พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. อาทิตตสูตร ว่าด้วยผลของการให้ทาน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36202
อ่าน  511

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 236

อาทิตตวรรคที่ ๕

๑. อาทิตตสูตร

ว่าด้วยผลของการให้ทาน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 236

อาทิตตวรรคที่ ๕

๑. อาทิตตสูตร

ว่าด้วยผลของการให้ทาน

[๑๓๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดาองค์หนึ่ง ซึ่งมีวรรณะงาม ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นแล้วจึงอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

[๑๓๖] เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

เมื่อเรือนถูกไฟไหม้แล้ว เจ้าของเรือนขนเอาภาชนะได้ออกไปได้ ภาชนะนั้นย่อมเป็นประโยชน์แก่เขา ส่วนสิ่งของที่มิได้ขนออกไป ย่อมไหม้ในไฟนั้นฉันใด.

โลก (คือหมู่สัตว์) อันชราและมรณะเผาแล้ว ก็ฉันนั้น ควรนำออก (ซึ่งโภคสมบัติ) ด้วยการให้ทาน เพราะทานวัตถุที่บุคคลให้แล้ว ได้ชื่อว่านำออกดีแล้ว.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 237

ทานวัตถุที่บุคคลให้แล้วนั้นย่อมมีสุขเป็นผล ที่ยังมิได้ให้ย่อมไม่เป็นเหมือนเช่นนั้น โจรยังปล้นได้ พระราชายังริบได้ เพลิงยังไหม้ได้ หรือสูญหายไปได้.

อนึ่ง บุคคลจำต้องละร่างกายพร้อมด้วยสิ่งเครื่องอาศัยด้วยตายจากไป ผู้มีปัญญารู้ชัดดั่งนี้แล้ว ควรใช้สอยและให้ทาน.

เมื่อได้ให้ทานและใช้สอยตามควรแล้ว จะไม่ถูกติฉิน เข้าถึงสถานที่อันเป็นสวรรค์.

อรรถกถาอาทิตตสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในวรรคที่ ๕ แห่งอาทิตตสูตรที่ ๑ ต่อไป :-

บทว่า ชราย มรเณน จ นี้ เป็นหัวข้อแห่งเทศนา อธิบายว่า โลก คือ หมู่สัตว์ถูกไฟทั้งหลาย ๑๑ กอง (๑) มีราคะ เป็นต้น แผดเผาแล้วเทียว.

บทว่า ทาเนน ได้แก่ มีเจตนาในการให้ทาน.

บทว่า ทินฺนํ โหติ สุนีภตํ ความว่า เจตนาอันเป็นบุญในการให้ย่อมมีแก่ทายกนั่นแหละ เหมือนสิ่งของอันเจ้าของเรือนนำออกแล้ว.

ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า โจรา หรนฺติ


(๑) ไฟ ๑๑ กอง คือ ราคะ, โทสะ, โมหะ, ชาติ, ชรา, มรณะ, โสกะ, ปริเทวะ, ทุกข์, โทมนัส, อุปายาส

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 238

อธิบายว่า เมื่อโภคะอันตนไม่ได้ให้แล้ว แม้โจรทั้งหลายก็ปล้นได้ แม้พระราชาทั้งหลายยังริบได้ แม้ไฟยังไหม้ได้ หรือสูญหายไป แม้ในที่อันตนเก็บไว้แล้ว.

บทว่า อนฺเตน แปลว่า ด้วยการตาย.

บทว่า สรีรํ สปริคฺคหํ อธิบายว่า ร่างกายและโภคะไม่พินาศไปด้วยสามารถแห่งอันตรายทั้งหลาย มีโจร เป็นต้น.

บทว่า สคฺคมุเปติ อธิบายว่า ย่อมบังเกิดในสวรรค์เหมือนสาธุชนทั้งหลาย มีพระเวสสันดรผู้เป็นมหาราช เป็นต้น.

จบอรรถกถาอาทิตตสูตรที่ ๑