กฐินคืออะไร

 
มศพ.
วันที่  17 ก.ย. 2565
หมายเลข  43958
อ่าน  1,996

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย


กฐินคืออะไร

กฐิน เป็นเรื่องของผ้าเท่านั้น

พระพุทธศาสนาเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเป็นบุคคลผู้เลิศที่สุด ประเสริฐที่สุด เจริญที่สุดในโลก ทั้งพระบริสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ พระมหากรุณาคุณ เมื่อเป็นคำสอนของท่านผู้ตรัสรู้ จึงต้องฟัง ต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ ความรู้ความเข้าใจ จึงจะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ ความรู้ความเข้าใจ เกิดเองไม่ได้ คิดเองไม่ได้ ต้องอาศัยเหตุ คือการฟัง การศึกษาคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว นั่นเอง

ในสังคมไทย เมื่อกล่าวถึง กฐิน ส่วนใหญ่ก็จะกล่าวตามความคิดเห็นตามความเข้าใจเดิมๆ ของตนเอง ซึ่งอาจจะมีหลากหลายความคิดเห็น เช่น อาจจะกล่าวว่า เป็นเรื่องของซองเงินบ้าง เป็นเรื่องของกองวัตถุทานขนาดใหญ่บ้าง หรือแม้กระทั่ง เป็นบุญกุศลที่ใครได้กระทำแล้ว จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิอีกเลย เป็นต้น นี่คือ ความคิดเห็นที่ไม่ตรงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระธรรม ต้องศึกษาเท่านั้นจึงจะเข้าใจถูกต้องตรงตามความเป็นจริง แม้แต่ในเรื่องของ กฐิน ก็เช่นเดียวกัน

กฐิน เป็นเรื่องของจีวร เฉพาะในกาลที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ไม่เกี่ยวข้องกับเงินทอง และเป็นสังฆกรรมของพระภิกษุ ไม่เกี่ยวข้องกับคฤหัสถ์ การทรงบัญญัติให้มีการรับกฐินนี้ อันพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ทรงบัญญัติแล้ว ตามข้อความในสมันตปาสาทิกาอรรถกถาพระวินัยปิฎก มหาวรรค อรรถกถากฐินขันธกะเรื่องภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะ เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า ๒๒๗ ดังนี้

ก็ธรรมดาการกรานกฐินนี้ อันพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ทรงบัญญัติแล้ว

เป็นพระมหากรุณาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ที่มีต่อภิกษุทั้งหลายที่ทรงบัญญัติเรื่องกฐิน เพื่อภิกษุทั้งหลาย จะได้ไม่ลำบากในการแสวงหาผ้า เพื่อความอยู่ผาสุกของภิกษุทั้งหลายในพระธรรมวินัย

ปัจจุบันที่ทำผิดกันส่วนใหญ่ เพราะภิกษุไม่เข้าใจพระธรรมวินัย ไม่รู้ความเป็นภิกษุ แม้เรื่องกฐิน ก็ไม่เข้าใจ อยากได้แต่เงิน เพราะไม่มีความเคารพยำเกรงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย เมื่อรับผ้ากฐินก็อยากได้แต่เงิน พอได้เงินน้อย ก็ไม่พอใจ ภิกษุอลัชชีบางรูปถึงกับร้องไห้ เพราะไม่มีผู้ถวายเงิน โดยเอากฐินมาอ้างว่าไม่มีผู้ถวายกฐิน โดยที่จริงก็เพียงต้องการเงินเท่านั้น ทั้งหมดทั้งปวงเพราะไม่เข้าใจพระธรรมวินัย ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย ชาวพุทธจึงต้องเข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อจะได้ไม่ทำสิ่งที่ผิด ไม่หลงเชื่อภิกษุอลัชชี แต่มีความเคารพสูงสุดต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงต้องศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เพื่อดำรงคำจริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สืบต่อมั่นคงต่อไป


กฐินคืออะไรและความเป็นมาของกฐิน

ความหมายของกฐิน

คำว่า กฐิน มี ๒ ความหมาย คือ กฐินเป็นชื่อไม้สะดึงสำหรับขึงผ้าให้ตึงเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการเย็บผ้า ๑ และกฐินเป็นผ้าจีวรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ผ้านั้นเป็นผ้ากฐินตามพระวินัยบัญญัติ

เหตุให้เกิดผ้ากฐิน

กฐิน เป็นการทำสังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ร่วมกันในสถานที่เดียวกันตลอดพรรษา

พระวินัยบัญญัติเรื่องผ้ากฐินเกิดขึ้นในสมัยที่ภิกษุชาวเมืองปาเฐยยรัฐ ๓๐ รูป เดินทางมาเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระวิหารเชตวัน ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้จะเข้าพรรษา ภิกษุเหล่านั้น ไม่สามารถเดินทางไปถึงพระนครสาวัตถีให้ทันวันเข้าพรรษา จึงจำพรรษาอยู่ ณ เมืองสาเกต เมื่อออกพรรษาและทำปวารณา (ปวารณาคือพระวินัยบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุแสดงโทษของตนต่อภิกษุรูปอื่นตามโทษที่ตนได้กระทำผิดต่อพระธรรมวินัยและขอให้ภิกษุผู้ที่ตนแสดงโทษของตนนั้นว่ากล่าวตักเตือน) แล้ว ท่านเหล่านั้นก็เดินทางต่อไป แต่ขณะนั้นยังไม่สิ้นฤดูฝน เมื่อฝนตกขณะกำลังเดินทาง จีวรจึงเปียกชุ่มด้วยน้ำ ทำให้ลำบาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารภในเรื่องนี้ จึงทรงบัญญัติพระวินัยอนุญาตให้ภิกษุที่อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้วพร้อมเพรียงกันทำการกรานกฐิน คือ การพร้อมเพรียงกันทำผ้าผืนใดผืนหนึ่งที่หามาได้ ให้เป็นผ้ากฐิน เป็นการทำสังฆกรรมคือกิจของคณะสงฆ์ ร่วมใจกันมอบผ้าผืนนั้นให้แก่ภิกษุ รูป ที่คณะสงฆ์ (คณะของภิกษุ ไม่ใช่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง) เห็นสมควร ฉะนั้น กฐินจึงไม่ใช่จีวรทั่วไปตามธรรมดา ทั้งนี้ เพื่อความสมัครสมานสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของภิกษุผู้อยู่จำพรรษาในที่เดียวกัน การกรานกฐินเริ่มตั้งแต่พร้อมเพรียงกันซักผ้าที่ได้มาแล้ว กะผ้า ตัดผ้า เย็บผ้า ย้อมผ้า นั้น จนสำเร็จเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งแล้วจึงทำสังฆกรรม มอบผ้านั้นแก่พระภิกษุที่เหมาะควรตามพระวินัย แล้วคณะสงฆ์ทั้งหมดนั้นจึงร่วมอนุโมทนายินดี นี้คือ การกรานกฐินคือทำผ้าผืนใดผืนหนึ่งให้เป็นจีวรตามพระวินัย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรอกาลเวลา ทรงรอโอกาสที่เหมาะสมในการทรงบัญญัติพระวินัยตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ภิกษุเห็นประโยชน์ของการบัญญัติพระวินัยข้อนั้น เพื่อความอยู่ผาสุกของภิกษุทั้งหลาย พระมหากรุณาของพระองค์ไม่มีผู้ใดเปรียบได้เลย

สำหรับการกรานกฐินซึ่งต้องเป็นสังฆกรรมตามพระวินัย นั้น ต้องมีภิกษุอย่างน้อย ๕ รูป จึงจะกระทำสังฆกรรมนี้ได้ โดยรูปหนึ่งเป็นผู้รับผ้า อีก ๔ รูปรวมกันเป็นคณะสงฆ์ผู้มีมติร่วมกันเป็นผู้มอบผ้าให้

สำหรับระยะเวลา หรือ ขอบเขตในการกรานกฐินนั้น มีระยะเวลา เดือน คือ หลังออกพรรษาแล้ว ตั้งแต่วันแรม ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

ทั้งหมดนี้ ก็พอจะรู้แล้วว่า กฐินเป็นเรื่องของผ้าเท่านั้น ประการสำคัญที่ควรพิจารณาคือ กฐิน ไม่ว่าจะเป็นยุคใด สมัยใด เมื่อกระทำอย่างถูกต้องตรงตามพระวินัยก็ย่อมถูกต้องตามพระวินัย แต่ถ้าไม่ถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัย การกระทำนั้น ก็ไม่เป็นไปตามพระธรรมวินัย


จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องถวายกฐินและวัดต้องมีกฐินไหม

ถ้าวัดใดไม่มีผู้ถวายกฐินก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องวิตกกังวลแต่อย่างใดไม่ใช่ว่าไม่มีผู้ถวายผ้ากฐินแล้วภิกษุจะไปขอหรือไปพูดเลียบเคียงกับคฤหัสถ์เพื่อให้ได้มาซึ่งผ้ากฐินนั่นเป็นการทำผิดพระวินัย

ถ้าไม่มีผู้ถวายกฐิน ก็คือ ไม่มีผู้ถวาย ภิกษุก็ยังต้องดำเนินชีวิตไปตามวิสัยของบรรพชิตที่มุ่งตรงต่อการศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิตซึ่งเป็นเพศที่สูงยิ่งกว่าคฤหัสถ์ต่อไปเพียงแต่ว่าไม่ได้มีโอกาสกรานกฐินและไม่ได้รับอานิสงส์ของกฐินเท่านั้นเองซึ่งโดยปกติของภิกษุก็จะต้องเป็นผู้ที่สำรวมระวังรักษาพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้อย่างเคร่งครัดอยู่แล้วเมื่อไม่ได้กรานกฐินและไม่ได้รับอานิสงส์ของกฐินก็ไม่เป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิตของเพศบรรพชิตเลยแต่ถ้าคฤหัสถ์มีความพร้อมที่จะถวายกฐินตามระยะเวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ก็เป็นการที่คฤหัสถ์ได้เจริญกุศลตามกาลแต่ถ้าไม่มีโอกาสถวายผ้าเพื่อเป็นผ้ากฐินก็มีโอกาสอื่นที่จะเกิดกุศลอื่นในชีวิตประจำวันตามเหตุตามปัจจัยที่แต่ละบุคคลสะสมมา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ภิกษุที่แสวงหากฐิน ออกปากขอกฐิน เรี่ยไรกฐิน ต้องการผ้าหรือต้องการเงิน เอาเงินไปทำอะไร เอาไปสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ ที่ใหญ่โต เอาไปสร้างเทวรูป เป็นต้น นั่น ใช่พระพุทธศาสนาหรือ นั่น ใช่กฐินหรือไม่ ภิกษุนักพัฒนามีหรือไม่ ไม่มีเลย ภิกษุที่อบรมปัญญาขัดเกลากิเลสเป็นผู้เจริญด้วยคุณความดี ด้วยความเข้าใจพระธรรมและมีความเคารพยำเกรงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่พัฒนาทางด้านวัตถุ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเพื่อเกื้อกูลให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อละคลายกิเลสทั้งปวง แต่การที่ภิกษุไปพัฒนาทางด้านวัตถุที่ใหญ่โต นั่นไม่ใช่การขัดเกลาละคลายกิเลส และไม่ใช่การดำรงพระพุทธศาสนาอีกด้วย พระนักพัฒนาทางด้านวัตถุ จึงไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ได้ ก็ด้วยความเข้าใจของชาวพุทธ ไม่ใช่ด้วยอย่างอื่นเลย แม้วิหาร ๘๔,๐๐๐ แห่ง ก็ไม่สามารถดำรงพระพุทธศาสนาไว้ได้ แต่สัมมาปฏิบัติคือการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยเท่านั้น ที่จะดำรงพระพุทธศาสนาไว้ได้ ภิกษุที่เรี่ยไรเงินโดยอ้างกฐินและคฤหัสถ์ก็เห็นดีเห็นงามไปกับสิ่งนั้นด้วย กับการที่มีผู้เข้าใจพระธรรมวินัย กล่าวแสดงเปิดเผยคำจริงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงให้ผู้อื่นเกิดความเข้าใจอย่างถูกต้อง เช่น เรื่องกฐิน เป็นต้น ใคร คือ ผู้ที่ดำรงรักษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ประการที่น่าพิจารณา คือ การซ่อมแซมวัด เงินก็เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ไม่ใช่กิจของภิกษุที่จะไปเรี่ยไรเงิน เพราะนั่นเป็นกิจของคฤหัสถ์ ที่จะช่วยกันในส่วนนี้ โดยไม่ต้องเป็นห่วงเลย เพราะถ้าแต่ละคนเข้าใจพระธรรมวินัยอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะทำแต่สิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น ไม่ทำสิ่งที่ผิด


ผ้าที่เป็นผ้ากฐิน มาจากไหน

ในสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัยปิฎก มหาวรรค หน้า ๒๓๐ มีข้อความที่แสดงถึงบุคคลผู้ถวายผ้าจีวรแก่ภิกษุเพื่อทำเป็นกฐิน ดังนี้

กฐิน ใครถวาย จึงจะควร บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง จะเป็นเทวดาหรือมนุษย์หรือสหธรรมิกทั้ง ๕ (ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี) คนใดคนหนึ่งถวาย ก็ย่อมควร

จะเห็นได้ว่า นอกจากเทวดาและคฤหัสถ์แล้ว บุคคลผู้ถวายผ้าเพื่อทำให้เป็นผ้ากฐินได้ ก็ยังมีสหธรรมิกทั้ง ๕ อีกด้วย แต่สมัยนี้มีสหธรรมิกเพียง ๒ เท่านั้น คือ ภิกษุ สามเณร และเพราะไม่มีภิกษุณี แล้ว จึงไม่มีสิกขมานาและสามเณรีด้วย

ถ้าหากผู้ถวายผ้าเพื่อทำเป็นผ้ากฐิน ไม่รู้ว่าควรจะกระทำอย่างไร ก็เข้ามาถามภิกษุว่าควรทำอย่างไร ภิกษุก็แนะนำผู้นั้นได้ว่า ควรถวายผ้า เพื่อให้พอแก่การทำเป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งในบรรดาผ้า ผืน คือ ผ้าสังฆาฏิ ผ้าอุตราสงค์ ผ้าอันตรวาสก ควรถวายเข็มเท่านี้เล่ม ควรถวายด้ายเท่านี้ ควรถวายน้ำย้อมเท่านี้ ซึ่งจากกรณีดังกล่าวภิกษุสามารถกระทำได้ เพราะไม่ได้เป็นการขอ แต่เพราะคฤหัสถ์ถาม ภิกษุก็สามารถแนะนำได้


เกี่ยวกับผู้ถวายกฐินโดยตรง

การถวายผ้าเพื่อทำผ้านั้นให้เป็นผ้ากฐินเป็นการให้ทานตามกาลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้โดยตรงว่าผู้ถวายชื่อว่าเป็นผู้ให้ทานตามกาลและเป็นการถวายต่อสงฆ์ไม่ใช่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะนอกจากนั้นยังเป็นโอกาสให้ถวายด้ายเข็มน้ำย้อมรวมถึงภัตตาหารแก่พระภิกษุ เป็นการอำนวยความสะดวกแก่พระภิกษุโดยตรงในวันนั้น

ถ้าจะพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ต้องรอเฉพาะช่วงกฐินเท่านั้น ที่จะเป็นโอกาสของการเจริญกุศล เวลาอื่นก็ถวายได้ แต่การถวายผ้า หรือการถวายสิ่งของที่สมควรแก่พระภิกษุที่ไม่อยู่ในฤดูกาลกฐิน ก็ไม่ใช่กฐินเท่านั้นเอง กุศลจิตไม่ได้จำกัดเลย และไม่ได้เป็นไปเฉพาะในทานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ภูมิมนุษย์เรานั้นเป็นภูมิที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญกุศลได้ทุกประการ ทั้งทาน ศีล และการอบรมเจริญปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคนี้สมัยนี้ พระพุทธศาสนายังดำรงอยู่ บุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามีความรู้ความเข้าใจพระธรรมอย่างถูกต้อง ก็แสดงความจริงให้พิจารณาให้เข้าใจถูกต้อง จึงควรที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญา เพื่อดำรงพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ดำรงมั่นคงต่อไป


การกรานกฐินทำอย่างไร

เมื่อผู้มีจิตศรัทธานำผ้าที่จะทำเป็นผ้ากฐินเข้ามาถวายแก่สงฆ์แล้ว ภิกษุทุกรูปช่วยกันกะ ตัด เย็บ และย้อมทำให้เป็นจีวร ให้เสร็จภายในวันที่ถวายนั้น ถ้าหากว่า ในกรณีที่เป็นผ้าสำเร็จแล้ว กล่าวคือ สำเร็จเป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งในบรรดาผ้า ๓ ผืนแล้ว ก็ข้ามขั้นตอนการกะ ตัด เย็บ ย้อมไป สงฆ์ประชุมกันในเขตสีมาเพื่อสรรหาภิกษุผู้ควรแก่การรับผ้ากฐิน ซึ่งเรียกว่า ผู้ครองกฐิน ด้วยการสวดญัตติทุติยกรรมวาจามอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุผู้จะรับผ้ากฐิน การกระทำผ้าให้เป็นผ้ากฐินจนสำเร็จ ตลอดจนถึงการมอบผ้ากฐินแก่ภิกษุผู้ควรรับมอบผ้ากฐิน ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุดนั้น ชื่อว่า การกรานกฐิน


ใครเป็นผู้ควรรับมอบผ้ากฐิน

จะต้องเป็นพระภิกษุรูปที่มีผ้าที่เก่าที่สุดถ้าผู้มีจีวรเก่ามีหลายรูปคณะสงฆ์ก็จะให้โอกาสแก่พระภิกษุผู้มีพรรษามากกว่าและทั้งหมดนั้นจะต้องเป็นไปตามการอนุมัติจากสงฆ์ คฤหัสถ์จะเป็นผู้เจาะจงว่าจะถวายรูปนั้นรูปนี้ไม่ได้เลยตามข้อความในสมันตปาสาทิกาอรรถกถา พระวินัยปิฎกมหาวรรคเล่ม๕ภาค๒ - หน้า๒๓๐ดังนี้

ก็กฐินใครควรกราน (รับผ้ากฐิน) สงฆ์ให้จีวรกฐินแก่ภิกษุใด ภิกษุนั้น ควรกราน

ก็สงฆ์ควรให้ใครเล่า

ภิกษุใดมีจีวรเก่า ควรให้แก่ภิกษุนั้น ถ้าภิกษุมีจีวรเก่าหลายรูป พึงให้แก่ภิกษุผู้มีพรรษาแก่กว่า ในหมู่ผู้ภิกษุผู้มีพรรษาแก่กว่าเล่า ภิกษุใด เป็นมหาบุรุษ (ผู้รู้) ควรให้แก่ภิกษุนั้น ถ้าภิกษุผู้มีพรรษาแก่กว่าไม่เป็นผู้รู้ ภิกษุผู้มีพรรษาอ่อนกว่า เป็นผู้รู้ พึงให้แก่ภิกษุผู้มีพรรษาอ่อนกว่า

สงฆ์ควรทำความสงเคราะห์แก่พระมหาเถระ เพราะฉะนั้น สงฆ์พึงเรียนท่านว่า ขอท่านจงรับเถิด พวกข้าพเจ้าจักช่วยทำถวาย

ในไตรจีวรผืนใดคร่ำคร่า ควรให้เพื่อประโยชน์แก่ผืนนั้น ตามปกติพระมหาเถระครองจีวรสองชั้น พึงให้เพื่อพอทำได้สองชั้น ถ้าแม้ท่านครองจีวรชั้นเดียวแต่เนื้อแน่น แต่ผ้ากฐินเนื้อบาง พึงให้เพื่อให้พอสองชั้นทีเดียว เพื่อจะได้เหมาะสม ถึงแม้ท่านพูดอยู่ว่า เมื่อไม่ได้ เราก็จะครองชั้นเดียว ก็ควรให้สองชั้น แต่ถ้าภิกษุใดเป็นผู้มีปกติโลภ ไม่ควรให้แก่ภิกษุนั้น และภิกษุผู้รับนั้นเล่า ก็ไม่ควรรับด้วยคิดว่าเรากรานกฐินแล้ว ภายหลังจักเลาะออกทำเป็นจีวรสองผืน

ภิกษุผู้ได้รับมอบผ้ากฐินต้องถอนผ้าผืนเก่าของตน คือ สละผ้าผืนเก่านั้น แล้วทำกัปปพินทุ (ทำเครื่องหมายให้รู้ว่าผ้ากฐินที่ได้รับมอบนั้นเป็นของตน) และอธิษฐาน (ตั้งใจว่าจะใช้สอยผ้า) ในบรรดาผ้าจีวร ๓ ผืน มี ผ้าสังฆาฏิ เป็นต้น ถ้ากรานผ้ากฐิน คือ รับมอบผ้ากฐินเพื่อเป็นผ้าสังฆาฏิ ก็ถอนผ้าสังฆาฏิผืนเก่า แล้วทำกัปปพินทุและอธิษฐานคือเพื่อใช้สอยเป็นผ้าสังฆาฏิผืนใหม่ ถ้ากรานผ้ากฐินเพื่อเป็นผ้าอุตตราสงค์ ก็ถอนผ้าอุตตราสงค์ผืนเก่า แล้วทำกัปปพินทุและอธิษฐานผ้ากฐินนั้นเป็นผ้าอุตตราสงค์ผืนใหม่ ถ้ากรานผ้ากฐินเพื่อเป็นผ้าอันตรวาสก ก็ถอนผ้าอันตรวาสกผืนเก่าแล้วทำกัปปพินทุและอธิษฐานผ้ากฐินนั้นเป็นอันตรวาสกผืนใหม่


กรรมวาจาในการมอบผ้ากฐิน

ข้อความในพระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า๑๙๕ แสดงกรรมวาจาคือวาจาที่กล่าวในการมอบผ้ากฐิน มีดังนี้

ภิกษุผู้ฉลาดผู้รู้ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา (ญัตติ หมายถึง ประกาศให้สงฆ์ทราบเพื่อทำกิจร่วมกัน กรรมวาจา คือ สวดตั้งญัตติให้รู้ว่ากำลังจะทำอะไร ๑ แล้วสวดประกาศอีก ๑ ครั้ง จึงเป็นทุติยกรรมวาจา คือ การกล่าวให้รู้ รวม ๒ ครั้ง เพื่อความเห็นชอบจากคณะสงฆ์ในสังฆกรรมนั้น) ว่าดังนี้

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินผืนนี้ เกิดแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว (กระทำผ้านี้ให้เป็นผ้ากฐินสำเร็จแล้ว) สงฆ์พึงให้ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน (รับเป็น ผู้ครองผ้ากฐิน) นี้เป็นญัตติ

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินผืนนี้ เกิดแล้วแก่สงฆ์ สงฆ์ให้ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน การให้ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด

ผ้ากฐินผืนนี้ สงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้น จึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้


อานิสงส์ของกฐิน

ตามข้อความในพระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ ๑๙๔ ได้แสดงอานิสงส์ของกฐินไว้ ดังต่อไปนี้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลาย ผู้จำพรรษาแล้วได้กรานกฐิน พวกเธอผู้ได้กรานกฐินแล้ว จักได้อานิสงส์ ประการ คือ

๑ . เที่ยวไปไหนโดยไม่ต้องบอกลา

๒ . ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ

. ฉันคณโภชน์ได้

. ทรงอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา

๕ . จีวรอันเกิดขึ้น ที่นั้นจักได้แก่พวกเธอ

คำอธิบายในแต่ละข้อ มีดังนี้

เมื่อภิกษุได้รับผ้ากฐินถูกต้องตามวินัยแล้ว ทั้งผู้ที่ได้รับมอบผ้า และคณะสงฆ์ทั้งหมดที่ร่วมอนุโมทนายินดีก็จะได้รับอานิสงส์ ๕ ประการ สำหรับอานิสงส์ ๕ ประการก็จะได้เฉพาะกับภิกษุผู้จำพรรษาในอาวาสนั้นเท่านั้น (ภิกษุผู้จำพรรษาหลัง หรือภิกษุที่จำพรรษาในวัดอื่นที่มาร่วมด้วย ย่อมไม่ได้อานิสงส์) ซึ่งการได้รับการผ่อนผันในทางพระวินัย มีดังนี้

. เที่ยวไปไหนโดยไม่ต้องบอกลา ในพระวินัยมีข้อความบัญญัติไว้ว่า เมื่อภิกษุได้รับนิมนต์ไปฉันภัตตาหารในบ้าน ภิกษุผู้รับนิมนต์นั้น เมื่อมีความประสงค์ไปสู่บ้านอื่นจากบ้านที่รับนิมนต์นั้นในเวลาก่อนฉัน คือยังไม่ได้ฉันอาหารที่รับนิมนต์ไว้หรือหลังฉันคือภายหลังจากฉันอาหารที่รับนิมนต์เขาไว้แล้วก็ตาม จะต้องลาภิกษุที่มีอยู่ร่วมกันในอาวาสเดียวกันก่อน ยกเว้น คราวสมัยที่มีการถวายกฐิน คือ ตั้งแต่วันปวารณาออกพรรษาถึงกลางเดือน ๑๒ แต่ถ้าได้มีการกรานกฐินด้วยแล้วรวมระยะเวลา ๕ เดือนจนถึงกลางเดือน ๔ สามารถไปได้โดยไม่ต้องบอกลา เพราะว่าเป็นช่วงเวลาที่ต้องมีการทำจีวรเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก อาจจะขาดเข็ม ขาดด้าย ขาดน้ำย้อม ก็จะสามารถไปบอกข่าวแก่ผู้ที่ได้แจ้งหรือปวารณาไว้ได้ จึงสามารถไปได้เลยโดยไม่ต้องบอกลา เฉพาะในวันดังกล่าวเท่านั้น

๒. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ เนื่องจากว่ามีกิจมากในการทำจีวร ถ้าถือไตรจีวรไปครบสำรับก็อาจจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เพราะภิกษุต้องรักษาไตรจีวรไว้ ถ้าไม่รักษา ทิ้งไว้จนถึงเวลาอรุณขึ้นของวันใหม่ ชื่อว่า อยู่ปราศจากจีวรนั้น ก็เป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ยกเว้นภิกษุที่ได้รับสมมติ (หมายรู้กันว่าเป็นผู้ได้รับการยกเว้น) เช่น ในกรณีอาพาธไม่สามารถนำไตรจีวรไปครบได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตเป็นกรณีพิเศษในช่วงได้รับอานิสงส์กฐินนั้นว่าไม่ต้องถือไปครบสำรับ สามารถถือไปเฉพาะผ้านุ่งกับผ้าห่มเท่านั้น ผ้าสังฆาฏิไม่ต้องนำไปก็ได้

๓. ฉันคณะโภชน์ได้ ฉันคณะโภชน์ คือ การฉันรวมกันเป็นหมู่คณะตั้งแต่ รูปขึ้นไป

โภชนะ ๕ อย่างคือ ข้าวสุก ๑ ขนมสด ๑ ขนมแห้ง ๑ ปลา ๑ เนื้อ ๑ เมื่อผู้จะถวายภัตตาหารเข้ามาหาภิกษุ ๔ รูปในที่แห่งเดียวกันหรือที่ต่างๆ กัน นิมนต์ฉันด้วยโภชนะ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ด้วยการกล่าวคำนิมนต์ที่ไม่สมควรโดยการบอกชื่ออาหาร เช่น นิมนต์ฉันข้าวสุก ฉันเนื้อ ฉันปลา ภิกษุจะฉันเป็นคณะ คือ ๔ รูป ขึ้นไปไม่ได้ แต่สำหรับผู้ได้กรานกฐินก็ได้รับการผ่อนปรนให้ฉันเป็นคณะโภชนะได้ตามเวลาที่ได้ทรงบัญญัติไว้ในพระวินัย

๔. ทรงอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา

ตามปกติภิกษุจะเก็บอติเรกจีวรไว้ได้ เพียง ๑๐ วันเท่านั้น (เพื่อป้องกันการสะสมผ้า ป้องกันความเป็นผู้โลภมากในผ้า) ถ้าเก็บเกิน ๑๐ วันขึ้นไป ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์

อติเรกจีวร หมายถึง ผ้าที่ภิกษุได้มาซึ่งเกินกว่าผ้าที่ภิกษุอธิษฐานใช้ มี ไตรจีวร เป็นต้น และ เป็นผ้าที่ยังไม่ได้วิกัป

อธิษฐาน หมายถึง ภิกษุมีความตั้งใจที่จะใช้สอยผ้านั้น

วิกัป หมายถึง กระทำผ้าจีวรนั้นให้เป็น ๒ เจ้าของร่วมกัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้เก็บอติเรกจีวร คือ ผ้าจีวรที่ยังไม่ได้อธิษฐานวิกัปไว้ได้ตามปรารถนาในช่วงที่ได้รับอานิสงส์กฐินนี้ เพื่อเก็บให้เพียงพอแก่ผ้าผืนใดหรือหนึ่ง หรือเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ ซึ่งภิกษุสามารถเก็บผ้าที่ได้มาเพื่อที่จะทำจีวรได้ ในช่วงกาลจีวรนี้ คือ ตั้งแต่วันปวารณาออกพรรษา คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ภายใน ๑ เดือน ถ้ามีการกรานกฐินแล้ว อานิสงส์ที่ได้รับจนถึงกลางเดือน ๔ รวมเป็นเวลา ๕ เดือน

๕. จีวรอันเกิดขึ้น ที่นั้น จักได้แก่พวกเธอ โดยปกติแล้วในอาวาสหนึ่ง ถ้ามีผู้ถวายจีวรซึ่งถวายแก่สงฆ์ ทั้งภิกษุที่อยู่จำพรรษาและทั้งที่เป็นภิกษุอาคันตุกะ ซึ่งสงฆ์ จะต้องทำการแบ่งให้กับภิกษุทุกรูป แต่ในกรณีที่กฐินเป็นอันกรานแล้ว ผ้าจีวรเหล่านั้นที่เกิดขึ้นย่อมเป็นของเฉพาะภิกษุผู้จำพรรษา อาวาสนั้นเท่านั้น ตลอดระยะเวลา ๕ เดือน (ตั้งแต่วันปวารณาออกพรรษา คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔) แม้ว่าภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายเข้าไปสู่อาวาสนั้นก็ไม่มีสิทธิ์ในจีวรเหล่านั้น ถึงแม้จีวรเหล่านั้นยังไม่ได้มีการแจกก็ตาม

อานิสงส์ทั้ง ข้อนี้ เป็นของพระภิกษุเท่านั้น ไม่ใช่ของคฤหัสถ์เลย แต่สำหรับคฤหัสถ์ผู้ถวายผ้าเพื่อทำเป็นผ้ากฐิน ก็เป็นผู้ได้เจริญกุศลในเรื่องการให้ทาน อานิสงส์ซึ่งเป็นผลที่หลั่งไหลมาจากเหตุ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมก็สามารถเกิดขึ้นกับผู้ที่ได้เจริญกุศลไว้ดีแล้วได้ เมื่อเหตุดี ผลที่ดี ก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามควรแก่เหตุ ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น


ผ้ากฐินเป็นผ้าบริสุทธิ์

กฐิน ที่ถูกต้องเป็นไปตามพระธรรมวินัยนั้น จะต้องเกิดขึ้นโดยชอบธรรม ไม่ใช่เกิดจากขอ ไม่ใช่เกิดจากการทำนิมิตหรือการเลียบเคียงแต่อย่างใด ตามข้อความในพระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า ๑๙๖ ดังนี้

“กฐินไม่เป็นอันกราน (คือ ไม่สำเร็จเป็นกฐิน) ด้วยผ้าที่ทำนิมิตได้มา กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่พูดเลียบเคียงได้มา”

คำอธิบายมีดังนี้

การทำนิมิต (ทำให้รู้ความหมาย) เช่น ภิกษุพูดให้ใคร ได้ยินว่า ผ้าผืนนี้ดี เหมาะสม สามารถใช้ผ้าผืนนี้กรานกฐินได้ จนมีคนมาถวายกฐิน

คำอธิบาย การพูดเลียบเคียง เช่น ภิกษุพูดขึ้นมาว่าธรรมดาว่า กฐินนี้ควรถวาย ผู้ถวายจะได้บุญมากจนมีคนมาถวายกฐิน

ถ้าทำอย่างนี้แล้วได้ผ้ามา ย่อมไม่เป็นผ้ากฐิน เพราะไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ทั้งภิกษุผู้ได้รับผ้าและคณะสงฆ์ที่ทำการอนุโมทนาก็จะไม่ได้รับอานิสงส์ของกฐินเลย เพราะเป็นผ้าที่จะทำเป็นผ้ากฐินนั้นได้มาโดยไม่ชอบธรรม ผ้าที่จะนำมาทำเป็นผ้ากฐินนั้น ต้องบริสุทธิ์อย่างยิ่ง แม้แต่ญาติ หรือ บุคคลผู้ปวารณาไว้ ภิกษุก็จะไปขอผ้ามาเพื่อทำเป็นผ้ากฐินไม่ได้เลย ต้องเป็นผ้าที่บริสุทธิ์ดุจลอยมาจากอากาศเลยทีเดียวจะเห็นได้ว่าโดยทั่วไปภิกษุสามารถเอ่ยปากขอวัตถุที่สมควรแก่เพศบรรพชิตจากญาติหรือจากบุคคลผู้ปวารณาได้ไม่มีโทษแต่อย่างใดแต่สำหรับผ้าที่จะทำเป็นผ้ากฐินนั้นบริสุทธิ์อย่างยิ่งภิกษุจะเอ่ยปากขอไม่ได้เลยแต่ถ้าคฤหัสถ์อุบาสกอุบาสิกาเห็นว่าวัดใดไม่มีผ้ากฐินจะขวนขวายหาผ้ามาถวายแด่สงฆ์อย่างนี้เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ เพราะคฤหัสถ์ขวนขวายเอง


เข้าใจกฐินอย่างถูกต้องเป็นประโยชน์ทั้งกับตนเองและผู้อื่น

กฐินเป็นเรื่องของผ้า เป็นการถวายผ้าในกาล คือ ในช่วงเวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้เท่านั้น เมื่อเข้าใจถูกต้องแล้ว เมื่อมีคนมาชักชวนให้ทำกฐิน โดยทำเป็นซองกฐินมาเรี่ยไรเงิน ก็สามารถกล่าวความจริงให้ผู้นั้นได้เข้าใจอย่างถูกต้องว่า กฐินคืออะไร จึงเป็นการทำประโยชน์ให้กับผู้นั้น ทำให้ผู้นั้นได้มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง เพื่อจะได้ไม่ทำสิ่งที่ผิดต่อไป ในขณะนั้น ก็เป็นประโยชน์ของตนด้วย ไม่ต้องเกรงใจในสิ่งที่ผิด สิ่งที่ผิด ไม่มีประโยชน์ใด ทั้งสิ้น ควรที่จะได้ช่วยกันรีบทิ้งสิ่งที่ผิดทันที ไม่เก็บสิ่งที่ผิดไว้ต่อไป


พระพุทธประสงค์ในการทรงอนุญาตกฐิน

เนื่องจากการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวกับกฐิน นั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุทุกรูปร่วมแรงร่วมใจกันทำผ้านั้นให้เป็นผ้ากฐิน จะถือตนว่าเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ เป็นพระเถระ หรือเป็นพหูสูต ไม่ได้เลย ภิกษุทุกรูปต้องช่วยกัน ซัก เย็บ ย้อมจีวรให้เสร็จภายในวันนั้น การกระทำดังกล่าวนั้น เป็นกฐินวัตรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ก็ทรงกระทำกฐินวัตรนี้มาแล้วตามข้อความในสมันตปาสาทิกาอรรถกถาพระวินัยปิฎกมหาวรรคเล่ม๕ภาค๒ - หน้า๒๓๒ ดังนี้

จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่าปทุมุตตระก็ได้ทรงทำกฐินวัตรมาแล้ว ในอดีตกาล ได้ยินว่า พระอัครสาวกของพระองค์ชื่อสุชาตเถระ ได้รับกฐิน พระศาสดาได้ทรงนั่งทำกฐินวัตรนั้น พร้อมด้วยภิกษุหกล้านแปดแสนรูป

เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ไม่ถือตน เป็นผู้เสียสละ เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุรูปอื่น ช่วยกันทำกิจนี้ให้สำเร็จ จึงก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีกันคุ้นเคยกัน นำความผาสุกมาสู่หมู่คณะอย่างแท้จริง

อีกประการหนึ่ง ในสมัยครั้งพุทธกาล ภิกษุหาผ้าได้ยาก เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตกฐิน ก็เป็นเหตุทำให้ภิกษุไม่ต้องลำบากในการแสวงหาผ้า ภิกษุที่มีผ้าเก่า ก็ได้ผลัดเปลี่ยนผ้าใหม่ เป็นผู้อยู่อย่างผาสุก ตลอดจนถึงการเดินทางได้สะดวกไม่ต้องกังวลในเรื่องการถือไตรจีวรไปให้ครบ ตามข้อความในสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า ๒๒๗ ดังนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า ถ้าการกรานกฐิน จักได้เป็นการที่เราได้บัญญัติแล้วไซร้ ภิกษุเหล่านั้น จะเก็บจีวรไว้ผืนหนึ่งแล้ว มากับอันตรวาสกและผ้าอุตตราสงค์ จะไม่ต้องลำบากอย่างนั้น คือ หมายความว่า ไม่ต้องถือจีวรไปครบสำรับได้ มีเพียงผ้านุ่ง (อันตรวาสก) กับผ้าจีวรสำหรับห่มคลุมกาย (อุตราสงค์) ก็เพียงพอ


บริวารกฐินไม่มีในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

บริวารกฐิน ไม่มีในพระไตรปิฎก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า กฐิน เป็นเรื่องของผ้า ไม่มีเรื่องของเงินทองหรือสิ่งอื่นใดจะเป็นบริวารของกฐินเลย ชาวพุทธ ควรเข้าใจคำว่าปัจจัยก่อนว่าปัจจัยคืออะไร ปัจจัย ไม่ใช่เงิน ชาวพุทธก็จะคุ้นกันในคำว่า จตุปัจจัย ซึ่งหมายถึง ปัจจัย ไม่ใช่เงินทองแต่อย่างใด ปัจจัย ๔ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตเป็นไปได้ เป็นที่อาศัยของชีวิต เงินทองไม่ใช่ปัจจัยของภิกษุ เงินทองไม่ควรแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง ภิกษุในพระธรรมวินัย ไม่รับและไม่ยินดีในเงินและทอง ภิกษุบวชเพื่อขัดเกลากิเลส ก่อนบวชก็สละเงินและทองแล้ว เมื่อบวชแล้ว จะกลับมารับเงินและทองอีกได้อย่างไร กฐินไม่เกี่ยวกับเงินทองและสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น ภิกษุเรี่ยไรเงิน รับเงิน ก็เป็นอาบัติ ส่วนคฤหัสถ์ที่ขวนขวาย ด้วยการทำซองกฐิน เพื่อเรี่ยไรเงิน มีประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการ ทั้งหมดนั้น คือ ร่วมกันทำลายพระพุทธศาสนา ซึ่งทำลายตนเองก่อน เพราะเข้าใจกฐินผิด เข้าใจผิดว่ากฐินเป็นเรื่องของเงินทอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ต่อไปก็ทำลายผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดไปด้วย เพราะเข้าใจกฐินผิด นั่นเอง เพราะเชื่อแต่คำของภิกษุอลัชชี แต่ลืมคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ละเลยคำของพระองค์ การกระทำดังกล่าวไม่เป็นบุญเลย แต่เป็นบาป เพราะเมื่อมีการให้เงินแก่ภิกษุ ก็ทำให้ภิกษุต้องอาบัติล่วงละเมิดพระวินัย จากการกระทำของตนเองผู้เป็นคฤหัสถ์ที่ให้เงินแก่ภิกษุ เท่ากับผลักภิกษุไปสู่อบายภูมิเลยทีเดียว เพราะไม่เข้าใจว่าบุญเป็นสภาพธรรมฝ่ายดีที่ชำระจิตใจให้สะอาดปราศจากอกุศล เมื่อทำสิ่งที่ผิด จึงไม่ใช่บุญ แต่เป็นบาป ภิกษุที่ทำผิดพระวินัย ย่อมมีอาบัติเป็นเครื่องกั้นการบรรลุมรรคนิพพาน กั้นการเกิดในสุคติภูมิด้วย กล่าวคือ ถ้ายังมีอาบัติติดตัวอยู่ หากมรณภาพคือสิ้นชีวิตไปในขณะที่ยังปฏิญาณตนว่าเป็นภิกษุ ชาติต่อไปจากชาตินี้เลย ต้องไปเกิดในอบายภูมิเท่านั้น เกิดในสุคติภูมิไม่ได้เลย ในพระพุทธศาสนา เรียกว่า อาณาวีติกกมะ คือ การล่วงละเมิดพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ เป็นอันตรายิกธรรม (ธรรมที่ทำอันตราย) คือ เป็นธรรมที่กั้นสวรรค์ มรรค ผล นิพพาน


เอากฐินมาอ้างเพื่อทำอย่างอื่นถูกต้องหรือไม่

ในปัจจุบัน มักจะมีการอ้างว่า ทำกฐินสร้างห้องน้ำ ทำกฐินสร้างโรงเรียน ทำกฐินสร้างโบสถ์ ทำกฐินสร้างศาลา เป็นต้น เมื่อเข้าใจอย่างถูกต้องแล้วว่า กฐิน เป็นเรื่องของผ้า เป็นสังฆกรรมของพระภิกษุทั้งหลายที่อยู่ในอาวาสเดียวกันเท่านั้น การกระทำอย่างอื่นโดยนำกฐินมาอ้างเพื่อจะทำสิ่งนั้น จึงไม่ถูกต้อง เพราะสิ่งอื่น นั้น ไม่ใช่กฐิน ที่ถูกต้อง ก็คือ กล่าวไปตรงๆ เลยว่า จะสร้างห้องน้ำ จะสร้างโรงเรียน จะสร้างโบสถ์ จะสร้างศาลา โดยทั้งหมด นั้น ไม่ใช่กฐิน แต่เป็นกิจของคฤหัสถ์เท่านั้นที่จะช่วยกันหาเงินทุน โดยไม่เกี่ยวกับภิกษุ เพราะภิกษุจะมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องเงินทองไม่ได้โดยประการทั้งปวง และที่เข้าใจผิดอย่างยิ่ง คือ จะถวายผ้ากฐินเพื่อสร้างสำนักปฏิบัติ เพราะสำนักปฏิบัติไม่มีในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สำนัก หมายถึง ที่อยู่เท่านั้น ไม่ใช่เป็นสถานที่ที่จะต้องไปปฏิบัติธรรม เพราะธรรม คือ สิ่งที่มีจริง มีจริงทุกขณะ ไม่จำเป็นต้องไปอยู่ ที่หนึ่งที่ใด แต่เมื่อเข้าใจผิด จึงคิดว่าจะต้องไปปฏิบัติ ณ สำนักปฏิบัติ เพราะความจริงนั้น ธรรม กำลังมีในขณะนี้ การฟังพระธรรมให้เข้าใจเป็นปัจจัยให้ปัญญาความเข้าใจเจริญขึ้นรู้ความจริงของธรรมที่มีจริงในขณะนี้ นั่นคือ ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา จึงเข้าใจความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมแต่ละหนึ่งตรงตามความเป็นจริง เมื่อไม่มีสำนักปฏิบัติในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วพากันสร้างสำนักปฏิบัติ จะถูกต้องหรือ และถ้าเป็นการถวายผ้ากฐินเพื่อสร้างสำนักปฏิบัติ ก็จะยิ่งเป็นโทษกับผู้ทำและผู้ที่ชักชวนอีกด้วย ฉะนั้นจึงเป็นโทษโดยส่วนเดียว ทำลายทั้งตนเองและผู้อื่น และทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย


คหบดีจีวร

คหบดีจีวรคืออะไร คหบดีจีวร คือ จีวรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุรับจากคฤหัสถ์ มูลเหตุที่ทรงอนุญาตให้รับคหบดีจีวรได้นั้น มาจากหมอชีวกโกมารภัจจ์ทูลขอโอกาสจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อประโยชน์ให้ภิกษุทั้งหลายได้รับผ้าที่คฤหัสถ์ถวายจากเดิมที่ปกติภิกษุทั้งหลายใช้ผ้าปังสุกุลจีวร (ผ้าเปื้อนฝุ่นที่ภิกษุเก็บรวบรวมมาจากสถานที่ที่เขาทิ้งแล้วบ้างจากผ้าห่อศพบ้างเป็นต้น) ตามข้อความใน พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า ๒๖๑ ดังนี้

ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ ถือผ้าสิไวยกะคู่นั้นไปในพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่งอยู่ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ชีวกโกมารภัจจ์นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะขอประทานพรต่อพระผู้มีพระภาคสักอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระตถาคตทั้งหลายเลิกให้พรเสียแล้ว ชีวก

ชีวกโกมารภัจจ์ กราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพรที่สมควรและไม่มีโทษ พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จงว่ามาเถิด ชีวก

ชีวกโกมารภัจจ์กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคและพระสงฆ์ทรงถือผ้าบังสุกุลเป็นปกติอยู่ ผ้าสิไวยกะของข้าพระพุทธเจ้าคู่นี้ พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงส่งมาพระราชทาน เป็นผ้าเนื้อดีเลิศ ประเสริฐ มีชื่อเสียงเด่นอุดม และเป็นเยี่ยมกว่าผ้าทั้งหลายเป็นอันมาก ตั้งหลายคู่ ตั้งหลายร้อยคู่ หลายพันคู่ หลายแสนคู่ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงพระกรุณาโปรดรับผ้าคู่สิไวยกะของข้าพระพุทธเจ้า และขอจงทรงพระพุทธานุญาตคหบดีจีวรแก่พระสงฆ์ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคทรงรับผ้าคู่สิไวยกะแล้ว ครั้นแล้ว ทรงชี้แจงให้ชีวกโกมารภัจจ์ เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ครั้นชีวกโกมารภัจจ์อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณกลับไป

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตคหบดีจีวร รูปใดปรารถนา จงถือผ้าบังสุกุล รูปใดปรารถนา จงยินดีคหบดีจีวร แต่เราสรรเสริญการยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้

ประชาชนในพระนครราชคฤห์ได้ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตคหบดีจีวรแก่ภิกษุทั้งหลาย ต่างพากันยินดีร่าเริงว่า บัดนี้แล พวกเราจักถวายทาน จักบำเพ็ญบุญ เพราะพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตคหบดีจีวรแก่ภิกษุทั้งหลาย

เพียงวันเดียวเท่านั้น จีวรหลายพันผืนได้เกิดขึ้นในพระนครราชคฤห์

ประชาชนชาวชนบทได้ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตคหบดีจีวรแก่ภิกษุทั้งหลาย ต่างพากันยินดีร่าเริงว่า บัดนี้แล พวกเราจักถวายทาน จักบำเพ็ญบุญ เพราะพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตคหบดีจีวรแก่ภิกษุทั้งหลาย

เพียงวันเดียวเท่านั้น จีวรหลายพันผืนได้เกิดขึ้นแม้ในชนบท

จากข้อความดังกล่าวนี้ทำให้เมื่อใดที่มีโอกาสได้ถวายจีวรแด่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่มีจีวรเก่าหรือจีวรที่ไม่สามารถจะใช้ประโยชน์ได้แล้ว ก็ทำให้ระลึกถึงคุณของหมอชีวกโกมารภัจจ์ผู้ที่ทำให้ได้มีโอกาสถวายคหบดีจีวรแก่พระภิกษุ เพื่อให้ดำรงอยู่ในเพศบรรพชิตได้ด้วยความผาสุก เพราะเหตุว่าในครั้งโน้น ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะประทานพรให้กับหมอชีวกโกมารภัจจ์ถวายคหบดีจีวรได้ นั้น พระภิกษุทั้งหลาย เป็นผู้ที่มีปกติถือปังสุกุลจีวรเป็นวัตร

เมื่อไม่ใช่โอกาสแห่งการถวายกฐิน แต่สิ่งที่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต คฤหัสถ์ก็สามารถถวายได้ ทั้งจีวรเครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ซึ่งเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยให้ชีวิตเป็นไป


มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
www.dhammahome.com


... กราบอนุโมทนาคณะอาจารย์ของ มศพ. ที่ได้เรียบเรียงเรื่อง "กฐินคืออะไร"

และกราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่ได้เมตตาตรวจแก้ต้นฉบับ ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Nataya
วันที่ 26 ต.ค. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 2 พ.ย. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ก.ไก่
วันที่ 6 พ.ย. 2566

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nui_sudto55
วันที่ 20 พ.ย. 2566

สาธุครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ