พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. วัสสการสูตร ว่าด้วยบุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ เป็นมหาบุรุษ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 ต.ค. 2564
หมายเลข  38825
อ่าน  280

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 132

ปฐมปัณณาสก์

จักกวรรคที่ ๔

๕. วัสสการสูตร

ว่าด้วยบุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ เป็นมหาบุรุษ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 132

๕. วัสสการสูตร

ว่าด้วยบุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ เป็นมหาบุรุษ

[๓๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ วิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พราหมณ์ชื่อวัสสการะ เป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่แห่งประเทศมคธ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นไปถึงแล้ว ก็ชื่นชมกับพระผู้มีพระภาคเจ้า กล่าวถ้อยคำที่ทำให้เกิดความยินดีต่อกัน เป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่งลง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายบัญญัติบุคคลที่ประกอบพร้อมด้วยธรรม ๔ ประการ ว่าเป็นมหาปราชญ์ มหาบุรุษ ธรรม ๔ ประการ คืออะไร คือ

๑. บุคคลเป็นพหูสูต (ได้สดับมาก คือเรียนมาก)

๒. รู้ความแห่งข้อที่ได้ฟังแล้วนั้นๆ แห่งภาษิตนั้นๆ ว่า นี่เป็น ความแห่งภาษิตนี้ นี่เป็นความแห่งภาษิตนี้

๓. เป็นผู้มีสติ ระลึกสืบสาวการที่ทำคำที่พูดแล้วแม้นานๆ ได้

๔. กิจการเหล่าใดเป็นของคฤหัสถ์จะต้องจัดต้องทำ เป็นผู้ฉลาด ไม่เกียจคร้านในกิจการเหล่านั้น ประกอบด้วยปัญญาพิจารณาสอบสวน อันเป็นอุบาย (คือวิธีที่จะให้กิจการอันนั้นสำเร็จด้วยดี) สามารถที่จะทำเอง สามารถที่จะจัดการ ในกิจการเหล่านั้น

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายบัญญัติบุคคลที่ประกอบพร้อมด้วยธรรม ๔ ประการเหล่านี้แลว่า เป็นมหาปราชญ์ มหาบุรุษ ถ้าควรทรงอนุโมทนา ก็ขอจงทรงอนุโมทนา ถ้าควรทรงคัดค้าน ก็ขอจงทรง คัดค้านเถิด.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 133

พ. ตรัสตอบว่า พราหมณ์ เราไม่อนุโมทนา เราไม่คัดค้าน เราบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการว่า เป็นมหาปราชญ์ มหาบุรุษ ธรรม ๔ ประการคืออะไร คือ

๑. บุคคลเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่คนมาก เพื่อความสุขของคนมาก ยังประชุมชนเป็นอันมากให้ตั้งอยู่ในญายธรรมอันประเสริฐคือกัลยาณธัมมตา (ความมีธรรมอันงาม) กุสลธัมมตา (ความมีธรรมเป็นกุศล)

๒. บุคคลนั้นจำนงจะตรึกเรื่องใด ก็ตรึกเรื่องนั้นได้ ไม่จำนงจะตรึกเรื่องใด ก็ไม่ตรึกเรื่องนั้นได้ จำนงจะดำริข้อใด ก็ดำริข้อนั้นได้ ไม่จำนงจะดำริข้อใด ก็ไม่ดำริข้อนั้นได้ เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ได้เจโตวสี (ความมีอำนาจทางใจ) ในทางแห่งความตรึกทั้งหลาย

๓. เป็นผู้ได้ตามต้องการ ได้ไม่ยาก ได้ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันเป็นธรรมเป็นไปในจิตอันยิ่ง เป็นธรรมเครื่องพักผ่อนอยู่สบายในอัตภาพปัจจุบันนี่

๔. บุคคลกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง สำเร็จอยู่ในปัจจุบันนี่

พราหมณ์ เราไม่อนุโมทนา เราไม่คัดค้านภาษิตของท่าน เราบัญญัติ บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเหล่านี้แลว่า เป็นมหาปราชญ์ มหาบุรุษ.

ว. น่าอัศจรรย์ พระโคดมผู้เจริญ ไม่เคยมี พระโคดมผู้เจริญ ตามที่พระองค์ตรัสนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจะจำไว้ว่า พระองค์ประกอบพร้อมด้วยธรรม ๔ ประการนี้ (๑) พระองค์เป็นผู้ทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่คนมาก เพื่อความสุขของคนมาก ยังประชุมชนเป็นอันมากให้ตั้งอยู่ในญายธรรมอันประเสริฐ คือ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 134

กัลยาณธัมมตา (ความมีธรรมอันงาม) กุสลธัมมตา (ความมีธรรมเป็นกุศล) (๒) พระองค์ทรงจำนงจะตรึกเรื่องใด ก็ทรงตรึกเรื่องนั้นได้ ไม่ทรงจำนง จะตรึกเรื่องใด ก็ไม่ทรงตรึกเรื่องนั้นได้ ทรงจำนงจะดำริข้อใด ก็ทรงดำริข้อนั้นได้ ไม่ทรงจำนงจะดำริข้อใด ก็ไม่ทรงดำริข้อนั้นได้ เพราะพระองค์ ทรงมีเจโตวสีในทางแห่งความตรึกทั้งหลาย (๓) พระองค์ทรงได้ตามต้องการ ได้ไม่ยาก ได้ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันเป็นธรรมเป็นไปในจิตอันยิ่ง เป็นธรรมเครื่องพักผ่อนอยู่สบายในอัตภาพปัจจุบัน (๔) พระองค์ทรงกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยพระปัญญาอันยิ่งด้วยพระองค์เอง สำเร็จอยู่ในปัจจุบันนี่.

พ. พราหมณ์ ถ้อยคำพาดพิงถึงเรา ท่านกล่าวถูกต้องแล้ว เออ เราจักพยากรณ์แก่ท่านเสียทีเดียวว่า เราแหละ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่คนมาก เพื่อความสุขของคนมาก ฯลฯ สำเร็จอยู่ในปัจจุบันนี่.

ท่านผู้ใดรู้ทางรอดพ้นจากบ่วงมฤตยูแห่งสัตว์ทั้งปวง ปฏิบัติเกื้อกูลแก่เทวดา มนุษย์ทั้งหลาย ประกาศไญยธรรม อนึ่ง คนจำนวนมากเห็นท่านผู้ใด และได้ฟังธรรม ของท่านผู้ใดแล้ว เกิดความเลื่อมใส ท่านผู้นั้นได้ชื่อว่า "มหาบุรุษ" ซึ่งเป็นผู้ฉลาดในธรรมอันเป็นทางและธรรมที่มิใช่ทาง เป็นผู้เสร็จกิจแล้ว ไม่มีอาสวะ เป็นพระพุทธะ มีสรีระเป็นครั้งที่สุด.

จบวัสสการสูตรที่ ๕

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 135

อรรถกถาวัสสการสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในวัสสการสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อนุสฺสริตา ได้แก่ ตามระลึกถึง. อธิบายว่า เป็นผู้สามารถระลึกถึงเรื่องสืบๆ ต่อกันมาได้. บทว่า ทกฺโข คือเป็นผู้ฉลาด. บทว่า ตตฺรุปายาย ความว่า ผู้ประกอบด้วยปัญญา อันเป็นอุบายในกิจนั้นๆ ได้อย่างนี้ว่า ในเวลานี้ควรทำกิจนี้ ดังนี้. บทว่า อนุโมทิตพฺพํ ได้แก่ควรทรงยินดี. บทว่า ปฏิกฺโกสิตพฺพํ ได้แก่ ควรคัดค้าน. บทว่า เนว โข ตฺยาหํ ได้แก่ เราไม่อนุโมทนาแก่ท่าน. ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ทรงยินดี ไม่ทรงคัดค้านข้อนั้น. ตอบว่า พระองค์ไม่ทรงยินดี เพราะเป็นโลกิยะ ไม่ทรงคัดค้าน เพราะยึดเอาแต่ประโยชน์ที่เป็นโลกิยะ. บทว่า พหุสฺส ชนตา ตัดบทเป็น พหุ อสฺส ชนตา แปลว่า ประชุมชนเป็นอันมาก. ก็บทนี้ พึงทราบว่าเป็นฉัฏฐีวิภัติใช้ในอรรถตติยาวิภัติ. บทว่า อริเย าเย คือในมรรคพร้อมด้วยวิปัสสนา. บทว่า กลฺยาณธมฺมตา กุสลธมฺมตา เป็นชื่อของมรรคนั้นทั้งนั้น. บทว่า ยํ วิตกฺกํ ความว่า ตรึกบรรดาเนกขัมมวิตกเป็นต้นอย่างหนึ่ง. บทว่า น ตํ วิตกฺกํ วิตกฺเกติ ความว่า ไม่ตรึกบรรดากามวิตกเป็นต้น แม้แต่วิตกเดียว บทนอกนี้เป็นไวพจน์ของบทว่า วิตกฺกํ นั้นเอง. วิตกในบทว่า วิตกฺกปเถสุ นี้ ได้แก่ ทางวิตก. ในบทเป็นอาทิว่า อหํ หิ พฺราหฺมณ พึงทราบว่า โดยนัยที่หนึ่ง ท่านกล่าวถึงศีลและพาหุสัจจะของพระขีณาสพ โดยนัยที่สองและที่สาม ท่านกล่าวถึงกิริยวิตก วิตกที่เป็นแต่กิริยา และกิริยฌาน ฌานที่เป็นแต่กิริยาของพระขีณาสพ โดยนัยที่สี่ ท่านกล่าวถึงความเป็นพระขีณาสพ ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 136

บทว่า มจฺจุปาสา ปโมจนํ คือทางเป็นที่รอดพ้นจากบ่วงแห่งมัจจุ. บทว่า ายํ ธมฺมํ คือมรรคพร้อมด้วยวิปัสสนา. บทว่า ทิสฺวา จ สุตฺวา จ ความว่า ได้เห็นและได้ฟังแล้วด้วยญาณนั้นเอง. บทที่เหลือในสูตรนี้ง่าย ทั้งนั้น.

จบอรรถกถาวัสสการสูตรที่ ๕