จะละคลายความกำหนัดได้อย่างไร

 
napat
วันที่  12 พ.ค. 2564
หมายเลข  34218
อ่าน  791

การที่เกิดความกำหนัดหรือคิดเรื่องทางเพศบ่อยครั้งในแต่ละวัน ในทางพุทธศาสนาเรียกว่าอะไรครับ แล้วควรทำอย่างไรที่จะลดละคลายเรื่องพวกนี้


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 พ.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คิดด้วยความติดข้องไม่ว่าเรื่งอะไร เป็นโลภะ เป็นธรรมที่มีจริง ครับ

โลภะเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตสิกธรรม ที่เป็นอกุศลเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง ยินดีพอใจ และโลภะ ก็ยังเป็นเหตุแห่งทุกข์ เป็นสมุทัย และโลภะ ก็เป็นเหตุให้ไม่พ้นไปจากทุกข์ได้เลย เพราะทำให้วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์

โลภะ หรือ ตัณหา เมื่อเกิดขึ้น ขณะนั้น ย่อมไม่เห็นอรรถ ไม่เห็นธรรม ไม่เห็นตามความเป็นจริง เพราะโลภะที่เกิดขึ้น ไม่มีปัญญา ขณะนั้นติดข้องและเมื่อโลภะเกิดขึ้น มีกำลังมาก ย่อมล่วงทุจริตทางกาย วาจา เป็นเหตุให้ไปอบายภูมิ มีนรก เป็นต้น โลภะ จึงเป็นเหตุแห่งทุกข์ทางกาย และทุกข์ทางใจด้วย เพราะอาศัยโลภะ เป็นปัจจัยติดข้องในสิ่งใด เมื่อพลัดพราก ก็ทำให้ทุกข์ใจประการต่างๆ มีการทำร้ายตนเอง และผู้อื่นอันเกิดจากโลภะเป็นปัจจัย โลภะยังสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ให้เกิดโลภะยังจิตให้กำเริบ โลภะเป็นภัยเกิดขึ้นในภายในพาลชนย่อมไม่รู้สึกภัยนั้น คนผู้โลภแล้วย่อมไม่รู้อรรถ คนผู้โลภแล้วย่อมไม่เห็นธรรม เมื่อใดความโลภครอบงำนรชน เมื่อนั้นนรชนนั้นย่อมมีความมืดตื้อ

- โลภะ ที่เกิดขึ้น คลายช้า เปรียบเหมือนเครื่องผูกที่หย่อน แต่แก้ได้ยาก หลุดได้ยาก ไม่ให้หลุดไปจากสังสารวัฏฏ์ได้เลย โลภะ เกิดขึ้น เปรียบเหมือนการตกลงไปในเหวลึก ขึ้นได้ยาก เพราะ เป็นเหวที่สัตว์ตกไปโดยมาก ที่เป็นเหว คือ โลภะ โทสะ โมหะ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

ตกเหว [ตอนที่ ๒...ความติดข้องก็คือเหว]

ตัณหา หรือ โลภะ ยังเป็นนายช่างผู้สร้างเรือน คือ อัตภาพนี้ ให้อยู่ในสังสารวัฏฏ์ ได้รับทุกข์ต่อไป ไม่จบสิ้น

เชิญคลิกฟังที่นี่ ครับ

ตัณหาเป็นนายช่างผู้สร้างเรือน


โลภะ เป็นทั้งครู และ ศิษย์ที่จะแนะนำ สั่งสอน ให้สัตว์โลกเดินทางผิด และ ตกไปในที่ต่ำ มีอบายภูมิ และ สังสารวัฏฏ์

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

โลภะเป็นทั้งครูและศิษย์

เชิญคลิกฟังคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ ที่นี่ ครับ

อัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ -- ลักษณะของโลภะ

โลภะเป็นทั้งศิษย์ทั้งอาจารย์

สุขทุกข์มาจากโลภะ

โลภะเป็นสมุทัยเป็นสิ่งที่ควรละ แล้วควรจะรู้ด้วยหรือไม่

โลภะที่ตามสนิทในวันหนึ่งๆ น่ากลัวไหม

ปุถุชนยังมีโลภะให้ล่วงอกุศลกรรมได้

บ่วง - เบ็ด - ตัณหาเหมือนแม่น้ำ - ตัณหาเหมือนข่าย


การเห็นโทษของโลภะ ตัณหา จะต้องรู้จักตัวโลภะ จริงๆ ก่อนว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะการเห็นโทษโดยการคิดนึก ไม่ได้ละกิเลส คือ โลภะจริงๆ เพราะจะต้องละความเห็นผิดว่าเป็นเราที่มีโลภะก่อน ครับ

ดังคำบรรยายที่ท่านอาจารย์สุจินต์กล่าวไว้ว่า

ต้องเห็นโลภะจึงละโลภะได้

สุ. เป็นคนที่ผิดปกติไหมคะ แต่เข้าใจความจริง เพราะเหตุว่าไม่รู้ความจริง ด้วยความไม่รู้ก็ทำให้คิดไปต่างๆ นานา แม้แต่จะปราบโลภะ จะพยายามทำให้โลภะไม่เกิด แต่ด้วยความไม่รู้อะไรเลย ขณะนั้นก็ด้วยโลภะนั่นเองที่มีความต้องการอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เห็นตัวโลภะด้วยปัญญาจริงๆ ไม่สามารถจะละได้ และการละอกุศลต้องตามลำดับขั้น ละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยงในขณะที่เห็น ไม่มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏแล้วจะไปละโลภะได้อย่างไร ไม่มีทางเลย เรียกว่า “ข้าม” พยายามไปทำอย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่หนทางที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ความจริง ซึ่งละเอียด คัมภีร ลึกซึ้ง เวลาที่โกรธ ต้องการอะไรคะ

สุกัญญา ก็ไม่ได้สิ่งที่พอใจ

สุ. ต้องการไม่ให้โกรธ ใช่ไหมคะ

สุกัญญา ใช่ค่ะ

สุ. ไม่ใช่รู้ลักษณะของโกรธซึ่งกำลังปรากฏว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา มิฉะนั้นแล้ว เมื่อไรจะถึงการละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้


เชิญคลิกฟังที่นี่ ครับ

ไม่เห็นโลภะ ไม่เห็นอวิชชา ก็ละไม่ได้

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 13 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
napat
วันที่ 13 พ.ค. 2564

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
napat
วันที่ 13 พ.ค. 2564

ขอเรียนถามเพิ่มเติมครับ จากคำถามของหัวข้อนี้ ที่ผมได้ถามไปแล้วนั้น
ได้เคยพยายามหาคำอธิบายอื่นจากแหล่งอื่น พบว่ามักจะแนะนำให้ เจริญอสุภกรรมฐาน หรือไม่ก็ให้หาทางหลีกหนีสิ่งเร้าต่าง ๆ 
ก็ไม่น่าจะเป็นหนทางที่ถูกใช่ไหมครับ เพราะยังคงขาดความเข้าใจในสภาพธรรมที่เกิดขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 13 พ.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ ๔ ครับ

ถ้าเริ่มต้นจากความไม่รู้ แล้วไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ (โดยที่เข้าใจผิดว่ารู้แล้ว ถูกต้องแล้ว) ก็มีแต่จะสะสมความไม่รู้ สะสมความเห็นผิดมากยิ่งขึ้น พอกพูนอกุศลให้มีมากขึ้น เพราะเหตุว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพื่อความไม่รู้ ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาเท่านั้นถึงจะเข้าใจไปตามลำดับ แต่ถ้าไม่ได้ฟัง ไม่ได้ศึกษาเลย ย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจแม้แต่ในเรื่องของการเจริญอสุภกรรมฐาน ที่เป็นสมถภาวนานั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นเรื่องของปัญญาต้องมีปัญญาที่เข้าใจความต่างของกุศลและอกุศล พร้อมทั้งรู้ด้วยว่าจิตจะสงบได้ด้วยอารมณ์ประเภทใด แต่ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจแล้วไปเพ่งอสุภะ  ก็ไม่เป็นไปเพื่อละคลายกิเลส  เพราะไม่รู้ นั่นเอง  

ตามความเป็นจริงแล้ว  ไม่ว่าจะเรียกชื่อหรือใส่ชื่อว่าอย่างไร แต่ความเป็นจริงของความติดข้องต้องการไม่เปลี่ยน เกิดขึ้นเมื่อใดก็ทำกิจติดข้องต้องการ ไม่ใช่เฉพาะติดข้องในเรื่องดังกล่าวที่ปรากฏในคำถามเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะติดข้องในอะไรก็ตาม ก็คือ โลภะ เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่เรา เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ขณะที่โลภะเกิด กุศลใดๆ ความดีใดๆ ก็เกิดขึ้นไม่ได้เลยในขณะนั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดๆ ก็ตาม ก็สามารถที่จะเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริงได้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา สำคัญที่การมีโอกาสได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่ว่าห้ามไม่ให้โลภะ เกิด เพราะห้ามไม่ได้ ตราบใดที่ยังมีเหตุให้โลภะเกิด โลภะก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาอย่างแท้จริง จนกว่าจะสามารถดับโลภะได้ เมื่อนั้น โลภะ จึงจะไม่เกิดขึ้นอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 13 พ.ค. 2564

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

ธรรมเป็นเรื่องละเอียด แม้แต่การจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็ต้องเริ่มจาก ความเข้าใจถูกว่าสิ่งนั้นคืออะไร ทำเพื่ออะไร และหนทางที่ถูกต้องในการละกิเลสใช่สิ่งนั้นหรือไม่

การพิจารณา ความเป็นอสุภะ คือไม่งาม ซึ่งก็ต้องมีปัญญาเป็นสำคัญ หากไม่มีปัญญา แทนที่จะเป็นกุศล ก็เป็นอกุศล เพราะไม่มีความเข้าใจเบื้องต้น แม้แต่คำว่าอสุภะ คือไม่งามอย่างไร

ที่สำคัญที่สุด การละกิเลส ละคลายกิเลส ไม่ใช่การเลือกอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดตามความพอใจ เพราะการอบรมปัญญา ไม่ใช่ว่าจะต้องมาพิจารณาอสุภะครับ เพราะหนทางการอบรมปัญญาที่จะละกิเลส คือการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา กิเลสที่ต้องละเป็นอันดับแรก คือ ความเห็นผิดที่ยึดถือว่ามีเรา การพิจารณาอสุภะ ก็มีสัตว์ เป็นเราที่ไม่งาม เป็นเขาที่ไม่งาม ไม่ได้ละความยึดถือว่าเป็นเรา เป็นเขา ไม่ได้รู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ดังนั้น ขอให้เริ่มกลับมาสู่ ความเข้าใจเบื้องต้น ในหนทางการอบรมปัญญาที่ถูกต้องว่าไม่ใช่จะต้องไปพิจารณาอสุภะ ความไม่งาม เพราะขณะนี้ มีสภาพธรรม ก็ไม่รู้จักว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา เริ่มเข้าใจหนทาง การ อบรมปัญญาที่ถูกต้องใหม่ครับ ว่าจะต้องรู้จักตัวธรรมที่มีในขณะนี้ก่อน เข้าใจว่า ธรรมคืออะไร เพื่อไถ่ถอนความยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนครับ ซึ่งหากอบรมปัญญาเบื้องต้นอย่างนี้ คือ เข้าใจว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ย่อมเห็นตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ที่ไม่งาม ปฏิกูลอย่างแท้จริงครับเพราะความปฏิกูล ไม่งามของสภาพธรรม คือ สิ่งใดเกิดขึ้นและดับไปไม่เที่ยง สิ่งนั้นไม่งาม เป็นปฏิกูลครับ ดังนั้นไม่ว่า มนุษย์ แม้แต่เทวดา ที่เป็นการประชุมรวมกัน คือขันธ์ ๕ ที่ไม่เที่ยง ก็ไม่งาม ปฏิกูล เพราะ ความไม่เที่ยงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปนั่นเอง แสดงถึงความปฏิกูล ไม่งามแล้วครับ แม้ร่างกายจะประณีตเพียงไร ก็เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป จึงปฏิกูลครับ

จะเห็นนะครับว่า หากเราเข้าใจหนทางการอบรมปัญญาที่ถูกต้องคือ เข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่ไม่ใช่เราเป็นแต่เพียงธรรม การอบรมปัญญาเช่นนี้ ปัญญาที่เจริญขึ้น ย่อมละกิเลสความไม่รู้ และเห็นตามควาเมป็นจริงของสภาพธรรม ที่ไม่งามปฏิกูลเสมอกันหมด ไม่ว่าอยู่ในภพภูมิไหน เกิดเป็นอะไร เมื่อเป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยงก็ปฏิกูลโดยประการทั้งปวง โดยที่ไม่ต้องไปพิจารณาอสุภะและไม่สามารถที่จะละกิเลสได้ เพราะไม่มีความเข้าใจเบื้องต้นนั่นเองครับ กลับมาเริ่มต้นในหนทางที่ถูก ดีกว่าการเข้าใจผิด และไม่สามารถละกิเลสได้ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
napat
วันที่ 14 พ.ค. 2564

ขอขอบพระคุณอาจารย์ทั้งสองท่านเป็นอย่างสูงอีกครั้งครับ
และขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Dechachot
วันที่ 22 พ.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ