คำถามเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับธรรมะ

 
ckannikar
วันที่  20 ม.ค. 2566
หมายเลข  45495
อ่าน  749

ขออภัยนะคะ หากมีคนถามและมีคำตอบแล้วอยู่ในนี้ แต่เนื่องจากใจร้อน ยังไม่ได้ค้น แต่ขอความกรุณาจะถามเลย หากใครเมตตาชี้คำตอบให้ จะขอบพระคุณมากค่ะ

1. เคยมีคนโพสทางโซเชียลว่ามี 4 ข้อที่พระพุทธเจ้าทำไม่ได้ ซึ่งเราเห็นกันบ่อยๆ แล้ว แต่ตอนนี้ชักสงสัยในเรื่องการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้คนอื่น อย่างนี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือเปล่าคะ ในเมื่อกิเลสต้องลดละเลิกและทำให้หมดด้วยตัวเอง คนจะบรรลุธรรมต้องทำด้วยตนเอง คนจะมีความสุขก็ต้องรู้จักการพิจารณาเรื่องต่างๆ ให้ถูกต้องเอง แล้วการแผ่เมตตาให้จะทำให้คนที่เราแผ่ให้มีความสุขได้จริงหรือเปล่าคะ (เพราะตนเองเคยอยู่ในพิธีที่มีคนแผ่เมตตาให้ ก็ไม่รู้สึกมีความผิดปกติหรือดีขึ้นแต่อย่างใด.. หรือเราจิตใจหยาบเกินไปคะ แต่คนที่เราแผ่เมตตาให้ ปกติก็น่าจะอยู่ในระดับจิตใจไม่ละเอียดไปกว่าเรา?)

2. คนที่ทำวิปัสนาได้ (เอาสติรับรู้เวทนาไปที่บริเวณต่างๆ ทั่วร่างกาย) แต่ทำอานาปานสติไม่ได้ (ไม่สามารถจดจ่อรับรู้ลมหายใจเข้าออกอยู่ที่เดียวตลอดเวลา) เกิดจากอะไรคะ และกรณีอย่างนี้ จะมีผลเสียหายอย่างใดหรือไม่คะ

กราบขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 21 ม.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก คือ ปัญญา จะค่อยๆ เกิดขึ้น ค่อยๆ เจริญขึ้น ก็ต้องได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง นั้น เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลง ไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา แต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด

ในประเด็นคำถาม ๒ ข้อ ขอแยกเพื่อให้เกิดการพิจารณาไตร่ตรอง ดังนี้

อุทิศส่วนกุศลคืออะไร

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ ๔๒๙

"เมื่อบุคคลให้ทาน กระทำการบูชาด้วยของหอม เป็นต้น แล้วให้ส่วนบุญว่า ขอส่วนบุญ จงมีแก่บุคคลชื่อโน้น หรือว่า ขอส่วนบุญจงมีแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้ พึงทราบว่า เป็นบุญกิริยาวัตถุอันเกิดแต่การให้ส่วนบุญ"


กุศล ที่ได้ทำแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน การรักษาศีล หรือแม้แต่การฟังพระธรรม ก็สามารถอุทิศเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ การอุทิศส่วนกุศลให้ใคร จุดประสงค์ก็เพื่อให้ผู้นั้นได้รู้ เพื่อผู้นั้นจะได้เกิดกุศลจิตอนุโมทนา ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตน มีแต่สภาพธรรมเท่านั้น กุศลจิตที่อนุโมทนาย่อมเป็นกุศลของผู้อนุโมทนาเอง ซึ่งกุศลที่เกิดขึ้นด้วยการอนุโมทนานี้จะเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ดี คือ กุศลวิบากจิตเกิดขึ้น ไม่ใช่เราหยิบยื่นกุศลของเราให้คนอื่น แต่การที่เราทำกุศล แล้วเป็นเหตุให้คนอื่นที่รู้อนุโมทนายินดีด้วย ขณะใดที่เขาอนุโมทนายินดีด้วย ขณะนั้นก็เป็นกุศลของเขา ซึ่งจะต้องเป็นกุศลจิตของผู้ที่อนุโมทนาเท่านั้นจริงๆ

ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว ก็ต้องมีการเกิดอีก ถ้าเกิดในภพภูมิที่สามารถรับรู้ถึงการทำความดีของผู้อื่นได้ และสะสมมาที่จะเห็นคุณของความดี ผู้นั้นก็สามารถที่จะเกิดกุศลจิต อนุโมทนาในความดีของผู้อื่นได้ ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาได้เลย


บรรลุธรรมด้วยอะไร ทำได้หรือไม่

หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้นที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ขัดเกลากิเลส มีความไม่รู้ และความเห็นผิด เป็นต้น จนกว่าจะสามารถดับได้จนหมดสิ้น ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมไม่ได้เลยทีเดียว ไม่มีใครจะไปทำอะไรได้ เพราะธรรม เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมหรือบรรลุธรรม ดับกิเลสตามลำดับขั้น ล้วนได้ดำเนินตามหนทางนี้มาแล้วทั้งนั้น เป็นหทางเดียว และ ทนทางเดิมจริงๆ ทางอื่นไม่มี เพราะทางอื่นนอกจากนี้ เป็นหนทางแห่งความเห็นผิด ไม่ได้เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมและปัญญาเลย


การแผ่เมตตา

เมตตา ความเป็นมิตรเป็นเพื่อน หวังดี เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี และเป็นประโยชน์ในที่ทั้งปวง ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใครทั้งสิ้น เป็นธรรมที่ควรมี ควรอบรมให้มีขึ้นแทนที่จะโกรธกันหรือไม่พอใจกัน ถ้าเป็นเมตตาแล้ว ใจเบาสบาย ไม่หนักด้วยอำนาจของโทสะ

เรื่องการแผ่เมตตา เป็นการแสดงถึงบุคคลผู้ที่มีปัญญาอบรมเจริญเมตตาจนมีกำลังมาก ไม่มีประมาณ จิตสงบถึงระดับฌานจิต เป็นเมตตาฌาน แล้วจึงแผ่ความปรารถนาดี ความหวังดีไปในสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงทุกหมู่เหล่า ทุกทิศทุกที่ ไม่มียกเว้นสัตว์ประเภทใดเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมาก กว่าจะถึงเมตตาฌาน เมื่อเป็นเช่นนี้ ในชีวิตประจำวัน ยังไม่มีเมตตาที่มีกำลังจนกระทั่งถึงเมตตาฌาน ก็ยังไม่สามารถแผ่ได้ และที่สำคัญ เมตตา ไม่ใช่เรื่องท่อง ไม่ได้อยู่ที่คำแผ่ แต่สามารถอบรมเจริญได้ในชีวิตประจำวัน โดยเป็นมิตร เป็นเพื่อนกับทุกคน มีความหวังดี ไม่หวังร้ายต่อผู้อื่น

ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้

อบรมเจริญเมตตาในชีวิตประจำวัน

เมตตาไม่ทำให้เกิดทุกข์

เมตตาเป็นเพื่อนได้ทุกกรณี หวังดีตลอดกาล


วิปัสสนา คือ อะไร

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง สำคัญที่การตั้งต้นก่อนว่า สิ่งนั้น คือ อะไรวิปัสสนา เป็นปัญญาที่เห็นอย่างแจ่มแจ้ง มุ่งหมายถึงวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ เป็นสำคัญ และหมายถึงการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ด้วย

การที่จะมีการรู้แจ้งในสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ต้องสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย จากการมีโอกาสได้ฟังเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้เอง ที่เป็นที่ตั้งแห่งการระลึกรู้ตามความเป็นจริงได้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ซึ่งต้องมีเหตุที่สำคัญ คือ การฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่การไปทำอะไรด้วยความไม่รู้


อานาปานสติ คืออะไร

เรื่องอานาปานสติ เป็นเรื่องที่ละเอียดอย่างยิ่ง สิ่งที่ควรจะได้พิจารณา คือ สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจากการที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ไม่ใช่การไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ด้วยความจดจ้องต้องการ

อานาปานสติ เป็นสติที่มีลมหายใจเป็นอารมณ์ เป็นได้ทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ซึ่งจะขาดปัญญาไม่ได้เลยทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนา แต่ผลต่างกัน เพราะสมถภาวนาเพียงระงับกิเลสด้วยการข่มไว้เท่านั้น ไม่สามารถดับกิเลสใดๆ ได้เลย แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาหรือสติปัฏฐานแล้ว สามารถทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น สูงสุด คือ ถึงความเป็นพระอรหันต์ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น เรื่อง เจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องของปัญญาที่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง สติเกิดขึ้นระลึกและปัญญารู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสติปัฏฐานไว้ ๔ ประการ ไม่ใช่เพียงประการเดียวเท่านั้น

การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยการฟังในสิ่งที่มีจริงเนืองๆ บ่อยๆ พิจารณาเหตุผลแล้วก็เจริญเหตุให้สมควรแก่ผลด้วย ข้อสำคัญประการหนึ่งก็คือ จะต้องไม่เข้าใจผิดว่าเป็นสติปัฏฐานเฉพาะบางสิ่งบางประการ หรือ เลือกเจาะจงเฉพาะบางนามธรรม บางรูปธรรม แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่าทุกอย่างที่เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นั้น เป็นสติปัฏฐานทั้งสิ้น เพราะเป็นที่ตั้งให้สติสัมปชัญญะเกิดขึ้นระลึกรู้ตามความเป็นจริงได้ ลมหายใจก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย เพราะลมหายใจเป็นส่วนหนึ่งของกาย เป็นสภาพที่ปรุงแต่งกาย และเคยยึดถือว่าเป็นลมหายใจของเรา เป็นเราหายใจ แต่ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้น รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ หรือธาตุลม เริ่มที่จะเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีลักษณะอย่างนั้นเอง คือ เป็นธาตุที่ไม่รู้อารมณ์ (คือเป็นรูปธรรม) เป็นการถ่ายถอนความเข้าใจผิดที่เคยยึดถือว่าเป็นเราที่หายใจ หรือเป็นลมหายใจของเรา ทั้งนี้ แล้วแต่ว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะใด โดยไม่จำกัดและไม่เจาะจง เพราะเป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ


ขอให้คุณ ckannikar ได้ศึกษา
เพื่อความเข้าใจถูกตั้งแต่ต้นได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ ครับ

จะเริ่มต้นศึกษาธรรมะอย่างไร

ศึกษาพระธรรมเพื่อเข้าใจอะไร

ธรรมะ ปรมัตถธรรม อภิธรรม

ปรมัตถธรรม คือ สิ่งที่มีจริง

ธรรมคืออะไร

...ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ckannikar
วันที่ 21 ม.ค. 2566

ขอบพระคุณที่กรุณาอธิบายค่ะ อ่านแล้ว ก็รู้ว่าตนเองยังต้องใช้เวลาอบรมปัญญาอีกมากนัก กว่าจะเข้าใจถึงจุดที่จะหมดความสงสัย แล้วเดินหน้าปฏิบัติไปทางเดียว.. คือ ตอนนี้ ยังชะงักเป็นช่วงๆ ค่ะ ขอบพระคุณมากๆ ค่ะ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ม.ค. 2566

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Dechachot
วันที่ 6 มี.ค. 2566

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ