พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. วักกลิสูตร ว่าด้วยการเห็นธรรมชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า

 
บ้านธัมมะ
วันที่  7 ก.ย. 2564
หมายเลข  36851
อ่าน  826

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 274

๕. วักกลิสูตร

ว่าด้วยการเห็นธรรมชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า

อรรถกถาวักกลิสูตรที่ ๕


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 27]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 274

๕. วักกลิสูตร

ว่าด้วยการเห็นธรรมชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า

[๒๑๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์. สมัยนั้นแล ท่านพระวักกลิอาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา พักอยู่ที่นิเวศน์ของนายช่างหม้อ ครั้งนั้น ท่านพระวักกลิเรียกภิกษุผู้อุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้ว กล่าวว่า มาเถิดอาวุโส ท่านทั้งหลายจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มี-

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 275

พระภาคเจ้าถึงที่ประทับ จงถวายบังคมพระยุคลบาทด้วยเศียรเกล้า ตามคำของเรา แล้วทูลว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา ท่านถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์ด้วยเศียรเกล้า และพวกท่านจงทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ได้ยินว่า ท่านขอประทานพระวโรกาส ขอทูลเชิญพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปหาท่านวักกลิถึงที่อยู่เถิด. ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านวักกลิแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ. ฯลฯ ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา ท่านถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์ด้วยเศียรเกล้า และทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ได้ยินว่าท่านขอประทานพระวโรกาส ขอทูลเชิญพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปหาวักกลิภิกษุถึงที่อยู่เถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ.

[๒๑๖] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงครองผ้าแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปหาท่านพระวักกลิถึงที่อยู่. ท่านพระวักกลิได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแต่ไกล. ครั้นเห็นแล้ว ก็ลุกขึ้นจากเตียง. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะท่านพระวักกลิว่า อย่าเลยวักกลิ เธออย่าลุกจากเตียงเลย อาสนะเหล่านี้ ที่เขาปูลาดไว้มีอยู่ เราจักนั่งที่อาสนะนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้. ครั้นแล้วได้ตรัสถามท่านพระวักกลิว่า ดูก่อนวักกลิ เธอพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนานั้นปรากฏว่าทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ? ท่านพระวักกลิ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว ไม่สามารถยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์แรงกล้า มีแต่

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 276

กำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย ทุกขเวทนาปรากฏว่ากำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย.

ภ. ดูก่อนวักกลิ เธอไม่มีความรำคาญ ไม่มีความเดือดร้อนอะไรบ้างหรือ?

ว. พระเจ้าข้า แท้ที่จริง ข้าพระองค์มีความรำคาญไม่น้อย มีความเดือดร้อนอยู่ไม่น้อยเลย.

ภ. ดูก่อนวักกลิ ก็ตัวเธอเองไม่ติเตียนตนเองได้โดยศีลบ้างหรือ?

ว. พระเจ้าข้า ตัวข้าพระองค์เองจะติเตียนได้โดยศีลก็หาไม่.

ภ. ดูก่อนวักกลิ ถ้าหากว่าตัวเธอเองติเตียนตนเองโดยศีลไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอจะมีความรำคาญและมีความเดือดร้อนอะไร?

ว. พระเจ้าข้า จำเดิมแต่กาลนานมาแล้ว ข้าพระองค์ประสงค์จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ว่าในร่างกายของข้าพระองค์ไม่มีกำลังพอที่จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้.

ภ. อย่าเลยวักกลิ ร่างกายอันเปื่อยเน่าที่เธอเห็นนี้ จะมีประโยชน์อะไร ดูก่อนวักกลิ ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นธรรม วักกลิ เป็นความจริง บุคคลเห็นธรรมก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเราก็ย่อมเห็นธรรม วักกลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ว. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?

ว. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 277

ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา?

ว. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

ภ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ว. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?

ว. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา?

ว. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

ภ. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมทราบชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนท่านพระวักกลิด้วยพระโอวาทนี้แล้ว ทรงลุกจากอาสนะ เสด็จไปทางภูเขาคิชฌกูฏ.

[๒๑๗] ครั้งนั้นแล พระวักกลิ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน ได้เรียกภิกษุอุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า มาเถิดอาวุโส ท่านจงช่วยอุ้มเราขึ้นเตียง แล้วหามไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ ก็ภิกษุผู้เช่นกับเรา ไฉนเล่าจะพึงสำคัญว่าตนพึงทำกาละในละแวกบ้านเล่า? ภิกษุอุปัฏฐากเหล่านั้นรับคำท่านพระวักกลิแล้ว อุ้มท่านพระวักกลิขึ้นเตียง หามไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ภูเขา

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 278

คิชฌกูฏ ตลอดราตรีและวันที่ยังเหลืออยู่นั้น. ครั้งนั้น เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดา ๒ องค์ มีฉวีวรรณงดงาม ทำภูเขาคิชฌกูฏให้สว่างทั่วไปทั้งหมด แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ฯลฯ ได้ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุ คิดเพื่อความหลุดพ้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระเจ้าข้า ก็วักกลิภิกษุนั้นหลุดพ้นดีแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่แท้. เทวดาเหล่านั้นได้กราบทูลอย่างนี้แล้ว ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณ แล้วก็หายไป ณ ที่นั้นเอง.

[๒๑๘] ครั้นพอราตรีนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า มาเถิดภิกษุทั้งหลาย จงพากันเข้าไปหาวักกลิภิกษุถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจงบอกวักกลิภิกษุอย่างนี้ว่า อาวุโสวักกลิ ท่านจงฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า และคำของเทวดา ๒ องค์ อาวุโส ณ ราตรีนี้ เมื่อปฐมยามผ่านไปแล้ว เทวดา ๒ องค์ผู้มีฉวีวรรณงดงาม ทำภูเขาคิชฌกูฏให้สว่างทั่วไปทั้งหมด เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่งได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระเจ้าข้า ก็วักกลิภิกษุนั้นหลุดพ้นดีแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่แท้ อาวุโสวักกลิ แต่ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะท่านอย่างนี้ว่า อย่ากลัวเลยวักกลิ อย่ากลัวเลยวักกลิ จักมีความตายอันไม่ต่ำช้าแก่เธอ จักมีกาลกิริยาอันไม่เลวทรามแก่เธอ ภิกษุเหล่านั้นรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เข้าไปหาท่านพระวักกลิถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านวักกลิว่า อาวุโสวักกลิ ท่านจงฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า และคำของเทวดา ๒ องค์.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 279

[๒๑๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระวักกลิเรียกภิกษุอุปัฏฐากทั้งหลายมา แล้วกล่าวว่า มาเถิดอาวุโส ท่านจงช่วยกันอุ้มเราลงจากเตียง เพราะว่าภิกษุผู้เช่นกับเรานั่งบนอาสนะสูงแล้ว จะพึงสำคัญว่าตนควรฟังคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นอย่างไรเล่า. ภิกษุเหล่านั้น รับคำของท่านพระวักกลิแล้ว ก็ช่วยกันอุ้มท่านพระวักกลิลงจากเตียง แล้วกล่าวว่า ณ ราตรีนี้ เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดา ๒ องค์ ฯลฯ ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุคิดเพื่อความหลุดพ้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระเจ้าข้า ก็วักกลิภิกษุนั้นหลุดพ้นแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่แท้ อาวุโสวักกลิ แต่ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถึงท่านอย่างนี้ว่า อย่ากลัวเลย วักกลิ อย่ากลัวเลย วักกลิ จักมีความตายอันไม่ต่ำช้าแก่เธอ จักมีกาลกิริยาไม่เลวทรามแก่เธอ. พระวักกลิกล่าวว่า อาวุโส ถ้าเช่นนั้น ท่านจงช่วย ถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า ตามคำของผมด้วยว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา เธอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า และยังได้สั่งมากราบทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า รูปไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์ ดังนี้

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 280

ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระวักกลิแล้วหลีกไป. ครั้งนั้น เมื่อภิกษุเหล่านั้นหลีกไปไม่นาน ท่านพระวักกลิก็นำเอาศาตรามา (เตรียมจะฆ่าตัวตาย).

[๒๒๐] ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา ท่านขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า และยังได้สั่งมากราบทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า รูปไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวน เป็นธรรมดา ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์ ดังนี้.

[๒๒๑] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า มาไปกันเถิด ภิกษุทั้งหลาย เราจะพากันไปยังวิหารกาฬสิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ ซึ่งเป็นที่ที่วักกลิกุลบุตรนำเอาศาสตรามา. ภิกษุเหล่านั้นรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปยังวิหารกาฬสิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ พร้อมด้วยภิกษุเป็นจำนวนมาก ได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระวักกลินอนคอบิดอยู่บนเตียงแต่ไกลเทียว. ก็สมัยนั้นแล ปรากฏเป็นกลุ่มควันกลุ่มหมอก

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 281

ลอยไปทางทิศบูรพา ทิศปัจฉิม ทิศอุดร ทิศทักษิณ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และอนุทิศ. ลำดับนั้นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายมองเห็นกลุ่มควันกลุ่มหมอกลอยไปทางทิศบูรพา ฯลฯ และอนุทิศหรือไม่? ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่าเห็นพระเจ้าข้า.

ภ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นั่นแหละคือมารใจหยาบช้า. ค้นหาวิญญาณของวักกลิกุลบุตร ด้วยคิดว่าวิญญาณของวักกลิกุลบุตรตั้งอยู่ ณ ที่แห่งไหนหนอ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วักกลิกุลบุตรมีวิญญาณไม่ได้ตั้งอยู่ ปรินิพพานแล้ว.

จบ วักกลิสูตรที่ ๕

อรรถกถาวักกลิสูตรที่ ๕

พึงทราบวินิจฉัยในวักกลิสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้.

บทว่า กุมฺภการนิเวสเน แปลว่า ในโรงช่างหม้อ เล่ากันมาว่า พระเถระออกพรรษาปวารณาแล้ว ได้เดินทางมาเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านเกิดอาพาธหนัก (ขณะที่เดินทางมาถึง) กลางพระนคร (ราชคฤห์) เท้า (ทั้งสองข้าง) ก้าวไม่ออก. ที่นั้น พวกชาวเมืองใช้วอมีลักษณะเป็นเตียงน้อย หามท่านไปไว้ในโรงช่างหม้อ. และโรงนั้นก็เป็นโรงที่ทำงานของช่างหม้อเหล่านั้น (แต่) มิใช่เป็นโรงที่เขาพักอาศัยกัน พระสังคีติกาจารย์หมายเอาโรงนั้นจึงกล่าวว่า กุมฺภการนิเวสเน วิหรติ (พระวักกลิเถระอยู่ในเรือนของช่างหม้อ).

บทว่า พาฬฺหคิลาโน คือ เป็นไข้เกินขนาด (ไข้หนัก).

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 282

บทว่า สมญฺโจปิ ความว่า (พระวักกลิเถระ) แสดงนอบน้อม (เคารพ) แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยอาการไหว (กาย) ทั่วไป.

ว่ากันว่า การที่ภิกษุผู้มีพรรษาอ่อนกว่าเห็นภิกษุผู้มีพรรษาแก่กว่า แม้ (ตนเอง) จะเจ็บป่วยหนักก็ต้องแสดงความนอบน้อมด้วยอาการลุกขึ้น นี้ถือเป็นธรรมเนียม แต่ภิกษุผู้มีพรรษาแก่กว่านั้นก็ต้องบอกเธอว่า อย่าลุกขึ้นเลย.

บทว่า สนฺติมานิ อาสนานิ ความว่า ก็ในสมัยพุทธกาล ในที่อยู่ของภิกษุแม้รูปหนึ่งจะปูลาดอาสนะไว้รอท่าเหมือนกันหมด ด้วยหวังว่า ถ้าพระศาสดาจักเสด็จมาไซร้ จักได้ประทับนั่งบนอาสนะนี้. ชั้นที่สุด (ถ้าไม่มีอาสนะ) ก็จะปูลาดแต่แผ่นกระดาน (หรือ) แม้เพียงเครื่องลาดใบไม้ก็จะปูลาดไว้.

บทว่า ขมนียํ ยาปนียํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า เธอทนได้แลหรือ คือ เธอสามารถทนทุกข์หรือเคลื่อนไหวอิริยาบถได้แลหรือ.

บทว่า ปฏิกฺกมนฺติ แปลว่า ทุเลาลง (ลดน้อย).

บทว่า อภิกฺกมนฺติ แปลว่า กำเริบ (สูงขึ้น).

บทว่า ปฏิกฺกโมสานํ เท่ากับ ปฏิกฺกโม เอตาสํ แปลว่า ทุกขเวทนาเหล่านั้นเพลาลง.

บทว่า สีลโต น อุปวทติ ความว่า กล่าวติเตียนเพราะปรารภศีล คือ โดยศีลเป็นเหตุไม่ได้.

บทว่า จิรปฏิกาหํ ตัดบทเป็น จิรปฏิโก อหํ ความว่า ข้าพระองค์ (ประสงค์จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า) ตั้งแต่นานมาแล้ว.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 283

บทว่า ปูติกาเยน ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงพระวรกายของพระองค์ แม้จะมีสีงามดังสีทองคำอย่างนั้น ก็เพราะหมายความว่า (มีของปฏิกูล) ไหลออกประจำ.

ในบทว่า โย โข วกฺกลิ ธมฺมํ นี้ พึงทราบอธิบายว่า (๑) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรมกายที่ตรัสไว้ว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร ธรรมกายแลคือพระตถาคต ความจริงโลกุตตรธรรม ๙ อย่าง (มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑) ชื่อว่า พระกายของพระตถาคต.

บัดนี้ เมื่อจะทรงเริ่มแสดงธรรม มีปริวัฏ ๓ แก่พระเถระ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า ตํ กิํ มญฺสิ เป็นต้น.

บทว่า กาฬสิลา ได้แก่ วัดกาฬสิลา.

บทว่า วิโมกฺขาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่มรรควิโมกข์.

บทว่า สุวิมุตฺโต วิมุจฺจิสฺสต ความว่า (พระวักกลิเถระนั้น) เป็นผู้หลุดพ้นดีแล้ว จักหลุดพ้นด้วยวิมุตติคืออรหัตตผล.

ได้ยินว่า เทวดาเหล่านั้นทราบว่าพระเถระนี้ปรารภวิปัสสนาแล้ว ท่านก็จักบรรลุพระอรหัตตผลโดยไม่มีอันตรายโดยทำนองใด จึงได้กล่าวอย่างนี้.

บทว่า อปาปกํ คือ ไม่ลามก.

บทว่า สตฺถํ อาหเรสิ ความว่า ได้ยินว่า พระเถระเป็นผู้มีมานะจัด. ท่านมองไม่เห็นการกลับฟุ้งขึ้นมา (อีก) แห่งกิเลสทั้งหลายที่ข่มไว้ได้ด้วยสมาธิและวิปัสสนา จึงมีความสำคัญว่า เราเป็นพระขีณาสพ แล้วคิด (ต่อไป) ว่า ชีวิตนี้เป็นทุกข์ เราจะอยู่ไปทำไม


(๑) ยังสงสัยจะเป็น พระนาคเสน กล่าวหรือเปล่า?

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 284

เราจักเอามีดมาฆ่าตัวตาย ดังนี้แล้ว ได้เอามีดที่คมมาเฉือนก้านคอ. ทันใดนั้น ทุกขเวทนาก็เกิดขึ้นแก่ท่าน. ขณะนั้นท่านจึงทราบว่า ตนเองยังเป็นปุถุชนอยู่เลยรีบคว้าเอากัมมัฏฐานข้อเดิมมาพิจารณา เนื่องจากว่าท่านยังไม่ได้ละทิ้งกัมมัฏฐาน (ไม่ช้า) ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วมรณภาพ (ทันที).

ถามว่า ก็ปัจจเวกขณญาณได้มีแล้วอย่างไร?

ตอบว่า พระขีณาสพมีปัจจเวกขณญาณ ๑๙ อย่าง ปัจจเวกขณญาณทั้งหมดพระขีณาสพต้องได้อย่างแน่แท้. ก็เมื่อพระวักกลิเถระเอามีดคมตัดศีรษะ (ปัจจเวกขณ) ญาณ ย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอนไม่หนึ่งก็สองข้อ.

บทว่า วิวตฺตกฺขนฺธํ แปลว่า คอบิด. บทว่า เสยฺยมานํ แปลว่า นอนอยู่.

ได้ยินว่า พระเถระนอนหงายแล้วเอามีดมา (เชือดคอตนเอง) ร่างกายของท่านได้ทรงอยู่ดุจเดิม ส่วนศีรษะได้บิดไปอยู่ข้างขวา อันที่จริงพระอริยสาวกทั้งหลาย ส่วนมาก (เมื่อนิพพาน) จะนิพพานโดย (นอน) ตะแคงข้างขวาเหมือนกันหมด ด้วยเหตุนั้น ร่างกายของ พระวักกลินั้นจึงได้ทรงอยู่ดุจเดิม ส่วนศีรษะกลับบิดไปอยู่ข้างขวา พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายหมายถึงพระวักกลิเถระผู้นอนคอบิดอยู่นั้น จึงกล่าวว่าพระวักกลิ (นอน) คอบิด ดังนี้บ้าง.

บทว่า ธูมายิตตฺตํ แปลว่า ภาวะที่เกิดเป็นควัน. บทว่า ติมิรายิตตฺตํ แปลว่า ภาวะที่มืดมิด. อธิบายว่า เปรียบเหมือนเมฆควันและเปรียบเหมือนหมอก.

จบ อรรถกถาวักกลิสูตรที่ ๕