หนทางสมานความสามัคคี

 
TheSwanWikiwikiwi
วันที่  1 ก.พ. 2566
หมายเลข  45520
อ่าน  371

มีความสงสัยว่าตนเองเป็นเหตุแห่งความแตกแยกเพราะเหตุแห่งอกุศลด้วยความไม่รู้ อยากทราบว่าจะมีหนทางใดผสานความสัมพันธ์ให้เกิดความสามัคคีได้อย่างไรบ้างคะ การขอขมาจะมีผลไหมคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 3 ก.พ. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรื่องความสามัคคีตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีความละเอียดอย่างยิ่ง ดังข้อความใน [เล่มที่ 65] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ ๖๒๓ ดังนี้

ว่าด้วยสามัคคี ๓ อย่าง

[๒๑๑] คำว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการไม่แสดงตนในภพนั้น ว่า เป็นความพร้อมเพรียง มีความว่า คำว่า ความพร้อมเพรียง ได้แก่ สามัคคี ๓ อย่าง คือ

คณะสามัคคี ๑

ธรรมสามัคคี ๑

อนภินิพพัตติสามัคคี ๑

คณะสามัคคีเป็นไฉน ภิกษุทั้งหลายแม้มาก พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน เป็นดังน้ำเจือด้วยน้ำนม แลดูกันและกันด้วยจักษุเป็นที่รักอยู่ นี้ชื่อว่า คณะสามัคคี.

ธรรมสามัคคีเป็นไฉน สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ธรรมเหล่านั้นย่อมแล่นไป ผ่องใส ประดิษฐานด้วยดี พ้นวิเศษ โดยความเป็นอันเดียวกัน ความวิวาท ความขัดแย้งกัน แห่งธรรมเหล่านั้นย่อมไม่มี นี้ชื่อว่า ธรรมสามัคคี.

อนภินิพพัตติสามัคคีเป็นไฉน ภิกษุทั้งหลายแม้มาก ย่อมปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ความบกพร่องหรือความเต็มแห่งนิพพานธาตุ ของภิกษุเหล่านั้น ย่อมไม่ปรากฏ นี้ชื่อว่า อนภินิพพัตติสามัคคี


จากข้อความในพระไตรปิฎก ก็แสดงให้เห็นว่า ความเป็นมิตรเป็นเพื่อน หวังดีต่อกันมีเมตตาต่อกัน ไม่ทะเลาะกัน ไม่เบียดกัน พร้อมใจกันที่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ นั่นเป็นคณะสามัคคี ซึ่งจะมีคณะสามัคคีได้ ก็ด้วยการที่แต่ละคน มีสภาพธรรมที่ดีงามเกิดขึ้นเป็นไป นั่นเองว่าโดยสภาพธรรม ก็คือ กุศลธรรม เกิดขึ้นเป็นไป เป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมฝ่ายดี เท่านั้น ซึ่งเป็นธรรมสามัคคี และธรรมสามัคคีสูงสุด คือ ขณะที่มัคคจิตเกิดขึ้น ทำกิจดับกิเลสได้ กิเลสใดที่ดับได้แล้วก็จะไม่เกิดอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ สำหรับสามัคคีประเภทสุดท้าย คือ อนภินิพพัตติสามัคคี (สามัคคี โดยการที่ไม่มีการเกิดอีก) เป็นความสามัคคีของพระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้ที่ห่างไกลแสนไกลจากกิเลสโดยประการทั้งปวง เป็นความพร้อมเพียง ของผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ซึ่งไม่มีทางที่จะเป็นอย่างอื่นได้เลย นอกจาก ดับกิเลส ดับทุกข์ทั้งปวงได้ และ เมื่อปรินิพพานแล้ว ก็ไม่เกิดอีกในสังสารวัฏฏ์

รากฐานที่สำคัญที่สุดที่จะนำไปสู่ความสามัคคี คือ เห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ก็จะทำให้จากที่เคยเป็นผู้มีอกุศลมาก จากที่เป็นอกุศลบ่อยๆ เนืองๆ กาย วาจา ใจ เป็นไปกับอกุศลเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็จะค่อยๆ น้อมไปในทางที่เป็น กุศลยิ่งขึ้น เห็นประโยชน์ของกุศลธรรมมากยิ่งขึ้น ขัดเกลากิเลสมากขึ้น ซึ่งจะต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาให้มากขึ้น ฟังพระธรรมให้เข้าใจ เมื่อปัญญา เจริญขึ้นไปตามลำดับ ก็ย่อมจะอุปการะเกื้อกูลให้ธรรมฝ่ายดีค่อยๆ เจริญขึ้นด้วย กล่าวได้ว่า สภาพธรรมที่ดีงาม ย่อมคล้อยไปตามความเข้าใจพระธรรมอย่างแท้จริง ถ้าทุกคนเป็นอย่างนี้ได้ ปัญหาต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น การอยู่ร่วมกันในสังคม ก็จะอยู่กันอย่างมีความสุข เพราะกุศลธรรม เพราะเหตุว่าต่างคนต่างก็เป็นคนดี คนดี ก็มีแต่จะคิด พูดและทำในสิ่งที่ดี พร้อมใจกันจะทำในสิ่งที่ดีๆ

* ส่วนในเรื่องของการขอขมา หรือ ขอโทษ ย่อมเป็นสิ่งที่ดี ไม่มีใครที่ไม่เคยทำผิด ย่อมมีแน่นอนสำหรับบุคคลผู้ที่กระทำความผิด จะมากหรือน้อยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นเครื่องเตือนที่ดีอยู่เสมอ เพราะพระองค์ไม่เคยสอนให้เกิดอกุศลเลยแม้แต่น้อย,แม้จะทำผิด สามารถเกิดกุศลจิต เห็นโทษ พร้อมกับขอโทษผู้อื่นที่ตนล่วงเกิน ได้ พร้อมที่จะแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาด กระทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ต่อไป ดังนั้น ก็ขอโทษ พร้อมทั้งตั้งใจจะทำในสิ่งที่ดี ต่อไป ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งจะแตกต่างไปจากผู้ที่ไม่เห็นโทษ ขอโทษคนอื่นไม่ได้ทั้งๆ ที่ตนเองผิด แสดงถึงกิเลสที่สะสมมาซึ่งน่ากลัวเป็นอย่างมาก และที่สำคัญผู้มีปัญญาย่อมให้อภัยไม่ถือโทษโกรธในความผิดพลาดของผู้อื่น ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลที่ดีในชีวิตประจำวัน ปัญญานี้เองที่จะนำพาชีวิตไปสู่ความดีทั้งปวง ครับ

...ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 11 มี.ค. 2566

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ