พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. ปสาทสูตร ว่าด้วยความเลื่อมใสในวัตถุเลิศ ๔ ประการ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 ต.ค. 2564
หมายเลข  38824
อ่าน  282

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 129

ปฐมปัณณาสก์

จักกวรรคที่ ๔

๔. ปสาทสูตร

ว่าด้วยความเลื่อมใสในวัตถุเลิศ ๔ ประการ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 129

๔. ปสาทสูตร

ว่าด้วยความเลื่อมใสในวัตถุเลิศ ๔ ประการ

[๓๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเลื่อมใสในวัตถุอันเลิศ ๔ ประการนี้ ความเลื่อมใสในวัตถุอันเลิศ ๔ ประการเป็นไฉน คือ

๑. สัตว์ทั้งหลาย เป็นอบท (ไม่มีเท้า) ก็ดี ทวิบท (๒ เท้า) ก็ดี จตุรบท (เท้า) ก็ดี พหุบท (เท้ามาก) ก็ดี เป็นผู้มีรูปก็ดี ไม่มีรูปก็ดี เป็นผู้มีสัญญาก็ดี ไม่มีสัญญาก็ดี เป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ก็ดี ประมาณเท่าใด พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ปราชญ์กล่าวว่าเป็น ยอดแห่งสัตว์ทั้งปวงนั้น สัตว์เหล่าใดเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า สัตว์เหล่านั้น จึงชื่อว่าเลื่อมใสในวัตถุอันเลิศ เมื่อเลื่อมใสในวัตถุอันเลิศ ก็ย่อมได้ผลอันเลิศ.

๒. ธรรมทั้งหลาย ที่เป็นสังขตะมีประมาณเท่าใด อริยมรรคมี องค์ ๘ ปราชญ์กล่าวว่าเป็นยอดแห่งธรรมทั้งปวงนั้น สัตว์เหล่าใดเลื่อมใสในอริยมรรคมีองค์ ๘ สัตว์เหล่านั้นจึงชื่อว่าเลื่อมใสในวัตถุอันเลิศ เมื่อเลื่อมใสในวัตถุอันเลิศ ก็ย่อมได้ผลอันเลิศ.

๓. ธรรมทั้งหลาย ทั้งที่เป็นสังขตะ ทั้งที่เป็นอสังขตะ มีประมาณเท่าใด วิราคะ ปราชญ์กล่าวว่าเป็นยอดแห่งธรรมทั้งปวงนั้น วิราคะ คืออะไร คือ ธรรมเป็นที่ยังความเมาให้สร่าง เป็นที่รำงับเสียสิ้นซึ่งความกระหาย เป็นที่ถอนขึ้นหมดซึ่งอาลัย เป็นที่เข้าไปตัดเสียซึ่งวัฏฏะ เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่ปราศจากกำหนัด เป็นที่ดับทุกข์ คือ นิพพาน สัตว์เหล่าใดเลื่อมใสในวิราคธรรม สัตว์เหล่านั้น จึงชื่อว่าเลื่อมใสในวัตถุอันเลิศ เมื่อเลื่อมใสในวัตถุ อันเลิศ ก็ย่อมได้ผลอันเลิศ.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 130

๔. สงฆ์ทั้งหลายก็ดี คณะทั้งหลายก็ดี มีประมาณเท่าใด สงฆ์สาวกของตถาคต ปราชญ์กล่าวว่าเป็นยอดแห่งสงฆ์แห่งคณะทั้งปวงนั้น สงฆ์สาวกของตถาคตคือใคร คือคู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี่สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ควรของคำนับ ผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรของทำบุญ ผู้ควรทำอัญชลี ผู้เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า สัตว์เหล่าใดเลื่อมใสในพระสงฆ์ สัตว์เหล่านั้น จึงชื่อว่าเลื่อมใสในวัตถุอันเลิศ เมื่อเลื่อมใสในวัตถุอันเลิศ ก็ย่อมได้ผลอันเลิศ.

ภิกษุทั้งหลาย นี้แลความเลื่อมใสในวัตถุอันเลิศ ๔ ประการ.

เมื่อบุคคลเลื่อมใสโดยความเป็นวัตถุเลิศ รู้ซึ่งธรรมอันเลิศ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ ผู้เป็นทักษิไณย ไม่มีใครยิ่งกว่า เลื่อมใสในพระธรรมอันเลิศอันเป็นที่สิ้นราคะเป็นที่สงบเป็นสุข เลื่อมใสในพระสงฆ์ผู้เลิศ ผู้เป็นนาบุญไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ให้ทานในท่านผู้เลิศ บุญอันเลิศ ย่อมเจริญมาก อายุ วรรณะ ยศ เกียรติ สุข และพละอันเลิศก็ย่อมเจริญมาก ผู้มีปัญญา เป็นผู้ให้ของที่เลิศ มั่นคงอยู่ในธรรมอันเลิศแล้ว ผู้นั้นจะเป็นเทวดาหรือเป็นมนุษย์ก็ย่อมได้รับฐานะอันเลิศบันเทิงใจ.

จบปสาทสูตรที่ ๔

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 131

อรรถกถาปสาทสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปสาทสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-

ชื่ออัคคัปปสาทะเพราะอรรถว่าเลื่อมใสในวัตถุอันเลิศ หรือความเลื่อมใสอันเลิศ. บทว่า ยาวตา คือ ประมาณเท่าใด. บทว่า อปทา ได้แก่ พวกสัตว์ไม่มีเท้ามีงูและปลาเป็นต้น. บทว่า ทฺวิปทา ได้แก่ พวกสัตว์ ๒ เท้ามีมนุษย์และนกเป็นต้น. บทว่า จตุปฺปทา ได้แก่ สัตว์ ๔ เท้ามีช้าง และม้าเป็นต้น. บทว่า พหุปฺปทา ได้แก่ พวกสัตว์เท้ามากมีตะขาบเป็นต้น. บทว่า เนวสญฺีนาสญฺิโน ได้แก่ พวกสัตว์ที่เกิดในภวัคคพรหม. บทว่า อคฺคมกฺขายติ ความว่า พระตถาคตปราชญ์กล่าวว่า เป็นยอด คือประเสริฐสูงสุด โดยคุณทั้งหลาย. บทว่า อสงฺขตา ความว่า ท่านกล่าวถือเอาพระนิพพานเท่านั้น. บทเป็นอาทิว่า วิราโค เป็นชื่อของพระนิพพานแท้. เพราะว่า มาถึงพระนิพพานนั้นแล้ว กิเลสทั้งหลายก็คลายไปหมด ความเมาทั้งหลาย มีความเมาเพราะราคะเป็นต้น ก็หายเมาไปหมด คือ ไม่มี ความกระหายทั้งหลายก็หายไปหมด อาลัยทั้งหลายก็เพิกถอนไปหมด วัฏฏะทั้งหลายก็ขาด ตัณหาก็สิ้น วัฏฏทุกข์ก็ดับ ความเร่าร้อนทั้งปวง ก็ดับไป เพราะฉะนั้น นิพพาน จึงได้ชื่อเหล่านั้น. บทที่เหลือในสูตรนี้ ง่ายทั้งนั้นแล.

จบอรรถกถาปสาทสูตรที่ ๔