พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. กินททสูตร ว่าด้วยเทวตาปัญหา ๕ ข้อ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36203
อ่าน  547

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 239

๒. กินททสูตร

ว่าด้วยเทวตาปัญหา ๕ ข้อ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 239

๒. กินททสูตร

ว่าด้วยเทวตาปัญหา ๕ ข้อ

[๑๓๗] เทวดาทูลถามว่า

บุคคลให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้กำลัง ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้วรรณะ ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้ความสุข ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้จักษุ และบุคคลเช่นไรชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ข้าพระองค์ทูลถามพระองค์ ขอพระองค์ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด.

[๑๓๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า

บุคคลให้อาหารชื่อว่าให้กำลัง ให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะ ให้ยานพาหนะชื่อว่าให้ความสุข ให้ประทีปโคมไฟชื่อว่าให้จักษุ และผู้ที่ให้ที่พักพาอาศัยชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนผู้ที่พร่ำสอนธรรมชื่อว่าให้อมฤตธรรม.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 240

อรรถกถากินททสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในกินททสูตรที่ ๒ ต่อไป :-

บทว่า อนฺนโท อธิบายว่า บุคคลแม้มีกำลังมากแต่ไม่ได้กินอาหารหลายๆ วัน (สองสามวัน) ก็ไม่อาจเพื่อจะลุกขึ้น ส่วนบุคคลผู้มีกำลังทรามได้กินอาหารแล้ว ก็ย่อมถึงพร้อมด้วยกำลังได้ เหตุใด เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า บุคคลให้อาหาร ชื่อว่าให้กำลัง ดังนี้.

บทว่า วตฺถโท อธิบายว่า บุคคลแม้มีรูปงาม แต่มีผ้าสกปรก ดังผ้าขี้ริ้ว หรือไม่มีผ้าเลยย่อมเป็นผู้น่าเกลียด ถูกเหยียดหยาม ไม่น่าดู บุคคลมีผ้าปกปิดดีแล้วย่อมงามราวกะเทพบุตร เหตุใด เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าบุคคลให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะ ดังนี้.

บทว่า ยานโท ได้แก่ ยานทั้งหลายมีหัตถิยาน (ยานช้าง) เป็นต้น ก็แต่ว่าในบรรดายานเหล่านั้น ยานช้าง ยานม้า ย่อมไม่สมควรแก่สมณะ การให้ไปด้วยรถก็ไม่สมควรเหมือนกัน ยานที่สมควรแก่สมณะก็คือ รองเท้าสำหรับสมณะผู้รักษาอยู่ซึ่งศีลขันธ์ เพราะฉะนั้น บุคคลให้รองเท้า ไม้เท้าคนแก่ เตียง ตั่ง อนึ่ง บุคคลใดย่อมชำระหนทาง ย่อมทำบันได ย่อมทำสะพาน ย่อมมอบเรือให้แม้ทั้งหมดนี้ ก็ชื่อว่า ให้ยานเหมือนกัน.

บทว่า สุขโท โหติ คือชื่อว่า ให้ความสุข ก็เพราะนำความสุขในยานมาให้.

บทว่า จกฺขุโท โหติ อธิบายว่า ให้ประทีปโคมไฟ ชื่อว่าให้จักษุ เพราะความที่บุคคลทั้งหลาย ถึงแม้มีตาก็ไม่สามารถมองเห็นในที่มืดได้ ผู้ให้ประทีปโคมไฟนั้นย่อมได้แม้ซึ่งความถึงพร้อมเห่งทิพยจักษุเหมือนพระอนุรุทธเถระ.

บทว่า สพฺพโท โหติ อธิบายว่า ผู้ให้ทุกสิ่งทุกอย่างดังที่กล่าวแล้วนั่นแหละ คือมีการให้กำลัง เป็นต้น คือว่า เมื่อภิกษุเที่ยวบิณฑบาต

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 241

ไปสองสามบ้านไม่ได้อะไรๆ มาอยู่ก็ดี เมื่ออาบน้ำในสระโบกขรณีอันเย็นแล้วเข้าไปสู่ที่พักอาศัย นอนในเตียงครู่หนึ่งแล้วลุกขึ้นมานั่งก็ดี ย่อมได้กำลังราวกะบุคคลอื่นนำมาใส่ให้ในร่างกาย.

ก็บุคคลเที่ยวไปในภายนอก ผิวพรรณในกายย่อมคล้ำไปด้วยลมและแดด เมื่อเข้าไปสู่ที่พักอาศัยปิดประตูแล้วนอนสักครู่หนึ่ง ความสืบต่อแห่งวิสภาคะย่อมเข้าไปสงบระงับ ความสืบต่อแห่งสภาคะย่อมก้าวลง ย่อมได้ผิวพรรณวรรณะ ราวกะบุคคลนำใส่ไว้ให้.

ก็เมื่อบุคคลเที่ยวไปภายนอก หนามย่อมทิ่มแทง ตอไม้ย่อมกระทบ อันตรายทั้งหลาย มีงู เป็นต้น และโจรภัย ย่อมเกิดขึ้น เมื่อเข้าไปสู่ที่พักอาศัยปิดประตูนอนแล้ว อันตรายทั้งหมดเหล่านั้น ย่อมไม่มี เมื่อสาธยายอยู่ ปีติและความสุขในธรรมย่อมเกิดขึ้น เมื่อทำกรรมฐานไว้ในใจอยู่ ความสุขอันสงบย่อมเกิดขึ้น เมื่อบุคคลเที่ยวไปภายนอกเหงื่อทั้งหลายย่อมไหลออก ตาทั้งสองย่อมฝ้าฟางในเวลาที่เข้าไปสู่เสนาสนะย่อมเป็นราวกะว่าตกลงไปในหลุม เตียงและตั่งย่อมไม่ปรากฏ.

ก็เมื่อบุคคลนอนพักสักครู่หนึ่ง ความผ่องใสแห่งตาก็จะมีได้ ราวกะว่าบุคคลนำมาใส่ไว้ให้ ช่องลมประตูหน้าต่างและเตียงตั่งย่อมปรากฏ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า โส จ สพฺพทโท โหติ โย ททาติ อุปสฺสยํ แปลว่า ก็บุคคลใดให้ที่พักพาอาศัย บุคคลนั้น ชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่างดังนี้.

บทว่า อมตํ ทโท จ โส โหติ อธิบายว่า เมื่อบุคคลยังบิณฑบาตให้เต็มด้วยโภชนะอันประณีต แล้วถวายอยู่ ชื่อว่า ให้ความไม่ตาย.

บทว่า โย ธมฺมมนุสาสติ อธิบายว่า บุคคลใด ย่อมพร่ำสอนธรรม ย่อมบอกอรรถกถา ย่อมสอนบาลี ย่อมแก้ปัญหาที่ถามแล้ว ย่อมบอกกรรมฐาน ย่อมทำธรรมสวนะ แม้ทั้งหมดนี้ ชื่อว่า ย่อมพร่ำสอนธรรม.

อนึ่ง การให้

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 242

ธรรมนี้เท่านั้น บัณฑิตพึงทราบว่าเป็นเลิศกว่าการให้ทั้งหมด ข้อนี้ สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า

สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ สพฺพรติํ ธมฺมรติ ชินาติ สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกฺขํ ชินาติ.

การให้ธรรมย่อมชนะการให้ทั้งปวง ความยินดีในธรรมย่อมชนะความยินดีทั้งปวง รสแห่งธรรมย่อมชนะรสทั้งปวง ความสิ้นตัณหาย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง ดังนี้.

จบอรรถกถากินททสูตรที่ ๒