ขณะกำลังพูดเจริญสติปัฏฐานได้ไหม

 
lokiya
วันที่  12 ก.ค. 2564
หมายเลข  34601
อ่าน  548

.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 ก.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สติปัฏฐาน คือ อะไร

สติปัฏฐาน คือ สติและปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา อันเป็นการเจริญวิปัสสนา

สติปัฏฐาน ประกอบด้วยสภาพธรรม อะไรบ้าง

สติปัฏฐาน ก็ไม่พ้นจากความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นจิต และเจตสิกที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา และ เจตสิกอื่นๆ อีกมายมาย ดังนั้น ก็ประกอบด้วยสภาพธรรมที่เป็น จิต ที่เป็นใหญ่ในการรู้ และประกอบด้วยเจตสิก อย่างน้อย ๑๙ ดวง ที่เป็นโสภณสาธารณะเจตสิก และประกอบด้วย สัพพจิตสาธารณะเจตสิก อีก ๗ ดวง และ ปกิณณกเจตสิก และที่ขาดไม่ได้เลย คือ ปัญญา ที่เป็นอโมหเจตสิก ที่เป็นสภาพธรรมที่รู้เห็นตามความเป็นจริง ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

-โสภณสาธารณเจตสิก

-สัพพจิตตสาธารณเจตสิก

-ปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง


สติปัฏฐานเกิดได้อย่างไร

สติปัฏฐาน เป็นปัญญาภาวนา ขั้นวิปัสสนา ซึ่งก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ในเรื่องของสภาพธรรม และ ฟังจนเป็นสัจจญาณ มั่นคงจริงๆ ก็จะทำให้คิด พิจารณาในเรื่องสภาพธรรม จนเมื่อปัญญาถึงพร้อมก็เกิดกิจจญาณ คือ สติปัฏฐานเกิด เพราะปัญญาขั้นการฟังแก่กล้า มีกำลังแล้ว จนเป็นเหตุให้เกิด สติปัฏฐาน ครับ


ลำดับการเกิดของสติ

ก็มีตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ดังนี้ ครับ

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕- หน้าที่ 203

การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังศรัทธาให้บริบูรณ์ ศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายให้บริบูรณ์ การทำไว้ในใจโดยแยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์ สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการสำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์ การสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์


จากข้อความในพระไตรปิฎก แสดงถึง เหตุให้เกิดสติปัฏฐานเป็นลำดับ สำคัญ คือการคบสัตบุรุษ มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น แต่ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ก็มีพระธรรมเป็นศาสดาแทนพระองค์ ก็ ขณะที่ฟังธรรม ขณะนั้น ก็กำลังคบสัตบุรุษ และ อาศัยการฟังธรรม ย่อมเกิดศรัทธา เกิดการพิจารณาโดยแยบคาย และ เกิดสติและปัญญา พิจารณาถูกต้อง จนถึง เกิด สติปัฏฐาน ครับ


อารมณ์ของสติปัฏฐาน

อารมณ์ของสติปัฏฐาน คือ สภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม จิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้น ในขณะที่พูด ก็มีธรรมที่มีจริงที่กำลังเกิด ที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม มีทั้ง เห็น ได้ยิน เสียง จิต เจตสิกก็เกิด ปัญญาสามารถเกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ในขณะนั้นที่เป็นสติปัฏฐาน ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 13 ก.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสััมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สิ่งสำคัญ คือ การมีโอกาสไดัฟังเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ซึ่งมีจริงๆ แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นธรรม การสะสมความเข้าใจตั้งแต่ต้นจะเป็นรากฐานสำคัญนำไปสู่การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องได้ เพราะเรื่องของสติปัฏฐานนั้นเป็นปกติ ไม่ใช่เรื่องทำ แต่เป็นกิจหน้าที่ของธรรมฝ่ายดี มีสติและปัญญา เป็นต้น เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง

สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ นั่นเอง ที่จะเป็นที่ตั้งให้สติเกิดขึ้นระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และปัญญารู้ตามความเป็นจริง (สติปัฏฐาน) เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย จริงๆ ไม่ใช่เรื่องหวัง ไม่ใช่เรื่องต้องการ ไม่ใช่เรื่องของความจดจ้อง ไม่ใช่เรื่องของการไปกระทำอะไรด้วยความเป็นตัวตน ด้วยความเห็นผิด และ ด้วยความไม่รู้ แต่เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาไปตามลำดับ ไม่ว่าจะทำอะไร อยู่ที่ไหน ก็ไม่พ้นจากธรรมเลย สามารถเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริงได้ ถ้ามีปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้น

เรื่องเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของปัญญาที่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง สติเกิดขึ้นระลึกและปัญญารู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้

การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยการฟังในสิ่งที่มีจริงเนืองๆ บ่อยๆ พิจารณาเหตุผลแล้วก็เจริญเหตุให้สมควรแก่ผลด้วย ธรรม คือ สิ่งที่มีจริง มีจริงในขณะนี้ หนทางที่จะเป็นไปเพื่อการรู้ธรรมตามความเป็นจริง ก็มีจริง แต่ต้องเป็นหนทางแห่งปัญญา

เพราะฉะนั้นก็ต้องกลับมาที่ฟังพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ แม้ว่าจะมีสภาพธรรมที่มีจริง ก็ไม่สามารถเข้าใจตามความเป็นจริงได้เลย ย่อมไม่มีเหตุที่จะให้สติปัฏฐานเกิดขึ้นได้เลย ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ก่อนจะถึง ... สติปัฏฐาน

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ก.ไก่
วันที่ 22 ก.ย. 2564

อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ก.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ