พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. อัตตันตปสูตร บุคคลที่ทําตนหรือผู้อื่นให้เดือดร้อน ๔ จําพวก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  24 ต.ค. 2564
หมายเลข  38993
อ่าน  374

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 511

จตุตถปัณณาสก์

มหาวรรคที่ ๕

๘. อัตตันตปสูตร

บุคคลที่ทําตนหรือผู้อื่นให้เดือดร้อน ๔ จําพวก

อรรถกถาอัตตันตปสูตร 520

บริขาร ๘ 530

บริขาร ๙ 531

ปริขาร ๑๐ 531

บริขาร ๑๑ 531

ปริขาร ๑๒ 531


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 511

๘. อัตตันตปสูตร

บุคคลที่ทำตนหรือผู้อื่นให้เดือดร้อน ๔ จำพวก

[๑๙๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน ๑ บางคนเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ๑ บางคน ทำคนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน และทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ๑ บางคนไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทำคนให้เดือดร้อน และไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน และไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่หิว ดับร้อน เย็นใจ เสวยสุข มีตนอันประเสริฐ อยู่ในปัจจุบันเทียว ๑.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร บุคคลชื่อว่าเป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นชีเปลือย ไร้มารยาท เลียมือ เขาเชิญให้มารับภิกษาก็ไม่มา เขาเชิญให้หยุดก็ไม่หยุด ไม่ยินดีภิกษาที่เขานำมาเฉพาะ ไม่ยินดีภิกษาที่เขาทำเฉพาะ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 512

ไม่ยินดีการเชิญ ไม่รับภิกษาที่เขาแบ่งไว้ก่อน ไม่รับภิกษาจากปากหม้อข้าว ไม่รับภิกษาที่คนยืนคร่อมธรณีประตูให้ ไม่รับภิกษาที่คนยืนคร่อมท่อนไม้ให้ ไม่รับภิกษาที่คนยืนคร่อมสากให้ ไม่รับภิกษาของคนสองคนผู้กำลังบริโภคอยู่ ไม่รับภิกษาของหญิงมีครรภ์ ไม่รับภิกษาของหญิงผู้กำลังให้ลูกดูดนม ไม่รับ ภิกษาของหญิงผู้คลอเคลียบุรุษ ไม่รับภิกษาที่นัดแนะกันไว้ ไม่รับภิกษาในที่ซึ่งสุนัขได้รับเลี้ยงดู ไม่รับภิกษาในที่มีแมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่ม ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มยาดอง เขารับภิกษาที่เรือนหลังเดียว เยียวยาอัตภาพด้วยข้าวคำเดียวบ้าง รับภิกษาที่เรือนสองหลัง เยียวยาอัตภาพ ด้วยข้าวสองคำบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๗ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๗ คำบ้าง เยียวยาอัตภาพด้วยภิกษาในถาดน้อยใบเดียวบ้าง ๒ ใบบ้าง ๗ ใบบ้าง กินอาหารที่เก็บค้างไว้วันหนึ่งบ้าง ๒ วันบ้าง ๗ วันบ้าง เป็นผู้ประกอบความขวนขวายในการบริโภคภัตที่เวียนมาตั้งกึ่งเดือนเช่นนี้บ้าง ชีเปลือยนั้น เป็นผู้มีผักดองเป็นภักษาบ้าง มีข้าวฟ่างเป็นภักษาบ้าง มีลูกเดือยเป็นภักษาบ้าง มีกากข้าวเป็นภักษาบ้าง มียางเป็นภักษาบ้าง มีสาหร่ายเป็นภักษาบ้าง มีรำเป็นภักษาบ้าง มีข้าวตังเป็นภักษาบ้าง มีกำยานเป็นภักษาบ้าง มีหญ้าเป็นภักษาบ้าง มีโคมัยเป็นภักษาบ้าง มีเหง้าและผลไม้ในป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่นเยียวยาอัตภาพ ชีเปลือยนั้นทรงผ้าป่านบ้าง ผ้าแกมกันบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง ผ้าบังสุกุลบ้าง ผ้าเปลือกไม้บ้าง หนังเสือบ้าง หนังเสือทั้งเล็บบ้าง ผ้าคากรองบ้าง ผ้าเปลือกปอกรองบ้าง ผ้าผลไม้กรองบ้าง ผ้ากัมพลทำด้วยผมคนบ้าง ผ้ากัมพลทำด้วยขนสัตว์บ้าง ผ้าทำด้วยขนปีกนกเค้าบ้าง เป็นผู้ถอนผมและหนวด ประกอบด้วยความขวนขวนในการถอนผมและหนวดบ้าง เป็นผู้ยืน คือ ห้ามอาสนะบ้าง เป็นผู้กระโหย่ง ประกอบควานขวนขวายในการกระโหย่งบ้าง เป็นผู้นอนบนหนาม คือ สำเร็จการนอนบนหนามบ้าง

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 513

เป็นผู้อาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง คือ ประกอบความขวนขวายในการลงน้ำบ้าง เขาเป็นผู้ประกอบความขวนขวายในการทำกายให้เดือดร้อน ให้เร่าร้อนมีอย่าง ต่างๆ เห็นปานนี้อยู่ ด้วยประการฉะนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล บุคคลชื่อว่าเป็นผู้ทำคนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร บุคคลชื่อว่าเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าแพะ ฆ่าสุกร เป็นนายพรานนก เป็นนายพรานเนื้อ เป็นผู้หยาบช้า เป็นคนฆ่าปลา เป็นโจร เป็นผู้ฆ่าโจร เป็นนักโทษ หรือเป็นผู้ทำกรรมอันหยาบช้าชนิดใดชนิดหนึ่งก็ตาม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล บุคคลชื่อว่า เป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร บุคคลชื่อว่าเป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นพระราชามหากษัตริย์ได้มูรธาภิเษก หรือว่าเป็นพราหมณ์มหาศาล บุคคลนั้นให้สร้างสัณฐาคารใหม่ทางทิศตะวันออกแห่งพระนคร แล้วปลงผมและหนวด นุ่งหนังสัตว์มีเล็บ ชโลมกายด้วยเนยและน้ำมัน เกาหลังด้วยเขามฤค เข้าไปสู่สัณฐาคารพร้อมด้วยมเหสีและพราหมณ์ปุโรหิต บุคคลนั้นสำเร็จการนอนบนพื้น อันปราศจากการปูลาด ไล้ด้วยมูลโคสด น้ำนมใดมีอยู่ในนมเต้าหนึ่งของแม่โคลูกอ่อนตัวหนึ่ง พระราชาย่อมยังพระชนม์ให้เป็นไปด้วยน้ำนมเต้านั้น น้ำนมใดมีอยู่ในนมเต้าที่ ๒ พระมเหสีย่อมยังพระชนม์ให้เป็นไปด้วยน้ำนมเต้านั้น น้ำนมใดมีอยู่ในนมเต้าที่ ๓ พราหมณ์ปุโรหิต ย่อมยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยน้ำนมเต้านั้น น้ำนมใดมีอยู่ในนมเต้าที่ ๔ ย่อม

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 514

บูชาไฟด้วยน้ำนมเต้านั้น ลูกโคย่อมยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยน้ำนมที่เหลือ พระราชานั้นตรัสอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงฆ่าโคเท่านี้เพื่อบูชายัญ จงฆ่าลูกโคผู้เท่านี้เพื่อบูชายัญ จงฆ่าลูกโคเมียเท่านี้เพื่อบูชายัญ จงฆ่าแพะเท่านี้เพื่อบูชายัญ จงฆ่าแกะเท่านี้เพื่อบูชายัญ จงตัดต้นไม้เท่านี้เพื่อทำหลัก จงเกี่ยวหญ้าคาเท่านี้เพื่อบังและลาด แม้ชนเหล่าใดที่เป็นทาสก็ดี เป็นคนรับใช้ก็ดี เป็นคนงานก็ดี ของพระราชานั้น แม้ชนเหล่านั้นก็สะดุ้งต่ออาญา สะดุ้งต่อภัย มีหน้านองด้วยน้ำตาร้องไห้ทำการงานอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล บุคคลชื่อว่าเป็นผู้ทำคนให้เดือดร้อน ประกอบด้วยความขวนขวายในการทำคนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร บุคคลชื่อว่าไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน และไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน และไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่มีความหิว ดับร้อน เย็นใจ เสวยสุข มีตนอันประเสริฐอยู่ในปัจจุบันเทียว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตเสด็จอุบัติขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พระตถาคตพระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม พระองค์ทรงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้ง

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 515

พยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง คฤหบดีหรือบุตรแห่งคฤหบดี หรือบุคคล ผู้เกิดในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น เขาฟังธรรมนั้นแล้ว ย่อมได้ศรัทธาในพระตถาคต เขาประกอบด้วยการได้ซึ่งศรัทธานั้น ย่อมเห็นตระหนักชัดดังนี้ว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิตเถิด สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อเขาบวชแล้วอย่างนี้ ถึงความเป็นผู้มีสิกขาและสาชีพ เสมอด้วยภิกษุทั้งหลาย ละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาท วางอาชญา วางศาสตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู อนุเคราะห์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่เสมอ ละอทินนาทาน งดเว้นจากอทินนาทาน ถือเอาแต่ของที่เขาให้ จำนงแต่ของที่เขาให้ มีตนไม่เป็นขโมย สะอาดอยู่เสมอ ละกรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน ละมุสาวาท งดเว้นจากมุสาวาท พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ พูดเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้พร้อมเพรียงกัน ละวาจาหยาบ เว้นขาดจากวาจาหยาบ กล่าวแต่คำที่ปราศจากโทษ เสนาะโสต ชวนให้รัก จับใจ สุภาพ คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาด

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 516

จากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร เธอเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม ฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เว้นขาดจากการทัดทรง ประดับและตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอม และเครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัว เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เว้นขาดจากการรับทองและเงิน เว้นขาดจากการรับธัญชาติดิบ เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี เว้นขาดจากการรับทาสีและทาส เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้าและฬา เว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน เว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เว้นขาดจากการซื้อขาย เว้นขาดจากการฉ้อโกงด้วยตาชั่ง โกงด้วยของปลอมและโกงด้วยเครื่องตวงวัด เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวงและการตลบแตลง เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้นและกรรโชก เธอเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง นกมีปีกจะบินไปทางทิศาภาคใดๆ ก็มีแต่ปีกของตัวเป็นภาระบินไป ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง เธอเป็นผู้ประกอบด้วยศีลขันธ์อันเป็นอริยะเช่นนี้แล้ว ย่อมเสวยสุขอันปราศจากโทษในภายใน เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้วไม่ถือนิมิตร ไม่ถืออนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌา และโทมนัส

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 517

ครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหู... ดมกลิ่นด้วยจมูก... ลิ้มรสด้วยลิ้น... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติ เพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโสมนสัครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ เธอประกอบด้วยอินทรียสังวรอันเป็นอริยะ เช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันบริสุทธิ์ไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน เธอย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป ในการถอยกลับ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการแล ในการเหลียว ย่อมทำความรู้สึกตัวในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ย่อมทำความรู้สึกตัวในการทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร ย่อมทำความรู้สึกตัวในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ย่อมทำความรู้สึกตัวในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น ความนิ่ง เธอประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรียสังวร และสติสัมปชัญญะ อันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาตภายหลังภัตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอละความโลภในโลก มีใจปราศจากความโลภอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความโลภ ละความประทุษร้าย คือพยาบาท ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณา หวังประโยชน์เกื้อกูล แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือ พยาบาท ละถีนมิทธะแล้ว มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติ มีสัมปชัญญะ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบภายใน ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความสงสัยในกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 518

วิจิกิจฉา เธอละนิวรณ์เหล่านี้อันเป็นอุปกิเลสของใจ เป็นเครื่องทำปัญญาให้ทุรพลแล้ว สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสติญาณ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่อออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขและทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขและทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติ และอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วย กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียน

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 519

พระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล บุคคลชื่อว่าเป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน และไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน และบุคคลนั้นเป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่มีความหิว เป็นผู้ดับ เย็นใจ เสวยสุข มีตนอันประเสริฐ อยู่ในปัจจุบัน.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก.

จบอัตตันตปสูตรที่ ๘

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 520

อรรถกถาอัตตันตปสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในอัตตันตปสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้ :-

บรรดาบทว่า อตฺตนฺตโป เป็นต้น ชื่อว่า ทำตนให้เดือดร้อนเพราะเผาตน คือ ทำตนให้ถึงทุกข์. การประกอบความเพียรทำตนเองให้เดือดร้อน ชื่อว่าความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน ชื่อว่า ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เพราะเผาผู้อื่น. การประกอบความเพียรทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ชื่อว่า ความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน บทว่า ทิฏฺเว ธมฺเม ได้แก่ ในอัตภาพนี้แหละ. ในบทว่า นิจฺฉาโต ตัณหา ท่านเรียกว่า ฉาตะ ชื่อว่า นิจฉาตะ เพราะไม่มีตัณหา. ชื่อว่า นิพพุตะ เพราะกิเลสทั้งหมดดับ ชื่อว่า สีติภูตะ เพราะเป็นผู้เย็น เหตุที่ไม่มีกิเลสเผาในภายใน ชื่อว่า สุขปฏิสํเวที เพราะเสวยสุขใน ฌาน มรรค ผล และนิพพาน. บทว่า พฺรหฺมภูเตน อตฺตนา ได้แก่ มีตนประเสริฐ. บทมีอาทิว่า อเจลโก มีเนื้อความดังกล่าวไว้แล้ว.

ในบทมี การฆ่าแพะ เป็นต้น แพะ ท่านเรียก อุรพฺภา ชื่อว่า โอรัพ ภิกะ เพราะฆ่าแพะ. แม้ในคำว่า สูกริกะ คนฆ่าสุกรเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน. บทว่า ลุทฺโท คือ ทารุณ หยาบช้า. บทว่า มจฺฉฆาตโก ได้แก่ คนล่าปลา คือ คนจับปลาชาวประมง. บทว่า พนฺธนาคาริโก ได้แก่ ผู้คุมเรือนจำ. บทว่า กูรูรกมฺมนฺตา ได้แก่ ผู้มีการงานหยาบช้า.

บทว่า มุทฺธาภิสิตฺโต ได้แก่ พระราชาผู้อันเขารดน้ำบนพระเศียร โดยอภิเษกเป็นกษัตริย์. บทว่า ปุรตฺถิเมน นครสฺส ได้แก่ ทางทิศตะวันออกจากนคร. บทว่า สณฺาคารํ ได้แก่โรงบูชายัญ. บทว่า ขราชินํ นิวาเสตฺวา ได้แก่ นุ่งหนังเสือมีเล็บติด. บทว่า สปฺปิเตเลน ได้แก่ ด้วย

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 521

เนยใสและน้ำมัน. เว้นเนยใสนอกนั้นของมียางที่เหลือ ท่านก็เรียกว่า น้ำมัน. บทว่า กณฺฑุวมาโน ได้แก่ เพราะตัดเล็บหมด คราวจะต้องเกาก็เกาด้วยเขาสัตว์นั้น.

บทว่า อนตฺถรหิตาย ได้แก่ ไม่มีเครื่องปูลาด. บทว่า สรูปวจฺฉาย ได้แก่ ลูกโคมีสีเหมือนกัน. อธิบายว่า หากแม่โคมีสีขาว แม้ลูกโคก็มีสีขาว หากแม่โคมีสีดำแดงหรือสีแดง แม้ลูกโคก็มีสีเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า แม่โคมีลูกที่มีสีเหมือนกัน. บทว่า โส เอวมาห คือ พระราชานั้นตรัสอย่างนี้. บทว่า วจฺฉตรา ได้แก่ โคมีกำลัง (โคงาน) เคยเป็นโคหนุ่มแล้ว แม้ในโคสาวก็นัยนี้เหมือนกัน. บทว่า พริหิสตฺถาย ได้แก่ เพื่อล้อมและเพื่อลาด ณ พื้นที่บูชายัญ.

พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อทรงแสดงถึงบุคคลที่ ๔ ตั้งแต่พระพุทธเจ้าทรงอุบัติ จึงตรัสคำเป็นอาทิว่า อิธ ภิกฺขเว ตถาคโต ดังนี้. ในบทเหล่านั้น บทว่า ตถาคโต เป็นต้น มีเนื้อความได้กล่าวไว้แล้ว. บทว่า ตํ ธมฺมํ ได้แก่ธรรมอันสมบูรณ์โดยประการ ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วนั้น. บทว่า สุณาติ คหปติวา ถามว่า เพราะเหตุไรจึงทรงชี้คฤหบดีก่อน. ตอบว่า เพราะคฤหบดี กำจัดมานะแล้ว และเพราะมีจำนวนมาก จริงอยู่ โดยมากผู้ที่บวชจากตระกูลกษัตริย์ ทำมานะถือตัวเพราะอาศัยชาติ. ผู้ที่บวชจากตระกูลพราหมณ์ ทำมานะ เพราะอาศัยมนต์. ผู้ที่บวชจากตระกูลที่มีชาติต่ำ ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ เพราะค่าที่ตนมีชาติต่ำ. ก็พวกทารกของคหบดี มีเหงื่อไหลจากรักแร้ ขี้เกลือ เต็มหลัง ไถพื้นที่เป็นผู้หมดมานะและหยิ่ง เพราะไม่มีมานะเช่นนั้น. ทารก พวกนั้นครั้นบวชแล้วก็ไม่ทำมานะหรือหยิ่ง เรียนพุทธวจนะตามกำลัง บำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐาน สามารถดำรงอยู่ในพระอรหัตได้. ส่วนผู้ที่ออกบวชจาก

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 522

ตระกูลนอกนี้มีไม่มาก ผู้เป็นคหบดีออกบวชมีมาก. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงชี้คหบดีก่อนเพราะจะกำจัดมานะ และเพราะมีจำนวนมาก แล. บทว่า อญฺตรสฺมึ วา ได้แก่ ตระกูลนอกนี้ ตระกูลใดตระกูลหนึ่ง. บทว่า ปจฺฉาชาโต ได้แก่ เกิดในภายหลัง.

บทว่า ตถาคเต สทฺธํ ปฏิลภติ ความว่า เขาได้ฟังธรรมอันบริสุทธิ์แล้ว ย่อมได้ศรัทธาในพระตถาคตผู้เป็นธรรมสามีเจ้าของธรรมว่า พระผู้มีพระภาคเข้าพระองค์นั้น เป็นพระสัมมาสัมพุทธะหนอ. บทว่า อิติ ปฏิสญฺจิกฺขติ แปลว่า พิจารณาอย่างนี้. บทว่า สมฺพาโธ ฆราวาโส ความว่า ถึงแม้ว่าคู่สามีภรรยาจะอยู่ในเรือนขนาด ๖๐ ศอก หรือระหว่างร้อยโยชน์ก็ตาม การอยู่ครองเรือนก็ชื่อว่า คับแคบทั้งนั้น เพราะคู่สามีภรรยา ยังมีความกังวลและความห่วงใย. บทว่า รชาปโถ ท่านกล่าวไว้ในมหาอรรถกถาว่าเป็นที่เกิดของธุลีมีราคะเป็นต้น. จะกล่าวว่า อาคมนปโถ เป็นทางมาดังนี้บ้างก็ควร. ชื่อว่า อัพโภกาส เพราะเป็นดุจที่แจ้งด้วยอรรถว่าไม่มีที่เกี่ยวข้อง จริงอยู่ บรรพชิตผู้บวชแล้ว แม้อยู่ในกูฎาคาร รัตนปราสาท เทพวิมานเป็นต้น ที่มีประตูและหน้าต่างปิดสนิทเป็นที่กำบัง ก็ไม่เกี่ยวไม่ข้อง ไม่ติด. ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า บรรพชาเป็นที่แจ้งดังนี้. อีกอย่างหนึ่ง ฆราวาสเป็นที่คับแคบ เพราะไม่มีโอกาสจะทำกุศลความดีได้ตามสบาย. ชื่อว่า เป็นทางมาแห่งธุลี เพราะเป็นที่รวมของธุลี คือ กิเลส ดุจกองหยากเยื่อที่ไม่ได้ปิดไว้. บรรพชาชื่อว่า เป็นที่แจ้ง เพราะมีโอกาสทำกุศลความดีได้ตามสบาย.

ในคำว่า นยิทํ สุกรํ ฯเปฯ ปพฺพเชยฺยํ นี้ กล่าวโดยย่อดังนี้. พรหมจรรย์คือสิกขา ๓ นี้ได้ชื่อว่าบริบูรณ์โดยส่วนเดียว เพราะผู้บวชทำไม่ให้ ขาดแม้วันเดียว แล้วก็พึงให้บรรลุจริมกจิตได้. และชื่อว่า บริสุทธิ์ โดยส่วนเดียว เพราะผู้บวชทำไม่ให้มีมลทิน ด้วยมลทินคือกิเลสแม้วันเดียว ก็พึง

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 523

ให้บรรลุจริมกจิตได้. บทว่า สงฺขลิขิตํ ได้แก่ พึงประพฤติให้เป็นเสมือนสังข์ขัด คือเทียบด้วยสังข์ที่ขัดแล้ว. อันผู้อยู่ครองเรือนอยู่ท่ามกลางเรือน จะ ประพฤติพรหมจรรย์คือสิกขา ๓ นี้ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ไม่ทำได้ง่ายเลย ถ้ากระไรเราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้าอันสมควรแก่ผู้ประพฤติ พรหมจรรย์ ชื่อว่าผ้ากาสายะ เพราะย้อมด้วยน้ำฝาด ออกจากเรือนบวชไม่มีเรือนเกิด. ก็เพราะเหตุที่กสิกรรม พาณิชกรรมเป็นต้น เป็นประโยชน์เกื้อกูล แก่เรือน ท่านจึงเรียกว่า อคาริยํ ก็ อคาริยกิจ นั้นไม่มีในการบรรพชา ฉะนั้น บรรพชาพึงทราบว่าเป็น อนคาริยะ ไม่มีเรือน ในข้อนี้ ไม่มีเรือนนั้น. บท ว่า ปพฺพเชยฺยํ ได้แก่ พึงปฏิบัติ.

บทว่า อปฺปํ วา ได้แก่ กองโภคะต่ำกว่าพัน ชื่อว่า น้อย ตั้งแต่พันขึ้นไป ชื่อว่า มาก. ญาตินั่นแล ชื่อว่า ญาติปริวัฏ เครือญาติ เพราะอรรถ ว่าเกี่ยวพันกัน เครือญาติต่ำกว่า ๒๐ ชื่อว่าน้อย ตั้งแต่ ๒๐ ขึ้นไปชื่อว่ามาก. บทว่า ภิกฺขูนํ สิกฺขาสาชีวสมาปนฺโน ความว่า สิกขาอันใดอันได้แก่ อธิสีล ของภิกษุทั้งหลาย และภิกษุเหล่านั้นอยู่ร่วมกัน เป็นอยู่เป็นอันเดียวกัน มีความประพฤติเสมอกัน ในสิกขาใด บรรพชิตเข้าถึงสิกขานั้น และสาชีพแก่สิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้วนั้น เพราะเหตุนั้น บรรพชิตนั้นชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยสิกขาและความอยู่ร่วมกันของภิกษุทั้งหลาย. บทว่า สมาปนฺโน ความว่า บรรพชิตบำเพ็ญสิกขาให้บริบูรณ์ และไม่ละเมิดสาชีพความอยู่ร่วมกัน อธิบายว่า เข้าถึงสิกขาและสาชีพทั้งสองนั้น.

บทว่า ปาณาติปาตํ ปหาย เป็นต้น มีเนื้อความดังที่กล่าวแล้ว นั้นแล. บทว่า อิเมสํ เภทาย ได้แก่ เพื่อให้ผู้ที่ตนฟังมาข้างนี้ แตกกัน. บทว่า ภินฺนานํ วา สนฺธาตา ความว่า เมื่อมิตรสองคน หรือผู้ร่วมอุปัชฌาย์กันแตกกัน ด้วยเหตุไรๆ บรรพชิตเข้าไปหาแต่ละคน แล้วกล่าวคำ

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 524

เป็นต้นว่า นี้ไม่สมควรแก่ท่าน ผู้เกิดในตระกูลเช่นนี้ ผู้คงแก่เรียนอย่างนี้ ดังนี้ ชื่อว่า ทำความสมานกัน. บทว่า อนุปฺปาทาตา ความว่า ส่งเสริมคนที่สมานกัน อธิบายว่า บรรพชิตเห็นคนสองคนสมัครสมานกัน แล้วกล่าวคำเป็นต้นว่า นี้สมควรแก่พวกท่าน ผู้เกิดในตระกูลเห็นปานนี้ ผู้ประกอบด้วยคุณเห็นปานนี้ ดังนี้ และทำให้มั่นคงขึ้น. ชื่อว่า สมัคคาราม เพราะว่ามีความสามัคคีเป็นที่มายินดี อธิบายว่า ไม่ปรารถนาแม้แต่จะอยู่ในที่ที่ไม่มีความสามัคคีกัน ดังนี้. บาลีว่า สมคฺคราโม ดังนี้ก็มี ความก็อย่างเดียวกันนี้. บทว่า สมคฺครโต แปลว่า ยินดีแล้วในผู้ที่สามัคคีกัน อธิบายว่า ไม่ปรารถนาแม้ละผู้ที่สามัคคีเหล่านั้นแล้วไปที่อื่น. ชื่อว่า สมคฺคนนฺที เพราะเห็นก็ดี ได้ยินก็ดี ซึ่งคนสามัคคีกันก็ชื่นชม. บทว่า สมตฺถกรณี วาจํ ภาสิตา ความว่า วาจาใดทำให้คนสามัคคีกัน ย่อมกล่าววาจานั้นอันแสดงถึงคุณของสามัคคีเท่านั้น ไม่กล่าวนอกเหนือไปจากนี้.

ในบทว่า เนลา โทษท่านเรียกว่า เอละ. ชื่อว่า เนลา เพราะไม่มีโทษ อธิบายว่า หาโทษมิได้. ดุจ เนล ศัพท์ที่ท่านกล่าวไว้ในบทนี้ว่า เนลงฺโค เสตปจฺฉาโท รถมีเครื่องประกอบไม่มีโทษ หลังคาขาว ดังนี้. บทว่า กณฺณสุขา ได้แก่ เป็นที่สบายหู เพราะไพเราะด้วยพยัญชนะ ไม่เกิดเป็นดังหอกทิ่มหู ดุจแทงด้วยเข็ม. ชื่อว่า ชวนให้รัก เพราะไม่เกิดความเคืองในสกลกาย เกิดแต่ความรัก เพราะไพเราะด้วยอรรถ. ชื่อว่า จับใจ เพราะจับถึงใจไม่กระทบกระทั่งเข้าไปถึงใจโดยสะดวก. ชื่อว่า โปรี (สุภาพ) เพราะ เป็นคำชาวเมือง เพราะบริบูรณ์ด้วยคุณ. ชื่อว่า โปรี เพราะละเอียดอ่อนดุจนารีผู้เจริญในเมืองดังนี้ก็มี. ชื่อว่า โปรี เพราะเป็นคำของชาวเมืองดังนี้ก็มี อธิบายว่า คำว่า ปุรสฺส เอสา ได้แก่ คำพูดของชาวเมือง จริงอยู่

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 525

ชาวเมืองย่อมกล่าวคำที่สมควร เรียกคนปูนพ่อว่า พ่อ คนปูนพี่ว่า พี่ ดังนี้. ชื่อว่า พหุชนกนฺตา เพราะคำพูดเห็นปานนี้ เป็นที่รักใคร่ของชนเป็นอันมาก. ชื่อว่า พหุชนมนาปา เพราะเป็นที่พอใจ คือทำความเจริญจิตของชนเป็นอันมาก โดยเป็นคำน่ารักใคร่.

ชื่อว่า กาลวาที เพราะพูดถูกกาละ อธิบายว่า กำหนดกาลอันควรพูดแล้วจึงพูด. ชื่อว่า ภูตวาที เพราะพูดแต่เรื่องที่จริงแท้ที่มีอยู่เท่านั้น. ชื่อว่า อตฺถวาที เพราะพูดอิงประโยชน์ปัจจุบัน และประโยชน์ในภพหน้า. ชื่อว่า ธมฺมวาที เพราะพูดอิงนวโลกุตรธรรม. ชื่อว่า วินยวาที เพราะพูดอิงสังวรวินัยและปหานวินัย. โอกาสเป็นที่ตั้งไว้ ชื่อว่า นิธาน ก็นิธานคือหลักที่ตั้งของวาจานั้นมีอยู่เหตุนั้น วาจานั้น ชื่อว่า นิธานวตี มีหลักที่ตั้ง อธิบายว่า เป็นผู้กล่าวถ้อยคำควรฝังไว้ในใจ. บทว่า กาเลน ได้แก่ แม้เมื่อกล่าววาจาเห็นปานนี้ ก็คิดว่า เราจักกล่าววาจาที่น่าจดจำดังนี้ ไม่กล่าวพร่ำเพรื่อ อธิบายว่า พิจารณาถึงกาลที่ควรก่อนแล้วจึงกล่าว ดังนี้. บทว่า สาปเทสํ ได้แก่ มีข้ออุปมา อธิบายว่า มีเหตุผล. บทว่า ปริยนฺตวตึ ได้แก่ แสดงหัวข้อ อธิบายว่า กล่าวโดยอาการที่วาจานั้นปรากฏหัวข้อ. บทว่า อตฺถสญฺหิตํ ได้แก่ มีผู้จำแนกไว้แม้มากนัยก็ไม่อาจกำหนดเอาได้ ชื่อว่า ถึงพร้อมด้วยอรรถ. อีกอย่างหนึ่ง ท่านอธิบายไว้ว่า ย่อมกล่าววาจาที่ประกอบด้วยประโยชน์ เพราะวาจานั้นประกอบด้วยประโยชน์ ที่ผู้กล่าวอาศัยประโยชน์มุ่งกล่าว หาใช่ยกเรื่องหนึ่งขึ้นแล้วกล่าวเรื่องอื่นเสียใหม่.

บทว่า พีชคามภูตคามสมารมฺภา ความว่า เป็นผู้เว้นจากกำจัด คือ การทำลายโดยการตัดและการเผาซึ่งพีชคาม ๕ อย่าง คือ พืชเกิดแต่ราก ๑ พืชเกิดแต่ลำต้น ๑ พืชเกิดแต่ข้อ ๑ พืชเกิดแต่ยอด ๑ พืชเกิดแต่เมล็ด ๑ และซึ่งพืชคามมีหญ้าสีเขียว และต้นไม้เป็นต้น.

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 526

บทว่า เอกภตฺติโก ได้แก่ ภัตร (อาหาร) ๒ อย่าง คือ ภัตรในเวลาเช้า ๑ ภัตรในเวลาเย็น ๑ ในภัตร ๒ อย่างนั้น ภัตรในเวลาเช้ากำหนดไว้ภายในเที่ยง ภัตรในเวลาเย็นกำหนดไว้หลังเที่ยงวันไป เพราะฉะนั้น แม้จะบริโภคสัก ๑๐ ครั้ง ภายในเที่ยง ก็ชื่อว่า เป็นเอกภัตติกะ (บริโภคมื้อเดียว) ท่านหมายถึง เอกภัตติกะนั้นจึงกล่าวว่า เอกภตฺติโก ดังนี้. การบริโภคในกลางคืน ชื่อว่า รตฺติ ชื่อว่า รตฺตูปรตฺโต เพราะเว้นจากการบริโภคในกลางคืน. เมื่อเลยเที่ยงไปแล้วบริโภคจนถึงพระอาทิตย์ตก ชื่อว่า บริโภคผิดเวลา เพราะเว้นจากบริโภคผิดเวลานั้นชื่อว่า วิรโต วิกาลโภชนา งดเว้นการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล.

บทว่า ชาตรูปํ ได้แก่ ทอง. บทว่า รชตํ ได้แก่เงินที่ชาวโลก เขาเรียกกันว่า กหาปณะ โลหมาสก ชตุมาสก (มาสกยางไม้) ทารมาสก (มาสกไม้) เว้นจากการรับ ทองและเงิน แม้ทั้งสองนั้น อธิบายว่า ไม่รับเอง ไม่ให้ผู้อื่นรับ ไม่ยินดี ของที่เขาเก็บไว้.

บทว่า อามกธญฺปฏิคฺคหณา ได้แก่เว้น จากการรับข้าวดิบ ๗ อย่าง กล่าวคือ ข้าวสาลี ๑ ข้าวเปลือกจ้าว ๑ ข้าวเหนียว ๑ ข้าวละมาน ๑ ข้าวฟ่าง ๑ ข้าวลูกเดือย ๑ หญ้ากับแก้ ๑. ไม่ใช่แต่รับข้าวเหล่านั้นอย่างเดียว เท่านั้นไม่ควร แม้ลูบคลำก็ไม่ควรแก่ภิกษุทั้งหลายโดยแท้. ในบทว่า อามกมํส ปฏิคฺคหณา นี้ การรับเนื้อและปลาสดก็ไม่ควร ลูบคลำก็ไม่ควรแก่ภิกษุทั้งหลาย เว้นแต่ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้โดยเฉพาะ.

ในบทว่า อิตฺถีกุมาริกา ปฏคฺคหณา นี้ หญิงที่อยู่กับชาย ชื่อว่า อิตถี (นาง) หญิงนอกนั้นชื่อว่า กุมาริกา (นางสาว) การรับก็ดี การลูบคลำก็ดี ซึ่งหญิงเหล่านั้น เป็นอกัปปิยยะ (ไม่ควร). ในบทว่า ทาสีทาสปฏิคฺคหณา นี้

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 527

การรับคนเป็นทาสหญิง ทาสชาย ไม่ควร ก็แต่ว่าเมื่อยู่อย่างนี้ว่า เราถวายเป็นกัปปิยการก เราถวายเป็นคนวัด ดังนี้ ก็ควร.

แม้ในแพะและแกะเป็นต้น มีนาและสวนเป็นที่สุด ควรตรวจสอบที่เป็นกัปปิยะและอกัปปิยะโดยทางวินัย. ในข้อนั้น ปุพพัณณชาติ (ข้าว) งอกขึ้นในที่ใด ที่นั้นชื่อว่า นา อปรพัณณชาติ (ถั่วงา) งอกขึ้นในที่ใด ที่นั้นชื่อว่า สวน. อีกอย่างหนึ่ง ทั้งสองอย่าง งอกขึ้นในที่ใดที่นั้นชื่อว่า นา. พื้นที่ที่ยังมิได้ทำเพื่อประโยชน์แก่นานั้น ชื่อว่า ที่สวน. แม้บึงและหนอง เป็นต้น ท่านก็สงเคราะห์เข้าในบทนี้ ด้วยหัวข้อว่านาและสวน.

บทว่า กยวิกฺกยา ได้แก่ การซื้อและการขาย ทูตกรรมการทำเป็นทูต ได้แก่ การรับหนังสือ หรือข่าวของพวกคฤหัสถ์แล้วไปในที่นั้นๆ ท่านเรียกว่า ทูเตยยะ (ความเป็นทูต) การที่ภิกษุถูกคฤหัสถ์ส่งจากเรือนหลังหนึ่งสู่เรือนหลังหนึ่งเล็กๆ น้อยๆ ท่านเรียกว่า ปหิณคมนะ (รับใช้). ทำทั้งสองอย่างนั้นชื่อว่า อนุโยคะ (ประกอบเนืองๆ) เพราะฉะนั้น พึงทราบความในบทนี้อย่างนี้ว่า เว้นจากประกอบเนืองๆ ซึ่งการเป็นทูตและรับ ใช้คฤหัสถ์.

พึงทราบวินิจฉัยการโกงตาชั่งเป็นต้น การหลอกลวง ชื่อว่า โกง. ในการโกงนั้น การโกงตาชั่งมี ๔ อย่าง คือ โกงด้วยรูป ๑ โกงด้วยอวัยวะ ๑ โกงด้วยการจับ ๑ โกงด้วยการกำบัง ๑. ในการโกง ๔ อย่างนั้น เขาทำตาชั่งสองอันมีรูปเท่าๆ กัน เมื่อรับก็รับด้วยตาชั่งอันใหญ่ เมื่อให้ก็ให้ด้วยตาชั่งอันเล็ก ชื่อว่า โกงด้วยรูป. เมื่อรับก็ใช้มือกดตาชั่งข้างหลังไว้ เมื่อให้ก็ใช้มือกดคาชั่งข้างหน้าไว้ ชื่อว่าโกงด้วยอวัยวะ. เมื่อรับก็จับเชือกไว้ที่โคนตาชั่ง เมื่อให้ก็จับเชือกไว้ที่ปลายตาชั่ง ชื่อว่าโกงด้วยการจับ. ทำตราชั่งให้กลวง ใส่ผงเหล็กไว้ภายใน เมื่อรับก็เลื่อนผงเหล็กนั้นไปปลายตาชั่ง เมื่อให้ก็เลื่อนผงเล็กนั้นไว้หัวตาชั่ง ชื่อว่าโกงด้วยการกำบัง ถาดทองท่านเรียกว่า

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 528

กังสะ การหลอกลวงด้วยถาดทองนั้น ชื่อว่า กังสกูฏะ โกงด้วยสำริด. ถามว่าโกงอย่างไร. ตอบว่า ทำถาดทองไว้ใบหนึ่ง แล้วทำถาดโลหะอื่น ๒ - ๓ ใบ ให้มีสีเหมือนทอง จากนั้นเขาก็ไปสู่ชนบท เข้าไปสู่ตระกูลที่มั่งคั่งตระกูลหนึ่ง แล้วพูดว่า ท่านได้โปรดซื้อภาชนะทองเถิด เมื่อถามถึงราคา ประสงค์จะให้ราคาเท่าๆ กัน เมื่อผู้ซื้อถามว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าถาดเหล่านี้เป็นทอง ผู้หลอกลวงกล่าวว่าทดลองแล้วค่อยรับไป แล้วขูดถาดทองลงที่หิน ขายถาดทั้งหมดแล้วก็ไป.

การโกงด้วยเครื่องวัดมี ๓ อย่างคือ หทยเภท ทำลายด้วยรู ๑ สิขาเภท ทำลายยอด ๑ รัชชุเภท ทำลายด้วยเชือก ๑. ใน ๓ อย่างนั้น หทยเภทได้ในเวลาตวงเนยใสและน้ำมันเป็นต้น ด้วยว่า เมื่อรับของเหล่านั้น ใช้เครื่องวัด อันมีรูข้างล่าง บอกว่าให้ค่อยๆ เท แล้วให้ไหลลงในภาชนะของตนมากๆ แล้วรับเอาไป เมื่อให้ก็ปิดรูรีบทำให้เต็มแล้วให้. สิขาเภทได้ในเวลาตวงงาและ ข้าวสารเป็นต้น ด้วยว่าเมื่อรับของเหล่านั้นค่อยๆ ทำยอดให้สูง รับเอาไป เมื่อให้รีบทำให้เต็มแล้วปาดยอดเสียจึงให้. รัชชุเภทได้ในเวลาวัดนาและที่ดิน เป็นต้น ด้วยว่าเมื่อไม่ได้สินบน แม้นาไม่ใหญ่ ก็วัดให้ใหญ่ได้. พึงทราบวินิจฉัยในการฉ้อโกงเป็นต้น บทว่า ฉ้อโกง ได้แก่ รับสินบนเพื่อทำเจ้าของไม่ให้เป็นเจ้าของ. บทว่า วญฺจนํ ได้แก่การหลอกลวงผู้อื่นด้วยอุบายนั้นๆ. ในบททั้งสองนั้นมีเรื่องหนึ่งเป็นตัวอย่างดังนี้

ได้ยินว่า พรานคนหนึ่ง จันเนื้อและลูกเนื้อเดินมา. นักเลงคนหนึ่ง พูดกะพรานนั้นว่า พ่อพราน เนื้อราคาเท่าไร ลูกเนื้อราคาเท่าไร. เมื่อพราน บอกว่า พ่อเนื้อสองกหาปณะ ลูกเนื้อหนึ่งกหาปณะ. นักเลงจึงให้กหาปณะหนึ่งแล้วเอาลูกเนื้อไป ครั้นไปได้หน่อยหนึ่งก็กลับมาอีก พูดว่า พ่อพราน เราไม่ต้องการลูกเนื้อ จงให้พ่อเนื้อแก่เรา. พรานพูดว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจง

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 529

ให้เราสองกหาปณะ. นักเลงนั้น พูดว่า พ่อพราน. เราให้ไปหนึ่งกหาปณะ ก่อนแล้วมิใช่หรือ. พรานบอกว่า จริงท่านให้หนึ่งกหาปณะแล้ว. นักเลงพูดว่า นั่นกหาปณะหนึ่ง และลูกเนื้อนี้ก็มีราคาหนึ่งกหาปณะ เพราะฉะนั้นจึงรวมเป็นสองกหาปณะ. พรานเข้าใจว่า นักเลงพูดด้วยเหตุผล จึงรับลูกเนื้อคืนมา แล้วให้เนื้อไป.

บทว่า นิกติ ได้แก่หลอกลวงด้วยของเทียม คือ ทำสิ่งที่มิใช่สังวาล ให้เป็นสังวาล ทำสิ่งที่มิใช่แก้วมณี ให้เป็นแก้วมณี ทำสิ่งที่มิใช่ทอง ให้เป็นทอง โดยประกอบขึ้นหรือด้วยกลลวง. บทว่า สาวิโยโค ได้แก่ วิธีโกง คำนี้เป็นชื่อของการฉ้อโกงเป็นต้นเหล่านั้นแล. เพราะฉะนั้นพึงทราบความ ในบทนี้อย่างนี้ว่า วิธีโกงด้วยการฉ้อโกง การหลอกลวง วิธีโกงด้วยการทำของเทียม ดังนี้. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า การแสดงของอย่างหนึ่งแล้วเปลี่ยนเป็นของอีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า วิธีโกง. ก็บทนั้นสงเคราะห์ด้วยการหลอกลวง นั้นเอง.

พึงทราบวินิจฉัยในการตัดเป็นต้น. บทว่า เฉทนํ ได้แก่ การตัดมือ เป็นต้น. บทว่า วโธ ได้แก่ ทำให้ตาย. บทว่า พนฺโธ ได้แก่มัดด้วยเครื่องมัดคือเชือกเป็นต้น. บทว่า วิปราโมโส ได้แก่ การตีชิง สองอย่าง คือ หิมวิปราโมสะ บังหิมะตีชิง ๑ คุมพวิปราโมสะ บังพุ่มไม้ตีชิง ๑ ในคราวหิมะตก โจรทั้งหลายเอาหิมะกำบังตีชิงชนเดินทาง ชื่อว่า หิมวิปราโมสะ โจรทั้งหลายเอาพุ่มไม้เป็นต้นกำบังแล้วตีชิง ชื่อคุมพวิปราโมสะ วิธีโกงด้วยการปล้นชาวบ้านและชาวนิคมเป็นต้น ท่านเรียกว่า อาโลปะ (ปล้น). บทว่า สหสากาโร ได้แก่การทำอย่างรุนแรง. คือ การเข้าไปเรือนเอาศัสตราจ่ออกของพวกมนุษย์แล้วเก็บของที่ตนต้องการ. เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นเป็นผู้เว้นขาดจากการทำรุนแรง คือ ฟันแทง ฆ่า มัด ตีชิง ปล้น ด้วยประการฉะนี้แล.

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 530

บทว่า โส สนฺตุฏฺโ โหติ ได้แก่ ภิกษุนี้นั้นเป็นผู้ประกอบด้วยความสันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ๑๒ อย่างในปัจจัย ๔ ที่กล่าวไว้แล้วในหนหลัง. บริขาร ๘ คือ ไตรจีวร บาตร มีดเหลาไม้สีฟัน เข็ม ๑ เล่ม รัดประคต เครื่องกรองน้ำ ย่อมสมควรแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยสันโดษความยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ๑๒ อย่างนี้ ดังที่ท่านกล่าวไว้ ว่า

ติจีวรญฺจ ปตฺโต จ วาสิ สูจิ จ พนฺธนํ ปริสฺสาวเนน อฏฺเเต ยุตฺตโยคสฺส ภิกฺขุโน.

บริขาร ๘ เหล่านี้ คือ ไตรจีวร บาตร มีด เข็ม รัดประคต เครื่องกรองน้ำ สำหรับภิกษุผู้ประกอบความเพียร.

บริขารเหล่านั้นทั้งหมด เป็นเครื่องบริหารกายบ้าง บริหารท้องบ้าง. ถามว่า บริหารอย่างไร. ตอบว่า ก่อนอื่นไตรจีวรย่อมบริหารรักษากายในเวลาภิกษุนั่งและห่มแล้วจาริกไป เพราะฉะนั้น จึงเป็นเครื่องบริหารกาย. ไตรจีวรย่อมบริหารหล่อเลี้ยงท้องในเวลาเอาชายจีวรกรองน้ำดื่ม และในเวลาห่อของควรเคี้ยวและผลไม้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นเครื่องบริหารท้อง. แม้บาตร ก็เป็นเครื่องบริหารกาย ในเวลาเอาบาตรนั้นตักน้ำอาบ และในเวลาทำความสะอาดกุฎิ เป็นเครื่องบริหารท้องในเวลารับอาหารบริโภค. แม้มีดก็เป็นเครื่องบริหารกายในเวลาเอามีดนั้นเหลาไม้สีฟัน และในเวลาตกแต่งส่วนแห่งเท้าของเตียงและตั่ง และคันกลด เป็นเครื่องบริหารท้องในเวลาควั่นอ้อย และปอกมะพร้าวเป็นต้น. เข็มเป็นเครื่องบริหารกายในเวลาเย็บจีวร เป็นเครื่องบริหารท้องในเวลาจิ้มขนมหรือผลไม้เคี้ยวกิน. รัดประคตเป็นเครื่องบริหารกายในเวลารัดกายเที่ยวไป เป็นเครื่องบริหารท้องในเวลามัดอ้อยเป็นต้นแล้วหิ้วไป. เครื่องกรองน้ำ เป็นเครื่องบริหารกายในเวลาเอาเครื่องกรองน้ำ

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 531

นั้นกรองน้ำอาบ และในเวลาทำความสะอาดเสนาสนะ เป็นเครื่องบริหารท้องในเวลากรองน้ำดื่ม และในเวลาเถือเอางา ข้าวสาร และข้าวเม่าเป็นต้น ด้วย เครื่องกรองน้ำนั้นเคี้ยวกิน. นี้เป็นเพียงบริขารของภิกษุผู้มีบริขาร ๘ เท่านั้น. แต่สำหรับภิกษุผู้มีบริขาร ๙ ผู้เข้าไปยังที่นอน เครื่องลาดอันตั้งอยู่บนที่นอน นั้นหรือกุญแจ ย่อมควร. สำหรับภิกษุผู้มีบริขาร ๑๐ ที่นั่งหรือแผ่นหนัง ย่อมควร. สำหรับภิกษุผู้มีบริขาร ๑๑ ไม้เท้า หรือขวดน้ำมัน ย่อมควร. สำหรับ ภิกษุผู้มีบริขาร ๑๒ ร่ม หรือรองเท้า ย่อมควร. บรรดาภิกษุผู้มีบริขารเหล่านี้ ภิกษุผู้มีบริขาร ๘ เท่านั้นเป็นผู้สันโดษ. ไม่ควรว่า ภิกษุนอกนั้นว่าเป็นผู้ไม่สันโดษ เป็นผู้มักมากอยากใหญ่. แม้ภิกษุเหล่านี้ ก็เป็นผู้มักน้อย สันโดษ เลี้ยงง่าย มีความประพฤติเบา. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสพระสูตรนี้ โดยหมายเอาภิกษุเหล่านั้น. ตรัสโดยหมายเอาภิกษุผู้มีบริขาร ๘. จริงอยู่ ภิกษุผู้มีบริขาร ๘ นั้น ใส่มีดเล็กและเข็มลงในหม้อกรองน้ำแล้ววางไว้ในบาตร คล้องบาตรที่บ่า กระทำจีวรให้กระชับกาย หลีกไปหาความสุขตามปรารถนา. ชื่อว่า ภิกษุนั้นจะกลับมาถือเอาอะไรอีกเป็นไม่มี ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงว่า ภิกษุนี้เป็นผู้มีความประพฤติเบา จึงตรัสว่า สนฺตุฏฺโ โหติ กายปริหารเกน จีวเรน ภิกษุเป็นผู้สันโดษ ด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกายเป็นต้น.

ในบทเหล่านั้น บทว่า กายปริหาริเกน ได้แก่ เป็นเพียงเครื่องบริหารกาย. บทว่า กุจฺฉิปริหาริเกน ได้แก่ เป็นเพียงเครื่องบริหารท้อง. บทว่า สมาทาเยว ปกฺกมติ ความว่า ภิกษุถือเอาบริขารนั้นทั้งหมดเพียง ๘ อย่าง ติดไปกับกาย. ภิกษุนั้นมิได้มีความเกี่ยวข้องผูกพันว่า วิหารของเรา บริเวณของเรา อุปฐากของเรา ดังนี้. ภิกษุนั้น ใช้สอยเสนาสนะ ไพรสณฑ์ โคนไม้ ป่า เงื้อมภูเขา ที่ตนปรารถนาแล้วๆ ดุจลูกศรพ้นจากสายธนู ดุจ

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 532

ช้างซับมันหลีกออกจากโขลง ฉะนั้น ยืนรูปเดียว นั่งรูปเดียว รูปเดียวทุกอิริยาบถไม่มีเพื่อน ถึงความเป็นดุจนอแรด ที่ท่านพรรณนาไว้อย่างนี้ว่า

ภิกษุผู้สันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้ เที่ยวไปทั้ง ๔ ทิศ ไม่กระทบกระทั่ง อดทนต่ออันตราย ไม่หวั่นสะดุ้ง เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงสาธกเนื้อความนั้น ด้วยข้ออุปมา จึงตรัสคำเป็นอาทิว่า เสยฺยถาปิ ดังนี้. ในบทเหล่านั้น บทว่า ปกฺขี สกุโณ ได้แก่ นกมีปีก. บทว่า เฑติ แปลว่า บินไป. ความย่อในเรื่องนี้มีดังนี้ ธรรมดานกทั้งหลาย รู้ว่าถิ่นโน้นมีต้นไม้ มีผลสุก จึงพากันมาจากทิศต่างๆ เอาเล็บ ปีก และจะงอยปากเป็นต้น แทง จิก กิน ผลไม้ของต้นไม้นั้น นกเหล่านั้นมิได้คิดว่า ผลไม้นี้สำหรับวันนี้ ผลนี้สำหรับพรุ่งนี้ ก็เมื่อผลไม้หมด นกทั้งหลายมิได้วางการป้องกันรักษาต้นไม้ มิได้วางปีก ขน เล็บ หรือ จะงอยปากไว้ที่ต้นไม้นั้น ไม่ห่วงใยต้นไม้นั้น ปรารถนาจะไปทิศใด ก็มีภาระคือปีกเท่านั้น บินไปทางทิศนั้น ภิกษุนี้ก็เหมือนกัน หมดความข้อง หมดความห่วงใย หลีกไป คือ ถือเอาเพียงบริวาร ๘ แล้วก็หลีกไป.

บทว่า อริเยน ได้แก่ ไม่มีโทษ. บทว่า อชฺฌตฺตํ ได้แก่ ในอัตภาพของตน. บทว่า อนวชฺชสุขํ ได้แก่ ความสุขอันไม่มีโทษ. บทว่า โส จกฺขุนา รูปํ ทิสฺวา ความว่า ภิกษุนั้นผู้ประกอบแล้วด้วยสีลขันธ์อันเป็นอริยะนี้ เพราะเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ. แม้ในบทที่เหลือคำที่ควรกล่าว ก็ได้กล่าวไว้หมดแล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรค. บทว่า อพฺยาเสกสุขํ ได้แก่ ความสุขที่ไม่ชุ่มด้วยกิเลส. ท่านกล่าวว่า อวิกิณฺณสุขํ ดังนี้บ้าง. ด้วยว่า สุขเกิดจาก

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 533

อินทรีสังวร ชื่อว่า เป็นความสุขที่ไม่วุ่นวาย เพราะเป็นไปเพียงสักว่าเห็น เป็นต้น ในอารมณ์มีรูปที่ตนเห็นเป็นอาทิเท่านั้น.

บทว่า โส อภิกฺกนฺเต ปฏิกฺกนฺเต ความว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยความสำรวมอินทรีย์ อันมีใจเป็นที่หก ย่อมเป็นผู้ทำความรู้ตัวด้วยสติสัมปชัญญะในฐานะ ๗ มีก้าวไป และถอยกลับเป็นต้น. ในบทเหล่านั้น บทว่า อภิกฺกนฺตํ ได้แก่ เดินไปข้างหน้า. บทว่า ปฏิกฺกนฺตํ ได้แก่ ถอยกลับ บทว่า สมฺปชานการี โหติ ความว่า ภิกษุเข้าไปตั้งสติไว้ด้วยสามารถสัมปชัญญะ อันสัมปยุตด้วยสติ ๔ เหล่านี้ คือ สาตถกสัมปชัญญะ (ความรู้ตัวในกิจที่เป็นประโยชน์แก่ตน) สัปปายสัมปชัญญะ (ความรู้ตัวในปัจจัยที่สบาย) โคจรสัมปชัญญะ (ความรู้ตัวในธรรมเป็นโคจร) อสัมโมหสัมปชัญญะ (ความรู้ตัวในความไม่หลงงมงาย) แล้วกำหนดด้วยญาณ กระทำการก้าวไปและถอยกลับเหล่านั้น แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน. นี้เป็นความย่อในที่นี้ ส่วนความพิสดารผู้ปรารถนาพึงดูได้จากอรรถกถาสามัญญผลสูตรในทีฆนิกาย หรือจากอรรถกถาสติปัฏฐานสูตร ในมัชฌิมนิกาย.

ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอะไรด้วยบทเป็นอาทิว่า โส อิมินา จ ดังนี้. ตอบว่า ทรงแสดงถึงปัจจัยสมบัติของภิกษุผู้อยู่ป่า. ด้วยว่า ปัจจัย ๔ เหล่านี้ ไม่มีแก่ภิกษุใด การอยู่ป่าของภิกษุนั้นย่อมไม่สำเร็จ ภิกษุนั้นน่าจะต้องถูกกล่าวด้วยสัตว์เดียรัจฉาน หรือพวกพราน. เทวดาที่สิงอยู่ในป่า จะพากันส่งเสียงอันน่ากลัวว่า ประโยชน์อะไรด้วยการอยู่ในป่าของภิกษุลามก เห็นปานนี้ ดังนี้ แล้วเขกศีรษะไล่ให้หนีไป. ความไม่มีเกียรติยศก็จะแพร่ออกไปว่า ภิกษุรูปโน้นเข้าไปป่า ได้กระทำกรรมอันลามกอย่างนี้ๆ.

ก็ปัจจัย ๔ เหล่านี้มีอยู่แก่ภิกษุใด การอยู่ป่าของภิกษุนั้นย่อมสำเร็จ. ด้วยว่าภิกษุนั้นพิจารณาศีลของคนเมื่อไม่เห็นจุดดำ หรือตกกระไรๆ เกิดปีติ

 
  ข้อความที่ 24  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 534

เมื่อเห็นปีตินั้นโดยความสิ้น โดยความเสื่อม ย่อมหยั่งลงสู่อริยภูมิ. เหล่าเทวดาที่สิงอยู่ในป่ามีใจเป็นของตนก็พากันสรรเสริญ เกียรติยศของภิกษุนั้น ย่อม แพร่ออกไปดุจหยาดน้ำมันที่เขาใส่ลงในน้ำ ด้วยประการฉะนี้.

บทว่า วิวิตฺตํ ได้แก่ ป่ามีเสียงน้อย. อธิบายว่า มีเสียงอึกทึกน้อย. ในวิภังค์หมายถึง เสียงอึกทึกน้อยนั้น จึงกล่าวไว้ว่า บทว่า วิวิตฺตํ ความว่า แม้หากว่าเสนาสนะอยู่ใกล้กัน แต่เสนาสนะนั้นไม่วุ่นวายด้วยคฤหัสถ์บรรพชิต ด้วยเหตุนั้น เสนาสนะนั้นจึงชื่อว่าสงัด. ชื่อเสนาสนะเพราะเป็นที่นอนและที่นั่ง. คำนี้เป็นชื่อของเตียงและตั่งเป็นต้น. ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า บทว่า เสนาสนํ ได้แก่ เตียงบ้าง ที่นอนที่นั่งบ้าง ตั่งบ้าง ฟูกบ้าง หมอนบ้าง วิหารบ้าง เรือนมุงด้านเดียวบ้าง ปราสาทบ้าง ปราสาทโล้นบ้าง ถ้าบ้าง ป้อมบ้าง เรือนยอดบ้าง ที่เร้นบ้าง กอไผ่บ้าง โคนไม้บ้าง มณฑปบ้าง ก็หรือว่าภิกษุทั้งหลายหลีกออกไปในที่ใด ที่ทั้งหมดนั้นชื่อว่า เสนาสนะ. อีกอย่างหนึ่ง เสนาสนะนี้คือ วิหาร เรือนมุงด้านเดียว ปราสาท ปราสาทโล้น ถ้ำ ชื่อเสนาสนะคือวิหาร. เสนาสนะนี้คือ เตียง ตั่ง ฟูก หมอน ชื่อว่าเสนาสนะ คือเตียงตั่ง. เสนาสนะนี้ คือ แผ่นหนังทำปลอกหมอน เครื่องลาดด้วยหญ้า เครื่องลาดด้วยใบไม้ ชื่อว่า เสนาสนะคือสันถัต. บทว่า ยตฺถ วา ปน ภิกฺขู ปฏิกฺกมนฺติ ก็หรือว่า ภิกษุทั้งหลายหลีกออกไปในที่ใดนี้ ชื่อว่า เสนาสนะ คือโอกาส เสนาสนะมี ๔ อย่าง ด้วยประการฉะนี้. แม้เสนาสนะนั้น ท่านใช้ศัพท์ว่า เสนาสนะเหมือนกันหมด.

ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงถึงเสนาสนะอันสมควรแก่ภิกษุ ผู้จาริกไปในทิศทั้ง ๔ เช่นกับนกนี้ จึงตรัส ว่า อรญฺํ รุกฺขมูลํ เป็นอาทิ. ในบทเหล่านั้น บทว่า อรฺํ ได้แก่ ที่ๆ ออกไปภายนอกเสาเขื่อนทั้งหมด. บทว่า อรญฺํ นี้จัดว่าป่าที่มาเพราะอำนาจภิกษุณี. (บทบัญญัติของภิกษุณี

 
  ข้อความที่ 25  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 535

ห้ามไม่ให้อยู่ป่า) ชื่อว่าเสนาสนะป่า ได้แก่ เสนาสนะที่กำหนดไว้ ชั่ว ๕๐๐ ลูกธนู. เพราะฉะนั้น เสนาสนะนี้จึงสมควรแก่ภิกษุนี้. ลักษณะของเสนาสนะ นั้น กล่าวไว้แล้วในธุตังคนิเทศคัมภีร์วิสุทธิมรรค.

บทว่า รุกฺขมูลํ ได้แก่ โคนไม้ที่สงัดมีเงาทึบแห่งใดแห่งหนึ่ง บทว่า ปพฺพตํ ได้แก่ ภูเขาศิลา. จริงอยู่ในที่นั้น ภิกษุอาบน้ำที่แอ่งน้ำ แล้วนั่งใต้เงาไม้อันเย็นเมื่อทิศต่างๆ ปรากฏอยู่ ถูกลมเย็นโชยมา จิตก็มีอารมณ์เป็นหนึ่ง. บทว่า กนฺทรํ ความว่า น้ำ ท่านเรียกว่า กํ เอกเทศแห่งภูเขาที่ถูกน้ำเซาะพังเพราะน้ำ ที่เขาเรียกว่านิตัมพะไหล่เขาบ้าง นทีกุญชะ ท้องเขาบ้าง. ก็ในที่นั้นมีทรายสีคล้ายแผ่นเงิน. น้ำคล้ายก้อนแก้วมณีไหลไป เบื้องบนป่าชัฏ เหมือนเพดานแก้วมณี ภิกษุลงไปสู่แอ่งน้ำ เห็นปานนี้ ดื่มน้ำ เอาน้ำลูบตัวให้เย็น พูนทรายขึ้นแล้วปูผ้าบังสุกุลจีวร นั่งบำเพ็ญสมณธรรม จิตก็มีอารมณ์เป็นหนึ่ง. บทว่า คิริคุหํ ได้แก่ ระหว่างภูเขาสองลูก หรือ ช่องใหญ่คล้ายอุโมงค์ในภูเขาลูกหนึ่ง ลักษณะป่าช้า กล่าวไว้แล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรค. บทว่า วนปตฺถํ ได้แก่ ที่อันเลยอุปจาระของพวกมนุษย์ ซึ่ง เขาไม่ไถ ไม่หว่าน. ด้วยเหตุนั้นแล ท่านจึงกล่าวคำเป็นอาทิว่า คำว่า วนปตฺถํ นี้เป็นชื่อของเสนาสนะที่อยู่ไกล. บทว่า อพฺโภกาสํ ได้แก่ ที่ไม่ได้มุงบังไว้. ก็ภิกษุเมื่อหวังก็ทำกลดในที่นี้แล้วอยู่ได้. บทว่า ปลาลปุญฺชํ ได้แก่ ลอมฟาง. จริงอยู่ ภิกษุทั้งหลายชักฟางมาจากลอมฟางใหญ่แล้วทำให้เป็นที่อยู่คล้ายที่เร้นในเงื้อมเขา ใส่ฟางไว้ข้างบนกอไม้ พุ่มไม้เป็นต้น แล้วนั่งภายใต้บำเพ็ญสมณธรรม. ท่านกล่าวคำนี้หมายถึงลอมฟางนั้น.

บทว่า ปจฺฉาภตฺตํ ได้แก่ ภายหลังภัตร (อาหาร). บทว่า ปิณฺฑปาตปฏิกฺกนฺโต ได้แก่ กลับจากการแสวงหาบิณฑบาต. บทว่า ปลฺลงฺกํ ได้แก่ นั่งขดขาโดยรอบ (นั่งขัดสมาธิ). บทว่า อาภุชิตฺวา

 
  ข้อความที่ 26  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 536

ได้แก่ ขด. บทว่า อุชุํ กายํ ปณิธาย ได้แก่ ตั้งสรีระเบื้องบนให้ตรง ให้ปลายกับปลายกระดูกสันหลัง ๑๘ ข้อจดเรียงกัน เมื่อนั่งอย่างนี้หนังเนื้อ และเอ็นก็ไม่ค้อม เมื่อเป็นเช่นนั้น เวทนาเหล่าใดอันมีความค้อมเป็นปัจจัย จึงเกิดขึ้นทุกขณะแก่ภิกษุเหล่านั้น เวทนานั้นก็จะไม่เกิดขึ้น เมื่อเวทนาเหล่านั้นไม่เกิด จิตก็ย่อมมีอารมณ์เป็นหนึ่ง กรรมฐานก็ไม่ตก มีแต่เจริญงอกงาม.

บทว่า ปริมุขํ สติ อุปฏเปตฺวา ความว่า ตั้งสติอันมีหน้าเฉพาะต่อกรรมฐาน หรือกระทำไว้ใกล้หน้า. ด้วยเหตุนั้นแล ท่านจึงกล่าวไว้ในวิภังค์ว่า สตินี้เป็นอันเข้าไปทั้งไว้แล้ว เข้าไปตั้งไว้แล้วด้วยดี ที่ปลายจมูกหรือ ที่มุขนิมิตใกล้หน้า ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปริมุขํ สตึ อุปฏเปตฺวา (เข้าไปจั้งสติไว้เฉพาะหน้า) ดังนี้. อีกนัยหนึ่ง ศัพท์ ปริ มีอรรถว่า กำหนด. ศัพท์ว่า มุขํ มีอรรถว่า นำออกไป. บทว่า สติ มีอรรถว่า เข้าไปตั้งไว้. ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปริมุขํ สตึ ดังนี้ พึงทราบความในบทนี้โดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในปฏิสัมภิทา ด้วยประการฉะนี้. ความย่อในปฏิสัมภิทานั้นว่า การทำสติอันกำหนดไว้และนำออกไป.

ในบทว่า อภิชฺฌํ โลเก นี้ อุปาทานขันธ์ ๕ ชื่อว่าโลก เพราะอรรถว่าชำรุดทรุดโทรมไป. เพราะฉะนั้น พึงเห็นความในบทนี้อย่างนี้ว่า ละราคะ ข่มกามฉันทะในอุปาทานขันธ์ ๕ ดังนี้. บทว่า วิคตาภิชฺเฌน ความว่า มีใจ ชื่อว่าปราศจากอภิชฌา เพราะละได้ด้วยการข่มไว้มิใช่มีใจ เช่นกับจักขุวิญญาณ. บทว่า อภิชฺฌาย จิตฺตํ ปริโสเธติ ได้แก่ ชำระจิตให้หมดจดจากอภิชฌา. อธิบายว่า ภิกษุกระทำโดยประการที่อภิชฌาปล่อยจิตนั้นแล้วจะไม่กลับมาเกาะจิตอีก. แม้ในบทว่า พฺยาปาทปฺปโทสํ ปหาย เป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน. ชื่อว่า พยาบาทเพราะเบียดเบียน คือจิต ต้องละ

 
  ข้อความที่ 27  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 537

ปกติที่เคยมีมาในก่อนด้วยพยาบาทนี้ดุจขนมบูดเป็นต้น. ชื่อโทสะ เพราะย่อมประทุษร้ายเอง หรือให้ผู้อื่นประทุษร้าย คือให้พินาศโดยให้ถึงความพิการ. ทั้งสองนี้เป็นชื่อของความโกรธนั้นแล.

ความป่วยทางจิต ชื่อว่า ถีนะ ความป่วยทางเจตสิกชื่อว่า มิทธะ ถีนะความง่วงเหงาและมิทธะความหาวนอน ชื่อว่า ถีนมิทธะ. บทว่า อาโลกสญฺี ความว่า ภิกษุประกอบด้วยสัญญาอันบริสุทธิ์ปราศจากนิวรณ์ สามารถจำหมายแสงสว่างที่เห็นทั้งกลางคืนทั้งกลางวัน. บทว่า สโต สมฺปชาโน ได้แก่ ประกอบด้วยสติและญาณ. ท่านกล่าวไว้ทั้งสองนี้ก็เพราะเป็นธรรมอุปการะแก่อาโลกสัญญา. ความฟุ้งซ่าน และความรำคาญ ชื่อว่า อุทธัจจกุกกุจจะ.

บทว่า ติณฺณวิจิกิจฺโฉ ได้แก่ ข้าม คือล่วงวิจิกิจฉาได้. ชื่อว่า อกถํกถี (ไม่มีความสงสัย) เพราะไม่มีความสำคัญหมายว่านี้อย่างไร. บทว่า กุสเลสุ ธมฺเมสุ ได้แก่ ในธรรมอันไม่มีโทษ. อธิบายว่า ไม่สงสัย คือ ไม่แคลงใจอย่างนี้ว่า ธรรมเหล่านี้ไม่เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลอย่างไร. นี้เป็นความสังเขปในบทนี้. ก็ในนิวรณ์เหล่านี้ คำที่ควรกล่าวโดยต่างแห่งถ้อยคำ ความ และลักษณะเป็นต้น ก็กล่าวไว้หมดแล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.

บทว่า ปญฺาย ทุพฺพลีกรเณ ความว่า เพราะเหตุที่นิวรณ์ ๕ เหล่านี้เมื่อเกิด ย่อมไม่ให้เกิดปัญญาอันเป็นโลกิยะและโลกุตระซึ่งยังไม่เกิดขึ้น แม้เกิดขึ้นแล้วก็กำจัดสมาบัติ ๘ หรืออภิญญา ๕ํ ให้ตกไป ฉะนั้น จึงตรัสว่า ปญฺาย ทุพฺพลีกรณา (ทำปัญญาให้หมกกำลัง) ดังนี้. บททั้งหลายมี อาทิว่า วิวิจฺเจว กเมหิ กล่าวไว้พิสดารแล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.

บทเป็นต้นว่า อิเม อาสวา ตรัสเพื่อประกาศสัจจะสี่โดยปริยายอื่นอีก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความที่ลัทธิภายนอกไม่มีผล ด้วยองค์ ๓

 
  ข้อความที่ 28  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 538

ในภายหลังแล้ว ทรงประกาศความที่คำสอนของพระองค์ลึกซึ้งด้วยองค์ที่ ๔ ทรงจบเทศนาด้วยยอดธรรมคือพระอรหัต ด้วยบทเพียงเท่านี้ว่า นาปรํ อิตฺถตฺตายาติ ปชานาติ ดังนี้ บัดนี้ เมื่อจะทรงกระชับพระเทศนาให้หนักแน่น จึงตรัสคำเป็นอาทิว่า เอวํ โข ภิกฺขเว ดังนี้

จบอรรถกถาอัตตันตปสูตรที่ ๘