เหตุ แห่งการตกหล่นของกรรม เกิดจากอะไรคะ

 
Chutimon3033
วันที่  13 ก.ค. 2564
หมายเลข  34603
อ่าน  440

เรามักถูกสอนว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำอะไรได้อย่างนั้น

แต่ทำไมบางครั้งจึงมีการตกหล่นของผลกรรมได้คะ เช่น บางคนทำกรรมทำแท้ง แต่ในชาตินั้นก็ไม่ได้ถูกฆ่าตาย หลังจากนั้น พอหมดชาตินั้น กรรมจากชวนจิตดวงที่ 1 ก็เป็นอโหสิกรรมไป

อยากทราบว่า เหตุแห่งการตกหล่น เกิดจากอะไรคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 ก.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กรรม ก็คือ เจตนาที่เป็นไปในกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรม เมื่อมีการกระทำที่ครบกรรมบถ เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ หรือ ให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น แต่ผลของกรรมอาจจะให้ผล หรือ ไม่ให้ผลก็ได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วยครับ

กรรมบางอย่างให้ผลในชาตินี้ก็มี กรรมบางอย่างให้ผลชาติหน้าก็มี กรรมบางอย่าง ให้ผลในชาติถัดๆ ไปก็มี ดังนั้น หากรรมที่ให้ผลในชาติหน้า แต่มีกรรมอื่นมาตัดรอน หรือ มาให้ผลก่อน กรรมนั้นก็เป็นอโหสิกรรม ก็ไม่ให้ผลอีกได้ครับ ยกตัวอย่างเช่น พระเทวทัต ทำอนันตริยกรรม หลายข้อ เช่น ทำโลหิตของพระพุทธเจ้าให้ห้อ ทำสังฆเภท คือ ทำ สงฆ์ให้แตกกัน แต่ อนันตริยกรรมที่แรงที่สุด คือ การทำสงฆ์ให้แตกกัน กรรมที่หนักที่สุดนั้นจึงให้ผลก่อน คือ ตกนรกอเวจีตลอดกัปเพราะด้วยผลของอกุศลกรรม คือการทำ สังฆเภท แต่ไม่ใช่ การทำโลหิตของพระพุทธเจ้าให้ห้อ ดังนั้น กรรมที่เป็น การทำโลหิต ของพระพุทธเจ้าให้ห้อ จึงไม่ให้ผลไปในชาติถัดไป โดยปริยาย เพราะอนันนตริยกรรมจะต้องให้ผลในชาติถัดไปทันที คือ ชาติหน้า แต่ สังฆเภทมาให้ผลก่อน การทำโลหิตของพระพุทธเจ้าให้ห้อ จึงไม่ให้ผลในชาติถัดไปตามที่ควรจะเป็นครับ เพราะมีกรรมที่หนักกว่าให้ผลก่อนครับ นี่ก็เป็นปัจจัยใหนึ่งตามที่กล่าวมา

และกรรมบาองย่างให้ผลในชาตินี้ ที่เป็นอกุศลกรรม หรือ กุศลกรรม แต่เพราะมีกุศลกรรมใหญ่ที่มีกำลัง มาตัดรอน หรือ อกุศลกรรมใหญ่ที่มีกำลังมาตัดรอน ที่เรียกว่า ปโยคสมบัติ และ ปโยควิบัติ ที่เป็นความเพียรในทางกุศลกรรมและความเพียรในทางอกุศลกรรม มาตัดรอน กรรมดี กรรมชั่ว ที่จะให้ผลในปัจจุบัน ทำให้ไม่ให้ผลได้ครับ แต่ต้องเป็น กุศลกรรมที่ทำที่มีกำลัง หรือ อกุศลกรรมที่มีกำลังมากนะครับ

และอีกนัยหนึ่ง อย่างเช่น กรรมที่ให้ผลในชาติถัดๆ ไป ทั้งฝ่ายกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรม เปรียบเหมือน สุนัขล่าเนื้อ วิ่งตามทันเมื่อไหร่ก็กัดกินเมื่อนั้น แต่กรรมนั้นไม่สามารถให้ผลได้ เพราะไม่มีเหตุที่จะทำให้เกิด จิต เจตสิก เพราะ การให้ผลของกรรม ก็คือ จิต เจตสิก ที่เป็นวิบากจิต มีปฏิสนธิจิต เป็นต้น หรือ ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวง มี จิตเห็น เป็นต้น ที่เป็นวิบาก เป็นผลของกรรม เมื่อไม่มีการเกิดขึ้นของ จิต เจตสิก และรูปอีก กรรมที่ทำมา ก็ไม่สามารถให้ผลได้อีกครับ เพราะผลของกรรม คือ วิบากจิต เจตสิกและรูปที่เกิดจากกรรมครับ ดังเช่น พระอรหันต์ที่ปรินิพพานแล้ว ก็ไม่มีการเกิดขึ้นของ จิต เจตสิกและรูปอีก กรรมที่เคยทำในอดีต แสนโกฏิกัปป์ ก็ไม่มีโอกาสให้ผล ก็ เป็นอโหสิกรรมไปครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กรรมที่ทำย่อมมีกาลเวลาที่จะให้ผลครับ กรรมบางอย่างให้ผลในปัจจุบัน ชาตินี้ กรรมบางอย่างให้ผลในชาติหน้า กรรมบางอย่างให้ผลในชาติถัดๆ ไป ดังนั้น กรรมดีหรือกรรมชั่วที่ทำก็ตาม ต้องมีกาลเวลาที่จะให้ผล ทำดี ไม่จำเป็นจะต้องให้ผลทันที บุคคลนั้นจึงเห็นว่า ทำดีไม่เห็นได้ดีเลย แต่กับประสบทุกข์ ซึ่งการประสบทุกข์เป็นผลมาจากกรรมชั่ว ไม่ใช่เพราะกรรมดีเป็นเหตุครับ ส่วนคนที่ทำกรรมชั่ว กรรมชั่วอาจจะไม่ให้ผลตอนนั้น ในชาตินั้นก็ได้ แต่กรรมดีที่เขาเคยทำไว้ในอดีตส่งผล เขาก็ประสบสุข จึงสำคัญว่าทำชั่วกลับได้ดีมีถมไป ดังนั้น จึงต้องมั่นคงในเรื่องของกรรมว่า ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว และกรรมย่อมมีกาลเวลาที่จะให้ผลครับ ดังข้อความในพระไตรปิฎก

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 2

๔. แม้คนผู้ทำบุญ ย่อมเห็นบาปว่าดี ตลอดกาลที่บาปยังไม่เผล็ดผล แต่เมื่อใดบาปเผล็ดผล เมื่อนั้นเขาย่อมเห็นบาปว่าชั่ว ฝ่ายคนทำกรรมดี ย่อมเห็นกรรมดีว่าชั่ว ตลอดกาลที่กรรมดียังไม่เผล็ดผล แต่เมื่อใดกรรมดีเผล็ดผล เมื่อนั้นเขาย่อมเห็นกรรมดีว่าดี


[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 215

"คนพาลย่อมสำคัญบาปประดุจน้ำผึ้ง ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล ก็เมื่อใด บาปให้ผล เมื่อนั้นคนพาล ย่อมประสพทุกข์

มีคำอธิบายที่เป็นพระพุทธพจน์ว่า

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 168

คนหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น คนทำเหตุดี ย่อมได้ผลดี ส่วนคนทำเหตุชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว

ซึ่งก็ตรงกับคำว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วครับ ซึ่งในอรรถกถา อธิบายไว้ว่า พืชสะเดาหรือพืชประเภทบวบขม ย่อมมีแต่รสขม ไม่ให้ผลเป็นรสหวาน ฉันใด กรรมชั่วที่ทำก็ย่อมให้ผลในทางที่ไม่ดี ไม่ให้ผลในทางที่ดี พืชอ้อย พืชสาลีย่อมให้รสหวาน ไม่ให้ผลเป็นรสขม ฉันใด แม้กรรมดีที่ทำย่อมให้ผลในทางที่ดี ไม่ให้ผลชั่วครับ ทำดีจึงได้ดี ทำชั่วจึงได้ชั่ว คือได้รับผลวิบากที่ดีหรือชั่วตามแต่ประเภทของกรรมที่ทำ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Chutimon3033
วันที่ 13 ก.ค. 2564

ขอขอบคุณคุณ Paderm มากค่ะ

สาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Chutimon3033
วันที่ 13 ก.ค. 2564

ขอสอบถามเพิ่มเติมสักหน่อยนะคะ

กรณีคนที่ค้ายาทำแท้ง เอาเงินไปใช้

แบบนี้จะตัดสินอย่างไรคะ

เพราะไม่ได้รู้เห็นเวลาคนที่ซื้อยาเอาไปสอดทำแท้ง

แล้วจะถือว่าร่วมทำปาณาติบาตด้วยหรือเปล่าคะ

ขอขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 13 ก.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียนความคิดเห็นที่ ๓ ครับ

[เล่มที่ 54] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔- หน้าที่ ๓๔๑

ถ้าท่านกลัวทุกข์ ถ้าทุกข์ไม่น่ารักสำหรับท่าน ท่านก็อย่าทำบาปกรรมทั้ง ในที่ลับ ทั้งในที่แจ้ง ก็หากว่าท่านจักกระทำหรือกำลังกระทำบาปกรรม ท่านถึงจะเหาะหนีไป ก็ไม่พ้นไปจากทุกข์ได้เลย.



การค้าสิ่งที่ไม่สมควร เป็นไปเพื่อเบียดเบียนชีวิตของผู้อื่น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นอาชีพที่เศร้าหมอง ไม่ควรทำ เพราะการค้าสิ่งนี้ จะเป็นไปเพื่อจุดประสงค์อื่นไม่ได้เลย นอกจากเพื่อทำแท้ง ซึ่งเป็นโทษโดยส่วนเดียว คนที่ค้า ก็ผิด เพราะความโลภ ความอยากได้ จึงทำให้ทำในสิ่งที่ผิดมากมาย คนที่นำไปทำแท้ง ก็ผิด ซึ่งเป็นการยังชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป เป็นหตุนำมาซึ่งผลที่ไม่ดีในภายหน้าได้ เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็เป็นเรื่องของอกุศลธรรมล้วนๆ เลย เป็นสภาพธรรมฝ่ายที่ไม่ดี ไม่นำมาซึ่งประโยชน์เกื้อกูลใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่โทษเท่านั้น ควรอย่างยิ่งที่จะได้เห็นโทษของอกุศลธรรม ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 13 ก.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
petsin.90
วันที่ 13 ก.ค. 2564

กราบขอบพระคุณอาจารย์เผดิม และอาจารย์คำปั่นและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Chutimon3033
วันที่ 13 ก.ค. 2564

ขอบคุณมากค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ