สมมติบัญญัติ ก็มาจากสิ่งที่มีจริง ทำให้คนเข้าใจตรงกัน จะจัดว่าเป็นธรรมะด้วยหรือไม่

 
lokiya
วันที่  3 ธ.ค. 2565
หมายเลข  45277
อ่าน  375

สมมติบัญญัติ ก็มาจากสิ่งที่มีจริง ทำให้คนเข้าใจตรงกัน จะจัดว่าเป็นธรรมะด้วยหรือไม่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 4 ธ.ค. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรม หมายถึง สิ่งที่มีจริง ทรงไว้ซึ่งความเป็นจริงอย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่พ้นไปจาก จิต เจตสิก รูป และนิพพาน

-จิต เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ จิตแม้จะมีหลากหลายประเภท ตามเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย บ้าง หลากหลายตามอารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ บ้าง หลากหลายตามภูมิคือระดับขั้นของจิต บ้าง แต่ก็มีลักษณะเดียวคือมีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ ตัวอย่างของจิต เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องกระทบสัมผัสทางกาย เป็นต้น

-เจตสิก เป็นนามธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีอารมณ์เดียวกับจิต และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต ตัวอย่างเจตสิก เช่น ผัสสะ สภาพธรรมที่กระทบอารมณ์ที่จิตรู้ เวทนา ความรู้สึก โลภะ ความติดข้องต้องการ โทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ศรัทธา ความเลื่อมใส ความผ่องใส สติ ความระลึกเป็นไปในกุศลธรรม หิริ ความละอายต่อบาป โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาป ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นต้น

-รูป เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะสมุฏฐานต่างๆ กล่าวคือ บางรูปเกิดขึ้นเพราะกรรมมีกรรมเป็นธรรมที่ก่อตั้งให้รูปนั้นเกิดขึ้น บางรูปเกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดขึ้นเพราะอุตุ ความเย็นความร้อนเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน ตัวอย่างของรูปปรมัตถ์ เช่น สี เสียง กลิ่น รส ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม จักขุปสาทะ (ตา) โสตปสาทะ (หู) ฆานปสาทะ (จมูก) ชิวหาปสาทะ (ลิ้น) กายปสาทะ (กาย) เป็นต้น

-นิพพาน เป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ เป็นสภาพธรรมที่ดับทุกข์ดับกิเลส เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับสภาพธรรมที่เกิดดับอย่างสิ้นเชิง

นี้คือ ธรรม

ส่วนสมมติบัญญัติ นั้น ไม่มีลักษณะของสภาพธรรม จึงไม่ใช่ธรรม แต่เป็นเรื่องราวที่เกิดจากการคิดนึก ซึ่งจะเห็นได้ว่าที่มีสมมติบัญญัติ ก็เพราะอาศัยสภาพธรรมที่มีจริงเกิดขึ้น เช่น ขณะที่เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ ขณะนั้นเป็นสมมติบัญญัติ เป็นเรื่องราวแล้ว เพราะอาศัยสภาพธรรมที่มีจริง คือ จิตและเจตสิก เกิดขึ้น เมื่อมีการเห็นแล้ว ก็มีการคิดนึกในรูปร่างสัณฐาน เป็นเป็นเรื่องราว เป็นสัตว์ บุคคลต่างๆ หรือ แม้ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ก็มีการคิดนึกได้ จากสิ่งที่เคยเห็น จากเรื่องที่ได้ยิน เป็นต้น ดังนั้น ในขณะที่คิดนึกนั้น อะไรที่มีจริง? จิต เจตสิก มีจริง แต่บัญญัติเรื่องราวไม่ใช่สิ่งที่มีจริง ไม่ใช่ธรรม ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ....

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 4 ธ.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
lokiya
วันที่ 4 ธ.ค. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ