ข้อความที่ว่า การเจริญสติด้วยการกำหนดรู้รูปบางอย่าง หรือนามบางอย่าง ไม่อาจทำให้บรรลุนิพพานได้ อยู่ในคัมภีร์อรรถกถาเล่มใดครับ

 
narongdej.kamolpirom
วันที่  30 พ.ย. 2565
หมายเลข  45238
อ่าน  590

ขอรบกวนสอบถามคณาจารย์บ้านธัมมะครับว่า ข้อความที่ว่า อนวเสสรูปปริคคโห วุตโต และ อนวเสสเวทนาสญญาสงขารวิญญาณปริคคโห วุตโต (ตรัสถึงการกำหนดเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณทั้งหมด)

ท่านพระอรรถกถาจารย์จึงแนะนำให้ผู้ปฏิบัติกำหนดรู้ขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา ส้ญญา สังขาร และวิญญาณทั้งหมดไม่มีส่วนเหลือ มิได้แนะนำให้กำหนดรูปอย่างเดียว นามอย่างเดียว โดยลักษณะ หน้าที่ ปัจจุปัฏฐาน และปทัฏฐาน และอรรถกถาอธิบายว่า การเจริญสติด้วยการกำหนดรู้รูปบางอย่าง หรือนามบางอย่าง ไม่อาจทำให้บรรลุนิพพานได้

ไม่ทราบคัมภีร์อรรถกถาที่อ้างถึงนี้ เป็นคัมภีร์อรรถกถาเล่มไหนครับ

ขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ทุกท่านอย่างสูงมา ณ ที่นี้ครับผม


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 2 ธ.ค. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ต้องเริ่มที่การฟังพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ และที่สำคัญ การรู้สภาพธรรม ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ต้องรู้ทีละอย่าง ทีละทาง ไม่สามารถรู้พร้อมๆ กันได้หลายอารมณ์หรือหลายทางได้ การที่จะรู้สภาพธรรมโดยทั่วนั้น จึงไม่ใช่เพียงทวารหนึ่งทวารใด ต้องรู้ทั่วทั้ง ๖ ทวาร เพราะถ้ารู้เพียงทวารหนึ่งทวารใด ก็ยังไม่รู้ในทวารอื่น ยังมีความสงสัยในทวารอื่น จึงไม่ชื่อว่า รู้ทั่ว การที่วิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ จะเกิดขึ้นได้นั้น เป็นผลมาจากการอบรมเจริญสติปัฏฐานระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ทั้งหมดเป็นธรรมที่มีจริงที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ข้อความที่กล่าวถึงในประเด็นคำถาม มีปรากฏใน [เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ (อรรถกถามหาปทานสูตร) - หน้าที่ ๑๓๘ - ๑๓๙ ดังนี้

ท่านกล่าวถึงการกำหนดรูป อันไม่มีส่วนเหลือ ด้วยสามารถแห่งลักษณะ รส (หน้าที่การงาน หรือ ความถึงพร้อม) ปัจจุปัฏฐาน (อาการปรากฏ หรือ ผล) และ ปทัฏฐาน (เหตุใกล้ให้เกิด)

ท่านกล่าวกำหนดเวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณไม่เหลือ ด้วยสามารถแห่งลักษณะ รส ปัจจุปัฎฐาน และ ปทัฎฐาน


เป็นการแสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรม แต่ละหนึ่งๆ โดยไม่ปะปนกัน ที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นกิจหน้าที่ของปัญญา ไม่ใช่มีตัวตนไปกำหนดจดจ้องอะไรเลย ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ธ.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
narongdej.kamolpirom
วันที่ 3 ธ.ค. 2565

ขอกราบขอบพระคุณ อ. คำปั่น อย่างสูงสำหรับคำตอบครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
lokiya
วันที่ 3 ธ.ค. 2565

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ