท่านอาจารย์มุ่งจะกล่าวถึงความสละวางทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งเป็นพระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในสุพรหมสูตรซึ่งเป็นประการสุดท้ายที่ละเอียดที่สุด ท่านอาจารย์กล่าวว่า เดี๋ยวนี้ไม่มี เดี๋ยวนี้ไม่มี แต่ว่าเริ่มต้นท่านอาจารย์กล่าวว่า ก็ต้อง มี เดี๋ยวนี้ มี ต้องเป็นสิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงก็ต้องมีจริง และต้องมีเดี๋ยวนี้ แต่ในความลึกซึ้ง ก็คือเดี๋ยวนี้ไม่มี กราบท่านอาจารย์ได้กรุณาอีกสักครั้ง ที่จะกล่าวถึงทั้ง ๒ ข้อความนี้ หรือ ๒ นัยนี่ จะสอดคล้องกันประการใดอย่างไร?

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ตรงต่อความเป็นจริงทุกขณะ เดี๋ยวนี้มีไหม?

อ.อรรณพ: เดี๋ยวนี้มีครับ

ท่านอาจารย์: แล้วเดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วใช่ไหม?

อ.อรรณพ: สิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ ก็ไม่มีแล้วครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: นั่นล่ะค่ะ จนกว่าจะรู้จริงๆ

อ.อรรณพ: สุดแสนจะลึกซึ้งครับท่านอาจารย์ ลึกซึ้งที่สุด

ท่านอาจารย์: กำลังเป็นหนทางละ ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่นเลยทั้งสิ้น แต่ความเข้าใจในความเป็นจริงที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ค่อยๆ นำไปสู่การรู้สิ่งที่กำลังเป็นอย่างนั้น แต่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในทุกสิ่งที่มีในชีวิต ละวางหมดสิ้น เห็นไหม ถ้ายังเหลืออยู่ วันนี้เราทำอะไรบ้าง ไม่รู้เลยสักอย่าง อย่างนั้น ละวาง หรือเปล่า? และกว่าจะหมดสิ้น ลองคิดดู ความจริงเป็นความจริง การเริ่มเป็นผู้ตรงต่อความเป็นจริงทีละเล็กทีละน้อย

เข้าใจถูกสามารถนำไปสู่การละวางความไม่รู้ และการยึดถือสภาวธรรมทีละเล็กทีละน้อยจนประจักษ์แจ้ง ลึกแค่ไหน เดี๋ยวนี้กำลังเกิดดับ แล้วไม่กลับมาอีกเลยสักอย่าง มิเช่นนั้นก็ยังคงเป็นสิ่งที่ติดข้องต้องการ ไม่สามารถที่จะดับความติดข้องต้องการในสิ่งซึ่งความจริงไม่มีเลย เพราะหมดแล้ว แต่ก็ยังติดข้องเพราะไม่รู้ความจริง

อ.อรรณพ: เป็นประโยชน์ที่ทำให้ได้เข้าใจ อรรถ ของพระพุทธพจน์นี้นะครับ เพราะฉะนั้น ในสุพรหมสูตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้เลนนะครับ ที่จะถึงความสวัสดีได้ก็ด้วยปัญญา ทรงแสดงปัญญาก่อน บางนัยทรงแสดงปัญญาหลังสุด ปัญญาตั้งแต่เริ่มและก็ความเพียรที่เป็นไปตามปัญญาจนถึงการสำรวมอินทรีย์ ก็คือระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนถึงปัญญาระดับที่สละวางทุกสิ่งทุกอย่าง จึงจะพ้นภัยถึงความสวัสดี แล้วท่านสุพรหมเทพบุตรพร้อมด้วยนางอัปสรอีก ๕๐๐ ที่เหลือ ท่านต้องเข้าใจในความละเอียดจนท่านประจักษ์ มิเช่นนั้น ท่านก็คงไม่เป็นพระโสดาบัน

ไม่ใช่เราฟังแล้ว เราไม่ได้อะไรเลย เรามาฟังแล้วก็ไป นี่ไง ละซะซิ วางซะซิ เผินมากแล้วก็ไปใส่ในพระพุทธพจน์ ก็อันตรายมาก แม้จะมีพระพุทธวจนะ แต่ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ ก็คือการไม่เคารพในคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เป็นประโยชน์อย่างมากเลยครับ

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

ไม่ได้อยู่ในตำรา

จิตตสังเขปบทที่ ๕ ... ธรรมทั้งหลายไม่ได้อยู่ในหนังสือตำรา

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ