เปลี่ยนไปในทางที่ดีด้วยความเข้าใจพระธรรม

 
khampan.a
วันที่  4 ส.ค. 2564
หมายเลข  35240
อ่าน  469

หทเย นิเธตพฺพยุตฺตกํ
(ข้อความที่ควรเก็บไว้ในหทัย)
[๕๐๗]

เปลี่ยนไปในทางที่ดีด้วยความเข้าใจพระธรรม


ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมเลยทุกวันจะต้องถูกครอบงำด้วยอกุศล ซึ่งเหมือนกับสลบไสลไปด้วยความมัวเมาไม่มีวันสร่าง แต่เมื่อใดที่มีความเข้าใจในพระธรรม และพิจารณารู้ความคิดของตนเอง ก็จะเห็นได้ว่าทางที่ควรจะก้าวไปนั้นควรจะเป็นในทางกุศล มากกว่าในการที่จะให้มัวเมาโดยไม่สร่าง ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังจะสังเกตจากชีวิตของท่านเองโดยละเอียดขึ้น ก็จะรู้ได้ว่าการกระทำทางกายในวันหนึ่งๆ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลมาก หรือทางวาจาซึ่งดูเหมือนกับว่าก็ไม่ใช่เป็นภัยร้ายแรง แต่ในขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิด จะรู้ได้ว่าบางขณะแม้แต่คำพูดนั้นก็พูดไปตามความคิดที่กำลังโกรธ คือคำพูดนั้นเองพูดเพื่อให้คนอื่นรู้ว่าท่านกำลังโกรธแม้ว่าจะไม่ใช้คำที่หยาบคาย เป็นอย่างนี้ไหมเวลาที่โกรธ คิดโกรธ? เพราะฉะนั้นวาจาตามความคิด แม้ว่าจะไม่ใช่คำหยาบ แต่ก็ยังเป็นคำพูดที่ทำให้คนฟังรู้ว่าท่านกำลังโกรธ

วันหนึ่งๆ คือชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง ซึ่งแม้ว่าจะสะสมกุศลมากสักเท่าไหร่ แต่ถ้าไม่เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ก็ไม่สามารถที่จะละคลายอกุศลนั้นๆ เพียงแต่ว่าจะเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะ มีการระลึกได้เร็วกว่าบุคคลซึ่งไม่เคยฟังพระธรรม เพราะว่าทุกคนก็โกรธ แต่ว่าโกรธแล้วจะระลึกได้ในขณะนั้นไหมว่าขณะนั้นได้มีการกระทำทางกาย ทางวาจาซึ่งเป็นไปตามความคิดหรือความโกรธในขณะนั้น

เพราะฉะนั้นผลจากการฟังพระธรรมและเข้าใจพระธรรม ก็เป็นการที่จะรู้ว่าความคิดของท่านเองในวันหนึ่งๆ เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศลเพิ่มขึ้นหรือไม่? คือคิดที่จะละคลายอกุศลมากขึ้นหรือยัง? เช่น คิดที่จะไม่ผูกโกรธ เตือนบ่อยๆ เพราะว่าความโกรธทุกคนมี และมีแล้วบางคนก็ไม่ลืม โกรธนาน อาจจะโกรธแต่ก่อนนี้ ๓ วัน ก็อาจจะลดลงมาบ้างเหลือสัก ๒ วัน หรือว่าเหลือสักครึ่งวัน หรือว่าสักชั่วครู่ แต่เห็นประโยชน์ไหมว่าจาก ๓ วัน เหลือ ๒ วัน เหลือ ๑ วัน เหลือครึ่งวัน หรือว่าเหลือเพียงชั่วครู่ คือผลของการที่ได้เข้าใจพระธรรมและพิจารณาพระธรรม มีการคิดที่จะอภัย มีการที่จะคิดถึงคนอื่นด้วยความเมตตา ไม่มีการคิดที่จะแบ่งพรรคแบ่งพวก เพราะเหตุว่าสำหรับปฏิปทาจริยาของพระโพธิสัตว์นั้น มีสังคหวัตถุ (การสงเคราะห์ช่วยเหลือ) ในบุคคลทั้งที่เป็นมิตรและเป็นศัตรู เพราะฉะนั้น จริยา คือความประพฤติของพระโพธิสัตว์ เกิดจากความคิดอย่างละเอียดมาก เห็นประโยชน์ของทุกอย่างที่เป็นกุศล มีสติสัมปชัญญะที่จะพิจารณาการกระทำทางกาย ทางวาจา หรือแม้แต่ความคิดในขณะนั้น แล้วก็สามารถที่จะมีความมั่นคงที่จะประพฤติปฏิบัติตาม


กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

อ่านหัวข้ออื่นๆ คลิกที่นี่ ... เก็บไว้ในหทัย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 4 ส.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
petsin.90
วันที่ 5 ส.ค. 2564

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ