ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๑๑

 
khampan.a
วันที่  7 พ.ค. 2566
หมายเลข  45865
อ่าน  1,025

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น



ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจาก
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษา และพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้


ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๑๑



~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระมหากรุณาแสดงธรรมให้ทุกคนได้ฟัง ไตร่ตรองจนเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูกของตนเอง จนสามารถที่จะรู้ได้ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา มิฉะนั้น ก็ไม่เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้แต่เอ่ยชื่อ ถ้าไม่เข้าใจตั้งแต่คำแรก คือคำว่า ธรรม จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างไร

~ คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีผู้ใดสามารถที่จะเพียงฟังแล้วเข้าใจได้โดยตลอด แต่ต้องอาศัยการไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความค่อยๆ เข้าใจขึ้น จึงจะเริ่มรู้จักพระองค์จริงๆ เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการที่จะได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

~ พระพุทธศาสนา มีค่ายิ่ง ที่เป็นคำที่ทำให้ผู้ฟังเกิดปัญญาเป็นของตนเอง แต่ไม่ใช่เพราะฟังแล้วเชื่อ แต่เพราะเหตุว่า ฟังแล้วคำนั้นน่าคิดน่าไตร่ตรองให้เป็นความเข้าใจที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง

~ ธรรมคือสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง ที่จะรู้ได้ยิ่งขึ้นเมื่อได้ฟังคำของผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ เราจึงฟังคำของผู้ที่ทรงตรัสรู้ เพราะเราไม่สามารถที่จะรู้เองได้ พร้อมกันนั้นไม่ใช่ให้เชื่อทันที แต่ต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้นในความถูกต้อง นั่นก็คือ ไม่ใช่เรา แต่เป็นปัญญาความเข้าใจถูกความเห็นถูก "สัมมาทิฏฐิ" ตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น

~ ทุกคำที่เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้ค่อยๆ เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งที่มีแต่ละหนึ่งขณะที่มีจริงๆ ทุกครั้งที่จะได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องรู้ว่า พูดถึงสิ่งที่กำลังมีแน่นอน แต่ค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้นๆ จนสามารถที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังมีตามลำดับ ถ้ามีความรู้เรื่องต่างๆ มากมายแต่ไม่รู้ความจริงของขณะเดี๋ยวนี้ มีประโยชน์ไหม? เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องตั้งต้นว่า เดี๋ยวนี้มีอะไร หรือเป็นอะไรทุกครั้ง

~ โอกาสที่ยังเหลืออยู่ที่ประเสริฐที่สุด ก็คือ ได้ฟังสิ่งซึ่งเป็นความจริงถึงที่สุดซึ่งจะติดตามต่อไป เป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะเข้าใจตรง อะไรถูก อะไรผิด อะไรดี อะไรชั่ว อะไรจริง อะไรเท็จ เพราะฉะนั้น การรู้ความจริงเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด ทำให้คนนั้นเป็นคนที่ตรง เมื่อเป็นคนตรง จะไม่เห็นผิดเป็นชอบ จะไม่เห็นชั่วเป็นดี แล้วก็สามารถที่จะตรงจนละสิ่งที่ชั่วได้

~ เป็นคนนี้ได้ชาตินี้ชาติเดียว แล้วจะเป็นคนนี้แบบไหน แบบรู้ความจริง เป็นคนดี หรือว่า แบบไม่รู้ความจริง หลงยึดถือจนกระทั่งจิตใจเต็มไปด้วยความยินดียินร้ายเศร้าหมองสามารถที่จะกระทำทุจริตกรรมได้ทุกอย่าง ทำทุจริตกรรม ดีหรืออย่างนั้น ในเมื่อเป็นบุคคลนี้ได้ชาตินี้ชาติเดียว

~
ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความทุกข์ ความดีใจ ความจำ ความกลัว ความตื่นเต้น การเห็น การได้ยิน ต้องรู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่เป็นสภาพนามธรรม ไม่ต้องเรียกชื่อ ไม่ต้องอะไรเลย ให้รู้ในอาการรู้ ในลักษณะรู้ว่า เป็นสิ่งที่มีจริงๆ และไม่ใช่เรา ข้อสำคัญต้องเอาเราออกจากสิ่งที่มีจริงๆ นั้น ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเราทั้งหมด

~
การเรียนน้อยหรือเรียนมากไม่สำคัญเลย สำคัญที่ความเข้าใจใน สิ่งที่เรียนหรือสิ่งที่ได้ฟังว่า ลึกซึ้งและถูกต้องแค่ไหน เช่น คำว่า ธรรม แสดงว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน มีแต่สภาวธรรมแต่ละอย่าง เช่น การเห็น เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นนก เป็นเป็ด เป็นคน เป็นเทพ การเห็น ก็เป็นแต่เพียงการเห็น

~ ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศล ในขณะนั้นเป็นสภาพที่ไม่มีโรค คือ ไม่มีกิเลส ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เมื่อไม่มีกิเลสก็ย่อมไม่มีโทษ ไม่เป็นโทษทั้งตนเองและกับบุคคลอื่น

โรคทางกายเห็นได้ เจ็บปวด ทุกข์ทรมาน ไม่มีใครต้องการเลย ส่วนโรคทางใจไม่เคยเห็น แต่ถ้าทราบว่าขณะใดที่กิเลสเกิด ขณะนั้นเป็นโรค เพราะฉะนั้น จิตมีโรคหลายอย่าง แล้วแต่ว่าจะเป็นโรคโลภะ โรคโทสะ โรคอิสสา (ริษยา) โรคมัจฉริยะ (ตระหนี่) มีประเภทของโรคต่างๆ ซึ่งปรากฏอาการได้จากคำพูดหรือว่าการกระทำ

~ ตั้งแต่เช้ามาจนกระทั่งขณะที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรม หรือขณะที่กุศลจิตไม่เกิด ทราบไหมว่า ขณะนั้นเป็นชีวิตประจำวันซึ่งเต็มไปด้วยอกุศล ไม่เคยรู้เลย เป็นกระแสของอกุศล จนกระทั่งสติระลึกได้ว่า ขณะนี้เป็นอกุศล ขณะนั้นสติก็เป็นธรรมเครื่องกั้นกระแสของอกุศลเมื่อระลึกได้ เวลาได้ยินคำพูดที่ไม่น่าพอใจ เป็นคำสบประมาท ซึ่งแต่ก่อนนี้จะต้องไหลไปตามกระแสของอกุศล คือ ความไม่พอใจ แต่เมื่อสติเกิดระลึกได้ นั่นคือสติ เป็นเครื่องกั้นกระแสของอกุศล เพราะฉะนั้น จึงเห็นคุณของสติว่า จำปรารถนาในที่ทั้งปวง เพราะว่าสติเกิด จึงสามารถรู้ว่า สิ่งใดควรและสิ่งใดไม่ควร

~ กิเลสทุกประเภทกลัวอยู่อย่างเดียว คือ ปัญญา โดยเฉพาะโลภะ ถ้าไม่มีปัญญาไม่มีใครปราบได้เลย โลภะจะต้องนำหน้า โลภะจะต้องอยู่ข้างหลัง โลภะจะต้องอยู่ข้างๆ โลภะจะต้องซุกซ่อนอยู่ทุกมุมจนได้ ถ้าไม่รู้ว่าโลภะอยู่ที่ไหน ก็ไม่มีทางที่จะดับโลภะได้

~ เกิดมาทั้งชาติ จากโลกนี้ไปไม่ได้เข้าใจอะไรเลย ทำแต่สิ่งต่างๆ ด้วยความไม่เข้าใจเลย แล้วสิ่งนั้นจะดีได้อย่างไร แต่ชีวิตก็อยู่ไป ไม่มีใครรู้แน่ ใช่ไหม ก็ให้เข้าใจความจริงเสียที จะได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่จริงและถูกต้องเป็นประโยชน์แน่นอน แต่สิ่งที่ไม่ถูกต้อง เช่น ความไม่รู้จะนำประโยชน์อะไรมาให้ได้?

~ อยู่เป็นคฤหัสถ์ก็ฟังธรรมได้ เข้าใจธรรม รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แล้วทำไมบวช ต้องรู้จักตัวเองใช่ไหมว่าบวชเพื่ออะไร มีความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระธรรมหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่เข้าใจพระธรรมแล้วบวช จะเป็นภิกษุในธรรมวินัยได้ไหม?

~ ภิกษุสละอาคารบ้านเรือนแล้ว จะยินดีในเงินและทองได้อย่างไร ในเมื่อสละแล้ว สละหมายความว่า ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ยินดี มีชีวิตอย่างผู้ที่ไร้บ้าน แต่ว่าได้ฟังคำสอนซึ่งสามารถที่จะขัดเกลากิเลส สามารถที่จะรักษาพระวินัยได้เพราะเห็นคุณของพระวินัย ซึ่งเป็นการขัดเกลากิเลส ด้วยเหตุนี้ เงินทองสมควรแก่คฤหัสถ์ แต่ไม่สมควรแก่ภิกษุ


~ ควรที่จะเห็นความเป็นประโยชน์อย่างยิ่งของการที่จะได้เข้าใจพระธรรม แต่ขอให้เป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการฟังพระธรรม เพราะว่าเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะต้องไตร่ตรอง ศึกษา ครบถ้วน ในความถูกต้อง มิฉะนั้น ก็คลาดเคลื่อน ถ้าเข้าใจผิดไป ก็เป็นภัยอย่างยิ่ง

~ ได้ยินสิ่งที่มีค่าที่ประเสริฐที่สุด คือ พระธรรม ดีกว่าได้ยินเรื่องอื่น เพราะได้ยินเรื่องอื่นก็ได้ยินมามากแล้ว แต่ขณะนี้ ได้ฟังเรื่องที่จะทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งเป็นประโยชน์กับชีวิต ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว ความเข้าใจจริงๆ จะสะสมสืบต่อไปถึงชาติต่อไปด้วย

~ ถ้าเขาว่าเรา แต่เราไม่โกรธ คำนั้น ก็ทำร้ายเราไม่ได้เลย ต่อให้มีเจตนาร้ายสักเท่าไหร่ แต่คนนั้นไม่โกรธ ทำอย่างไรเขาก็ไม่โกรธ คำนั้นจะมาทำร้ายได้อย่างไร เพราะฉะนั้น โกรธเมื่อไหร่ ไม่ใช่คนอื่นทำร้าย แต่สภาพธรรมคือความขุ่นเคือง ความหยาบกระด้างของจิต ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ทำร้ายจิต

~ ขณะไม่โกรธ จะมีความโกรธเกิดร่วมด้วยไม่ได้ โกรธ ดีไหม? ไม่ดี เพราะสภาพโกรธเกิดเมื่อไหร่ทำร้ายจิตเมื่อนั้น เป็นศัตรูภายใน ศัตรูภายในเกิดเมื่อไหร่ ทำร้ายจิตทันที พอจิตไม่ดีแล้ว กาย ก็ไม่ดี วาจา ก็ไม่ดี



ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๑๐



... กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
และยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
swanjariya
วันที่ 7 พ.ค. 2566

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ภาคภูมิอรุณศรี
วันที่ 7 พ.ค. 2566

กราบเท้าอาจารย์ด้วยความเคารพอย่างยิ่งทุกคำจริงเป็นธรรมวาทีให้เห็นพระปัญญาคุณพระบริสุทธิคุณและพระมหากรุณาคุณพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Papsi
วันที่ 8 พ.ค. 2566

ขอน้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
jaturong
วันที่ 8 พ.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Lai
วันที่ 8 พ.ค. 2566

อนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ