พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. ปาเถยยสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  29 ส.ค. 2564
หมายเลข  36241
อ่าน  575

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 313

๙. ปาเถยยสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 313

๙. ปาเถยยสูตร

[๒๑๕] เทวดาทูลถามว่า

อะไรหนอ ย่อมรวบรวมไว้ซึ่งสะเบียง อะไรหนอ เป็นที่มานอนแห่งโภคทรัพย์ทั้งหลาย อะไรหนอ ย่อมเสือกไสนรชนไป อะไรหนอ ละได้ยากในโลก สัตว์เป็นอันมากติดอยู่ในอะไร เหมือนนกติดบ่วง.

[๒๑๖] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า

ศรัทธาย่อมรวบรวมไว้ซึ่งเสบียงสิริ (คือมิ่งขวัญ) เป็นที่มานอนแห่งโภคทรัพย์ทั้งหลาย ความอยากย่อมเสือกไสนรชนไป ความอยากละได้ยากในโลก สัตว์เป็นอันมากติดอยู่ในความอยาก เหมือนนกติดบ่วง.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 314

อรรถกถาปาเถยยสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปาเถยยสูตรที่ ๙ ต่อไป :-

บทว่า ศรัทธาย่อมรวบรวมไว้ซึ่งเสบียง อธิบายว่า บุคคลยังศรัทธาให้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมให้ทาน ย่อมรักษาศีล ย่อมทำอุโบสถกรรม ด้วยเหตุนี้แหละ พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า ศรัทธาย่อมรวบรวมไว้ซึ่งเสบียง ดังนี้.

บทว่า สิริ ได้แก่ ความเป็นใหญ่.

บทว่า อาสโย ได้แก่ เป็นที่อาศัย.

จริงอยู่ โภคะทั้งหลายย่อมมาจากทางบกบ้าง ทางน้ำบ้าง มุ่งหน้าเฉพาะผู้เป็นใหญ่เท่านั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สิริเป็นที่มานอนแห่งโภคทรัพย์ ดังนี้.

บทว่า ปริกสฺสติ ได้แก่ ย่อมฉุดคร่าไป.

จบอรรถกถาปาเถยยสูตรที่ ๙