พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. เสรีสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  29 ส.ค. 2564
หมายเลข  36266
อ่าน  362

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 369

๓. เสรีสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 369

๓. เสรีสูตร

[๒๘๒] เสรีเทพบุตร ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้กล่าวคาถาทูลถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

เทวดาและมนุษย์ทั้งสองพวก ต่างก็ยินดีข้าวและน้ำด้วยกันทั้งนั้น เออ ก็ผู้ที่ไม่ยินดีข้าวและน้ำชื่อว่ายักษ์โดยแท้.

[๒๘๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบเสรีเทพบุตร ด้วยพระคาถาว่า

ชนเหล่าใดมีใจผ่องใส ให้ข้าวและน้ำนั้นด้วยศรัทธา ข้าวและน้ำนั้นแล ย่อมพะนอชนเหล่านั้นทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะเหตุนั้น พึงเปลื้องความตระหนี่เสีย ครอบงำมลทิน คือ ความตระหนี่เสีย ให้ทาน บุญเท่านั้นย่อมเป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ในโลกหน้า.

[๒๘๔] ส. น่าอัศจรรย์พระเจ้าข้า ไม่เคยมีมา พระเจ้าข้า พระดำรัสนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วว่า

ชนเหล่าใดมีใจผ่องใส ให้ข้าวและน้ำนั้นด้วยศรัทธา ข้าวและน้ำนั้นแล ย่อมพะนอชนเหล่านั้นทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะเหตุนั้น พึงเปลื้องความตระหนี่

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 370

เสีย ครอบงำมลทิน คือ ความตระหนี่เสีย ให้ทาน บุญเท่านั้นเป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ในโลกหน้า.

[๒๘๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว ข้าพระองค์ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน มีนามว่าเสรี เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้สรรเสริญการให้ทาน. ที่ประตูทั้ง ๔ ด้าน ข้าพระองค์ได้ให้ทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทางไกล วณิพกและยาจกทั้งหลาย ครั้นต่อมา พวกฝ่ายในพากันเข้าไปหาข้าพระองค์ ได้พูดปรารภขึ้นว่า พระองค์ทรงบำเพ็ญทาน แต่พวกหม่อมฉันไม่ได้ให้ทาน เป็นการชอบที่พวกหม่อมฉันจะได้อาศัยฝ่าพระบาทให้ทานกระทำบุญ ข้าพระองค์จึงคิดเห็นว่า เราเองก็เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้สรรเสริญการให้ทาน เมื่อมีผู้พูดว่า พวกหม่อมฉันจะให้ทาน เราจะว่าอะไร แล้วจึงมอบประตูด้านแรกให้แก่พวกฝ่ายในไป เขาพากันให้ทานในที่นั้น ทานของข้าพระองค์ก็ลดไป.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้นต่อมา พวกเจ้าพระราชวงศ์พากันเข้าไปหาข้าพระองค์ ได้พูดปรารภขึ้นว่า พระองค์ทรงบำเพ็ญทาน พวกฝ่ายในก็บำเพ็ญทาน แต่พวกข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ให้ทาน เป็นการชอบที่พวกข้าพระพุทธเจ้าจะได้อาศัยฝ่าพระบาทให้ทานกระทำบุญ ข้าพระองค์ก็คิดเห็นว่า เราเองก็เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้สรรเสริญการให้ทาน เมื่อมีผู้พูดว่า พวกข้าพระพุทธเจ้าจะให้ทาน เราจะว่าอะไร แล้วจึงมอบประตูด้านที่สองให้แก่พวกเจ้าพระราชวงศ์ไป พวกเจ้าพระราชวงศ์ต่างก็พากันให้ทานในที่นั้น ทานของข้าพระองค์ก็ลดไป.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้นต่อมา พวกฝ่ายทหาร เข้าไปหาข้าพระองค์ได้พูดปรารภขึ้นว่า พระองค์ก็ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล พวกฝ่ายในก็ทรงบำเพ็ญพระกุศล พวกเจ้าพระราชวงศ์ก็ทรงบำเพ็ญพระกุศล พวกข้าพระเจ้ามิได้ให้ทาน เป็นการชอบที่พวกข้าพระเจ้า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 371

จะได้อาศัยฝ่าพระบาทให้ทานกระทำบุญ ข้าพระองค์จึงคิดเห็นว่า เราเองก็เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้สรรเสริญการให้ทาน เมื่อมีผู้พูดว่า พวกข้าพระเจ้าจะให้ทาน เราจะว่าอะไร แล้วจึงมอบประตูด้านที่สามให้พวกฝ่ายทหารไป เข้าก็พากันให้ทาน ในที่นั้น ทานของข้าพระองค์ก็ลดไป.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้นต่อมา มีพวกพราหมณ์คฤหบดี เข้าไปหาหม่อมฉันได้พูดปรารภขึ้นว่าพระองค์ก็ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล พวกฝ่ายในก็ทรงบำเพ็ญพระกุศล พวกเจ้าพระราชวงศ์ก็ทรงบำเพ็ญพระกุศล พวกฝ่ายทหารก็ให้ทาน แต่พวกข้าพระเจ้าไม่ได้ให้ทาน เป็นการชอบที่พวกข้าพระเจ้าจะได้อาศัยฝ่าพระบาทให้ทานกระทำบุญ ข้าพระองค์จึงคิดเห็นว่า เราเองก็เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้สรรเสริญการให้ทาน เมื่อมีผู้พูดว่า พวกข้าพระเจ้าจะให้ทาน เราจะว่าอะไร แล้วจึงมอบประตูด้านที่สี่ให้พวกพราหมณ์คฤหบดีไป เขาต่างก็พากันให้ทานในที่นั้น ทานของข้าพระองค์ก็ลดไป.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกเจ้าหน้าที่ทั้งหลายต่างพากันเข้าไปหาข้าพระองค์แล้ว ได้ทูลขึ้นว่า บัดนี้พระองค์จะไม่ทรงบำเพ็ญทานในที่ไหนๆ อีกหรือ เมื่อเขาทูลอย่างนี้ ข้าพระองค์จึงกล่าวตอบไปว่าท่านทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น ในท้องถิ่นชนบทนอกๆ ออกไป มีรายได้ใดๆ เกิดขึ้น พวกท่านจงรวบรวมรายได้นั้นๆ ส่งเข้าไปในเมือง (เข้าท้องพระคลัง) เสียกึ่งหนึ่ง อีกกึ่งหนึ่งพวกท่านจงให้ทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทางไกล วณิพกและยาจกทั้งหลายในชนบทนั้นเถิด.

ข้าพระองค์จึงยังไม่ถึงที่สุดแห่งบุญที่ได้บำเพ็ญไว้ แห่งกุศลที่ได้ก่อสร้างไว้ตลอดกาลนานอย่างนี้ โดยที่จะมาคำนึงถึงว่า เท่านี้ก็เป็นบุญแล้ว เท่านี้ก็เป็นผลของบุญแล้ว หรือเท่านี้ที่เราก็พึงตั้งอยู่ในสามัคคีธรรมได้.

[๒๘๖] ส. น่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า ไม่เคยมีมา พระเจ้าข้า พระดำรัสนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วว่า

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 372

ชนเหล่าใดมีใจผ่องใส ให้ข้าวและน้ำด้วยความศรัทธา ข้าวและน้ำนั้นแลย่อมพะนอชนเหล่านั้นทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะเหตุนั้น พึงเปลื้องความตระหนี่เสีย ครอบงำมลทิน คือ ความตระหนี่เสีย ให้ทาน บุญเท่านั้นย่อมเป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ในโลกหน้า.

อรรถกถาเสรีสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในเสรีสูตรที่ ๓ ต่อไป :-

บทว่า ทายโก แปลว่า ผู้ให้ทานเป็นปกติ.

บทว่า ทานปติ ได้แก่ เป็นเจ้าแห่งทานที่ให้แล้วให้ ไม่ใช่เป็นทาส ไม่ใช่เป็นสหาย.

จริงอยู่ ผู้ใดบริโภคของอร่อยด้วยตนเอง และให้ของไม่อร่อยแก่คนอื่น ผู้นั้น ชื่อว่า เป็นทาสแห่งไทยธรรม กล่าวคือทาน ให้ทาน [ทาสทาน].

ก็ผู้ใดบริโภคของใดด้วยตนเองให้ของนั้นนั่นแหละ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นสหายให้ทาน [สหายทาน].

ส่วนผู้ใดดำรงชีวิตด้วยของนั้นใดด้วยตนเอง และให้ของอร่อยแก่ผู้อื่น ผู้นั้น ชื่อว่าเป็นเจ้า เป็นใหญ่ เป็นนายให้ทาน [ทานบดี]. เสรีเทพบุตรนั้นกล่าวว่าข้าพระองค์ได้เป็นเช่นนั้น.

บทว่า จตูสุ ทฺวาเรสุ ความว่า ได้ยินว่า พระราชาพระองค์นั้นได้มีรัฐ ๒ รัฐ คือ สินธวรัฐ และ โสวีรกรัฐ. มีนครชื่อโรรุวนคร ที่ประตู

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 373

แต่ละประตูแห่งนครนั้น เกิดทรัพย์แสนหนึ่งทุกๆ วัน ณ สถานที่วินิจฉัยคดี ภายในนคร ก็เกิดทรัพย์แสนหนึ่ง. ท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นกองเงินกองทองเป็นอันมาก ทำให้เกิดกัมมัสสกตาญาณ โปรดให้สร้างโรงทานทั้ง ๔ ประตู แต่งตั้งอมาตย์ เจ้าหน้าที่ไว้ สั่งว่า พวกเจ้าจงเอารายได้ที่เกิดขึ้น ณ ประตูนั้นๆ ให้ทาน ด้วยเหตุนั้น เสรีเทพบุตรนั้นจึงกล่าวว่า ให้ทานทั้ง ๔ ประตู.

ในคำว่า สมณพฺราหฺมณกปณทฺธิกวณิพฺพกยาจกานํ นี้ ผู้ถือบวชชื่อว่า สมณะ ผู้มีปกติทูลว่าผู้เจริญ ชื่อว่าพราหมณ์ แต่สมณพราหมณ์ที่ว่านี้ ไม่ได้ในสมณพราหมณ์ ผู้สงบบาปและผู้ลอยบาป คนเข็ญใจ คนยากจน มีคนตาบอด คนง่อย เป็นต้น ชื่อว่า กปณะ. คนกำพร้า คนเดินทาง ชื่อว่า อัทธิกะ. คนเหล่าใด เที่ยวสรรเสริญทานโดยนัยว่า ให้ทานที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ให้ตามกาลให้ทานที่ไม่มีโทษ ทำจิตให้ผ่องใส ท่านผู้เจริญก็จะไปพรหมโลกดังนี้เป็นต้น ชนเหล่านั้น ชื่อว่า วณิพก. ชนเหล่าใดกล่าวว่า โปรดให้สักฟายมือเถิด โปรดให้สักขันจอกเกิด ดังนี้เป็นต้น เที่ยวขอไป ชนเหล่านั้น ชื่อว่า ยาจก.

บทว่า อิฏฺาคารสฺส ทานํ ทิยิตฺถ ความว่า พวกฝ่ายในได้ให้ทานมากกว่าทานที่พระราชาพระราชทาน เพราะเติมทรัพย์แม้ส่วนอื่นลงในทรัพย์แสนหนึ่ง ซึ่งเกิดที่ประตูนั้น เพราะได้รับประตูแรก ถอนอมาตย์ของพระราชาเสีย ตั้งอมาตย์ของตนทำหน้าที่แทน. เสรีเทพบุตรหมายเอาข้อนั้น จึงกล่าวอย่างนี้.

บทว่า มม ทานํ ปฏิกฺกมิ ความว่า ทานของข้าพระองค์ที่ให้ ณ ประตูนั้น ก็เปลี่ยนไป แม้ในประตูที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.

บทว่า โกจิ แปลว่า ในที่ไหนๆ.

บทว่า ทีฆรตฺตํ ได้แก่ ๘๐,๐๐๐ ปี ได้ยินว่า ทานของพระราชาพระองค์นั้น ปรากฏตลอดกาลประมาณเท่านั้น.

จบอรรถกถาเสรีสูตรที่ ๓